หนึ่งในความเชื่อของคนไทยสมัยก่อนที่คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง ก็คือความเชื่อเกี่ยวกับอาหารการกิน ซึ่งคนโบราณตั้งมาเป็นกุศโลบายเอาไว้เพื่อเป็นการสอนมารยาทบนโต๊ะอาหารหรือในครัวทางอ้อม ความเชื่อก้นครัวที่ว่าจะมีอะไรบ้างนั้น ขอนำเสนอเป็นตัวอย่างดังนี้
ผู้หญิงห้ามร้องเพลงในครัวเพราะจะได้สามีแก่
เหตุเพราะผู้หญิงสาวในสมัยก่อนกลัวได้สามีแก่ ความเชื่อโบราณนี้จึงตั้งไว้เป็นกุศโลบายเพื่อไม่ให้แม่ครัวสาวในสมัยก่อนร้องเพลงในระหว่างทำกับข้าว นัยว่าเป็นการตัดความรำคาญ และการร้องเพลงจะทำให้ไม่มีสมาธิในการทำกับข้าว จนอาจทำให้กับข้าวไหม้หรือมีดบาดมือได้
คดข้าวอย่าเคาะหม้อ ไม่เช่นนั้นเกิดชาติหน้าปากจะแหว่ง
ความเชื่อนี้คนไทยโบราณตั้งเป็นกุศโลบายเพื่อไม่ให้เคาะทัพพีกับหม้อข้าวเวลาที่คดข้าวแล้วมีเศษข้าวติดทัพพี เพราะหม้อข้าวในสมัยโบราณเป็นหม้อดินเผา การเอาทัพพีเคาะหม้อข้าวบ่อยๆ อาจทำให้หม้อข้าวนั้นบิ่นหรือแตกได้
เวลาตักกับข้าวอย่าให้ช้อนกระทบกัน เพราะจะมีคนนำข่าวร้ายมาให้
เป็นกุศโลบายที่มีไว้เพื่อไม่ให้แย่งตักกับข้าวพร้อมกันจนช้อนกระทบกันเสียงดัง ซึ่งดูแล้วเป็นมารยาทที่ไม่งาม เหมือนการกินอย่างตะกละ มูมมาม
ห้ามนอนกิน เพราะชาติหน้าจะเกิดเป็นงู
เพราะงูเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่กินอาหารในท่านอน ดังนั้น คนโบราณจึงใช้ลักษณะนี้ในการสร้างความเชื่อดังกล่าว โดยมีไว้เพื่อเป็นกุศโลบายไม่ให้คนกินอาหารในท่านอนเพราะดูไม่สุภาพ และอาจสำลักได้
ห้ามพลิกปลา เพราะจะทำให้เวลานั่งเรือแล้วเรือล่ม
เป็นความเชื่อที่ใช้เป็นกุศโลบายสำหรับมารยาทบนโต๊ะอาหารเช่นกัน เพราะคนไทยสมัยโบราณเชื่อว่าการพลิกปลาเป็นมารยาทที่ไม่ดีบนโต๊ะอาหาร รวมถึงอาจทำให้โต๊ะเลอะเทอะได้ ให้ใช้วิธีเลาะก้างปลาออกแทน