ในการ ทำสงครามนั้น ฝ่ายที่มีกำลังทหารเข้มแข็งกว่า ใช่ว่าจะต้องได้รับชัยชนะเสมอไป ปัจจัยที่กำหนดชัยชนะและความพ่ายแพ้ บางครั้งอาจขึ้นกับการตัดสินใจเพียงชั่วครั้งเดียวของผู้นำทัพ และหลายครั้งที่ความปราชัยเพียงครั้งเดียวก็ส่งผลให้อาณาจักรที่กำลัง รุ่งโรจน์เข้าสู่ความล่มสลายได้ ดังเช่นเรื่องราวต่อไปนี้หลัง การล่มสลายของราชวงศ์จิ้นตะวันตกที่สุมาเอี๋ยน หลานชายของสุมาอี้แห่งยุคสามก๊กได้ก่อตั้งขึ้น ลูกหลานราชวงศ์จิ้นได้อพยพลงใต้ไปตั้งราชธานีใหม่ที่เมืองเจี้ยนคัง แต่ก็หมดอำนาจในการควบคุมดินแดนทางเหนือโดยสิ้นเชิง ทำให้ชนเผ่าต่างๆห้าชนเผ่า คือ เผ่าเจี๋ย เผ่าตี เผ่าซงหนู เผ่าเชียง และเผ่าเซียนเป่ย เข้ายึดครองดินแดนทางเหนือและแบ่งเป็นอาณาจักรต่าง ๆ โดยเรียกยุคนี้ว่า ยุคห้าชนเผ่าสิบหกแคว้น
(แผนที่อาณาจักรเฉียนฉินกับราชวงศ์จิ้นตะวันออก)
ต่อมา ฝูเจียน ประมุขชนเผ่าตี ผู้ปกครองแคว้นฉิน หรือที่เรียกกันในยุคหลังว่า แคว้นเฉียนฉิน ได้ยกทัพเข้าตีแว่นแคว้นทางเหนือและรวมแผ่นดินทั้งหมดไว้ได้สำเร็จ จากนั้นจึงคิดยกทัพลงใต้เพื่อยึดครองดินแดนของราชวงศ์จิ้นและรวมแผ่นดินจีน เข้าด้วยกัน ทว่าหวางเหมิ่ง อัครเสนาบดีคู่พระทัยทัดทานไว้ โดยให้เหตุผลว่า แคว้นจิ้นยังเข้มแข็งเกินกว่าจะตีได้ สมควรรอเวลาจนกว่าสถานการณ์จะเป็นประโยชน์มากกว่านี้ ฉินอ๋องฝูเจียนจึงต้องยุติแผนการบุกเอาไว้
หลายปีต่อมา หวางเหมิ่งล้มป่วยสิ้นชีวิตลง ฝูเจียนก็ เริ่มดำริถึงแผนการบุกเมืองจิ้นอีกครั้ง โดยใน ปี ค.ศ. 383 ฉินอ๋องฝูเจียนได้ทรงมีพระบัญชาให้ระดมทัพใหญ่จากทุกชนเผ่า ได้ไพร่พลรวมทั้งสิ้นเก้าแสนนายเคลื่อนทัพลงสู่ภาคใต้ โดยทรงให้ พระอนุชานามว่า ฝูหยง ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่และราชเลาขานุการของพระองค์คุมทัพหน้า
ข่าวทัพเฉียนฉินพร้อม รี้พลมหาศาลยกทัพลงใต้ สร้างความตื่นตระหนกให้แคว้นจิ้นเป็นอันมาก จิ้นเสี้ยวอู่ตี้ฮ่องเต้แห่งแคว้นจิ้นทรงให้มหาเสนาบดีเซี่ยอันเป็นผู้ บัญชาการใหญ่เพื่อรับศึกในครั้งนี้
(ภาพวาดโบราณยุคราชวงศ์จิ้นตะวันออก)
เซี่ย อันได้เสริมแนวป้องกันของราชธานีเจี้ยนคังอย่างรัดกุม ทั้งยังส่งทหารห้าพันนายไปช่วยรักษาเมืองโสว้หยาง ชัยภูมิสำคัญ และให้เซี่ยสือกับเซี่ยเสวียน น้องชายทั้งสองของตนนำทหารแปดหมื่นตั้งรับทัพใหญ่ของเฉียนฉิน ทว่า ก่อนกำลังหนุนของแคว้นจิ้นจะไปถึง ฝูหยง แม่ทัพหน้าของเฉียนฉินก็ยึดเมืองโส้วหยางได้ ทัพจิ้นจึงล่าถอยไปยังอำเภอเสียสือ ฉินอ๋องฝูเจียนทรงให้แม่ทัพเหลียงเฉิงนำกำลังติดตามไปล้อมเอาไว้ ทว่าทัพของเหลียงเฉิงกลับต้องกลศึกกระหนาบของฝ่ายจิ้น จนแตกพ่าย เหลียงเฉิงพร้อมทหาร 15,000 นาย เสียชีวิตในที่รบ
แม้จะพ่ายแพ้ในการรบ ที่เสียสือ กระนั้นฉินอ๋องฝูเจียนยังมั่นพระทัยว่าจะเอาชนะศึกได้ ด้วยทรงมีรี้พลมากกว่าอีกฝ่ายนับสิบเท่า จึงทรงให้ยกพลทั้งหมดเข้าสู่แม่น้ำเฝยสุ่ยเพื่อเตรียมทำศึกแตกหัก
เซี่ยสือเห็นว่า แม้ว่าทัพเฉียนฉินจะมีรี้พลมหาศาล แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นชนกลุ่มน้อยจากแคว้นที่ล่มสลายและถูกบังคับเกณฑ์เอามา โดยไม่เต็มใจ ทั้งฝูเจียนประมุขเฉียนฉินเองก็ยังทะนงตน ด้วยเชื่อว่ามีกำลังรบมากกว่าหลายเท่า เซี่ยสือจึงคิดใช้แผนลวงโดยลอบส่งคนติดต่อกับ จูซวี่ไส้ศึกฝ่ายตนที่แฝงอยู่ในกองทัพเฉียนฉิน จากนั้นจึงนำทัพเข้าประชิดริมน้ำฝั่งทางตะวันออกและส่งสาสน์ท้ารบไปยังฝู เจียน โดยขอให้ฝูเจียนถอยทัพห่างจากแม่น้ำพอให้กองทัพจิ้นยกพลขึ้นฝั่งได้ จากนั้นจึงค่อยรบกันให้เห็นฝีมือ
ฝูเจียนเมื่อได้รับ สาส์นก็หารือกับฝูหยงผู้อนุชา และลงความเห็นต้องกันว่าจะแกล้งยอมถอยทัพตามที่ฝ่ายจิ้นเสนอมา จากนั้นในระหว่างที่ทัพจิ้นเคลื่อนพลมาถึงกลางแม่น้ำ ก็จะระดมกำลังเข้าโจมตีให้แตกพ่าย จึงตอบตกลงไปที่ฝ่ายจิ้นร้องขอ
(ยุทธการที่เฝยสุ่ย)
ทว่าในขณะที่ทัพใหญ่ ของเฉียนฉินล่าถอยจากริมแม่น้ำเฝยนั้นเอง จูซวี่ไส้ศึกของฝ่ายจิ้นที่แฝงตัวอยู่ในแนวหลังของกองทัพก็ให้คนของตนพากัน ร้องตะโกนว่า “พวกเราแพ้แล้ว ทหารจิ้นกำลังบุกมาแล้ว”
ทหารที่อยู่ในแนวหลัง ได้ยินดังนั้นก็สำคัญว่าจริง และเนื่องด้วยส่วนใหญ่ก็ไม่มีแก่ใจจะรบอยู่แล้วจึงพากันแตกตื่นถอยหนี เมื่อเห็นดังนั้น ฝูหยง แม่ทัพหน้าของเฉียนฉินจึงชักม้านำไพร่พลไปสกัดพวกทหารที่ล่าถอย ทว่ายามนั้นไพร่พลวุ่นวายแตกตื่นจนคุมไม่ติด ทำให้เกิดอลหม่านไปทั้งกองทัพ
เมื่อ เซี่ยสือเห็นข้าศึกกำลังปั่นป่วนแล้ว ก็ให้เซี่ยเสียน ผู้เป็นน้องชายนำทหารม้า 8,000 นายบุกขึ้นฝั่งอย่างรวดเร็วโดยให้ทหารราบทั้งหมดเคลื่อนพลตามมาติดๆ กองทัพจิ้นเข้าโจมตีทัพเฉียนฉินที่กำลังสันสบอลหม่านและสังหารทหารฉินล้มตาย นับไม่ถ้วน แม้แต่ฝูหยงแม่ทัพหน้าก็ถูกสังหารในสนามรบด้วย ส่วนฉินอ๋องฝูเจียนนั้นเมื่อทรงเห็นพระอนุชาถูกสังหารก็ทรงตกพระทัยจนถึงกับ ทิ้งทหาร ขึ้นม้าเสด็จหนีเอาตัวรอด แต่ก็ทรงถูกธนูยิงจนได้รับบาดเจ็บ สุดท้ายกองทัพเฉียนฉินก็แตกพ่ายยับเยิน
(กองทัพจิ้นโจมตีทัพเฉียนฉินแตกพ่าย)
ส่วนฝูเจียนนั้นแม้จะ เสด็จหนีรอดกลับไปได้ แต่รี้พลของพระองค์ก็ล้มตายและสูญหายไปเกือบเจ็ดแสนนาย เหลือรอดกลับไปไม่ถึงสองแสน นับเป็นความปราชัยครั้งใหญ่ของเฉียนฉิน จากนั้นใน ปี ค.ศ. 385 ชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ในอาณาจักรก็ก่อกบฏ ทำให้อาณาจักรเฉียนฉินถูกแบ่งแยกอย่างรวดเร็ว ฉินอ๋องฝูเจียนเองก็ถูกปลงพระชนม์ด้วยน้ำมือของแม่ทัพเหยาฉาง ชาวเผ่าเซียง ที่แยกตัวไปตั้งแคว้นซีฉิน จากนั้นใน ปี ค.ศ. 394 อาณาจักรเฉียนฉินก็ล่มสลาย
หลังการล่มสลายของ อาณาจักรเฉียนฉิน ประมุขแห่งชนเผ่าเซียนเป่ยกลุ่มหนึ่ง นามว่า โทปากุย ได้รวบรวมไพร่พลเข้าผนวกดินแดนต่าง ๆ ทางเหนือและในปี ค.ศ. 420 ก็ตั้งราชวงศ์เป่ยเว่ยขึ้นปกครองดินแดนทางเหนือของจีนแทนที่อาณาจักรเฉียน ฉิน จากนั้นจีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์เหนือใต้