เครซี่ ฮอร์ส (Crazy Horse) เจ้าม้าคะนอง

ดินแดน ฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่คนผิวขาวจะเข้าไปตั้งรกรากนั้น เป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองเผ่าใหญ่น้อย นับร้อยเผ่า พวกเขาถูกชาวผิวขาวเรียกรวม ๆ กันว่า ชนอเมริกันอินเดียน หรือ ชาวอินเดียนแดงชาว อินเดียนในอเมริกาเหนือแตกต่างกับชาวอินเดียนในอเมริกาใต้ พวกเขาไม่มีอารยธรรมที่ใหญ่โต เหมือนอย่างพวกอินคา หรือ แอ็ซเท็ค กลุ่มชนอินเดียนในอเมริกาเหนือดำรงชีวิตโดยอิงอยู่กับธรรมชาติ พวกเขาเลี้ยงชีพด้วยการล่าสัตว์ ทำกสิกรรมขนาดเล็ก และดำรงชีวิตอย่างสงบสุข จนกระทั่งคนผิวขาวเข้ามาถึง วิถีชีวิตอันสงบสุขของพวกเขาก็จบสิ้นลง อินเดียนหลายเผ่าต้องพบกับผู้รุกรานที่ละโมบและโหดร้าย

คนผิวขาวต้องการ ที่ดินของอินเดียนเพื่อทำกสิกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งต้องการขุดทองในเขตแดนของอินเดียน พวกเขาขับไล่และกวาดล้างเจ้าของถิ่นเดิมอย่างโหดเหี้ยม  ชาวอินเดียนหลายต่อหลายเผ่าลุกขึ้นสู้ แม้ว่าจะต้องพ่ายแพ้ แต่นักรบหลายคนก็ได้สร้างตำนานการต่อสู้จนกลายเป็นวีรกรรมที่แม้แต่ผู้ รุกรานผิวขาวยังอดประทับใจไม่ได้ และหนึ่งในบรรดาวีรบุรุษผู้ปกป้องดินแดนที่เป็นที่น่าจดจำที่สุดก็คือ เจ้าม้าคะนอง หรือ เครซี่ ฮอร์ส (Crazy Horse)

เครซี่ ฮอร์ส หรือที่เรียกกันในภาษาอินเดียน ว่า ตาชันเก้  วิทโก (Tashunke witko) เกิดในปี ค.ศ.1845 ที่แม่น้ำรีพับลิกัน ผู้ที่เคยพบเห็นเขา กล่าวว่า  เครซี่ ฮอร์ส มีบุคลิกที่สง่างาม เข้มแข็งแต่ก็แฝงด้วยความอ่อนโยน มีความกล้าหาญและมีอุดมการณ์ที่สูงส่ง  เครซี่ ฮอร์สเป็นชาวเผ่าซู (Sioux) ซึ่งเป็นอินเดียนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดและมีกำลังคนมากที่สุด

ในวัยเด็ก เขาได้รับการถ่ายทอดเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเผ่าผ่านทางบิดามารดา ของเขา เช่นเดียวกับเด็กอื่นๆในวัยเดียวกัน ทั้งนี้เป็นธรรมเนียมของเผ่า ที่บิดา มารดา จะเป็นผู้สั่งสอนเรื่องราวทุกอย่างให้แก่บุตรของตน ก่อนที่บุตรจะโตพอที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเผ่าได้  ในวัยเด็กนั้น  เครซี่ฮอร์สมีความคิดอ่านเกินกว่าเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกัน  มีอยู่ปีหนึ่งที่ฤดูหนาวยาวนานและรุนแรงกว่าปีก่อน ๆ อากาศที่ทารุณทำให้ฝูงควายไบซัน เหยื่อที่สำคัญของพวกซูส์ อพยพออกไปจากพื้นที่ ทำให้เกิดภาวะอาหารขาดแคลน บิดาของเครซี่ฮอร์สและนักล่าคนอื่น ๆ ของเผ่า ต้องฝ่าพายุหิมะเพื่ออกไปล่าสัตว์เกือบทุกวัน แต่ก็ต้องกลับมามือเปล่า จนในที่สุดวันหนึ่ง บิดาของเขาก็สามารถล่าละมั่งพรองฮอร์นมาได้สองตัว 

เครซี่ ฮอร์ส ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียงห้าขวบ ขี่หลังลูกม้าของเขา เดินไปตามกระโจมต่าง ๆ พร้อมกับร้องเชิญชวนให้บรรดาชาวเผ่ามารับแบ่งปันเนื้อ  พวกผู้สูงอายุและผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต่างพากันมารับแบ่งปันเนื้อที่กระโจมของเครซี่ ฮอร์ส  แม่ของเขาได้แบ่งเนื้อให้คนเหล่านั้นจนหมด  โดยเหลือเนื้อเก็บไว้พอกินเพียงสองมื้อเท่านั้น 

ในวันต่อมา เมื่ออาหารหมดลง เด็กชายรู้สึกหิวและร้องขออาหาร แต่แม่ของเขาบอกให้เขาเข้มแข็งและเตือนให้เขานึกถึงสิ่งที่ทำเมื่อวาน พร้อมกับกล่าวว่า ”ผู้ที่ได้รับเนื้อจากเจ้าเมื่อวานนี้ ได้กล่าวสรรเสริญนามของเจ้า พวกเขากล่าวยกย่องเจ้าในสิ่งที่เจ้าทำ ดังนั้นเจ้าต้องรักษาเกียรติยศนี้เอาไว้ ให้สมกับที่พวกเขายกย่อง”

เครซี่ ฮอร์ส รักม้ามาก บิดาของเขาได้มอบม้าให้เขาหนึ่งตัว เขามีความชำนาญในการบังคับม้าตั้งแต่อายุยังน้อยและเข้าร่วมการล่าควายป่า พร้อมบิดาของเขาและนักล่าคนอื่นๆ โดยเขาจะทำหน้าที่ดูแลฝูงม้า ในขณะที่พวกนายพรานไล่ต้อนฝูงควาย การล่าสัตว์ของชาวซูส์เป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความกล้าหาญมาก เนื่องจากในตอนนั้น ชาวซูส์ยังมีปืนใช้กันไม่กี่กระบอก อาวุธส่วนใหญ่ของพวกเขาคือ ธนูและลูกศร  

ในสมัยนั้นพวกเด็ก ผู้ชายมักรออยู่ในทุ่งหลังการล่าควาย จนกระทั่งตะวันตกดิน เมื่อมีลูกควายที่พลัดหลงกับแม่วิ่ง ผ่านมา เด็กๆเหล่านี้จะสนุกกับการเล่นสมมติเป็นนายพรานและใช้เชือกคล้องลูกควายหรือ ไม่อย่างนั้นก็ต้อนมันเข้าไปในแคมป์   เครซี่ ฮอร์ส ซึ่งเป็นเด็กที่เล็กที่สุด  ได้ถูกเด็กที่โตกว่า ท้าทายให้แสดงความกล้าหาญ โดยการขี่หลังลูกควาย เขาจึงโดดขึ้นขี่หลังหลังลูกควายวัยรุ่นที่พลัดหลงมาและควบมันเหมือนกับม้า ผ่านเนินเขาหลายลูก โดยมีเด็กอื่น ๆ ขี่ม้าวิ่งตาม  จนกระทั่งเจ้าควายป่าหมดแรง

เมื่ออายุได้สิบหกปี  เครซี่ฮอร์สเข้าร่วมในการทำสงครามกับเผ่าโครวส์ เครซี่ ฮอร์ส เข้าประจัญบานกับข้าศึกอย่างกล้าหาญ โดยในการรบครั้งนั้นเขาได้ช่วยนักรบซูส์คนหนึ่งไว้  และได้รับความชื่นชมจากวีรกรรมในครั้งนี้มาก หลายปีต่อมา ชนเผ่าซูได้ทำการรบกับพวกโชโชน  ซึ่งในศึกครั้งนั้น นักรบซูส์ต้องล่าถอย เพราะมีกำลังน้อยกว่า แต่เครซี่ ฮอร์สกับน้องชายของเขายืนหยัดสู้และสังหารข้าศึกไปหลายคนจนทำให้ข้าศึกไม่ อาจรุกไล่ได้  ทันใดนั้นเองน้องชายของเขาก็ถูกสังหาร ด้วยความแค้น เครซี่ ฮอร์สนำกำลังนักรบส่วนหนึ่งรุกกลับอย่างุเดือดจนฝ่ายตรงข้ามแตกพ่าย และเครซี่ ฮอร์ส ได้สังหารน้องชายของหัวหน้าเผ่าศัตรูเป็นการแก้แค้น

เมื่อเครซี่ ฮอร์สมีอายุได้ 21 ปี เขาก็ได้กลายเป็นนักรบคนสำคัญของเผ่า ในตอนนั้น เผ่าซูส์เริ่มเผชิญกับปัญหาการเข้ามาของชนผิวขาว อันที่จริงแล้วตั้งแต่สมัยที่เครซี่ ฮอร์สยังเป็นเด็กนั้น ในดินแดนของพวกซูส์ก็มีคนผิวขาวเข้ามากันบ้างแล้ว ซึ่งโดยมากจะเป็นพวกทหารและพ่อค้าที่เข้ามาทำการค้ากับชนพื้นเมือง ในตอนนั้น ชนเผ่าซูส์ซึ่งส่วนใหญ่จะมีนิสัยที่ค่อนข้างซื่อสัตย์  ตรงไปตรงมา มักถูกพ่อค้าชาวผิวขาว ที่ละโมบ เอารัดเอาเปรียบเป็นประจำ และนั่นทำให้ชาวซูส์หลายคนไม่ไว้ใจคนผิวขาว

แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกบรรดาหัวหน้าชาวซูส์กลุ่มต่าง ๆ ก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไร หากคนผิวขาวจะอพยพเข้ามาในดินแดนแห่งนี้ พวกเขาให้เหตุผลว่า แผ่นดินกว้างใหญ่มีที่เหลือเฟือที่จะแบ่งให้ผู้อพยพ หนำซ้ำพวกเขายังเคยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพบนเส้นทางสายโอเรกอนด้วย อย่างไรก็ตามบรรดาชาวอินเดียนต่างประประหลาดใจ  เมื่อคนขาวเข้ามาสร้างป้อมและส่งทหารมาประจำการในอาณาเขตของพวกเขา การบุกรุกพื้นที่เริ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การทำลายทรัพยากรอย่างไม่หยุดยั้งและขาดความเคารพต่อธรรมชาติผิดจากวิถีของ ชาวอินเดียนส่วนใหญ่สร้างความไม่พอใจและนำไปสู่การกระทบกระทั่งกับเจ้าของ พื้นที่เดิม หัวหน้าส่วนใหญ่เริ่มไม่ยอมรับและมีการต่อต้านเกิดขึ้นในที่สุดพวกเขาลงความ เห็นว่าต้องป้องกันแผ่นดินของเขาและจะโจมตีป้อมต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตของพวกเขา รวมทั้งขบวนของนักเดินทางผิวขาวด้วย

สำหรับเครซี่ ฮอร์ส แม้ไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น แต่เขาก็เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้นำของกลุ่มนักรบหนุ่ม  ในการโจมตีครั้งแรกที่ ป้อม ฟิลล์ เคียนีย์ อันเป็นผลมาจากนโยบายใหม่นั้น เขาได้รับมอบหมายให้โจมตีกลุ่มคนตัดไม้ เพื่อล่อให้พวกทหารที่อยู่ในป้อมออกมา ขณะที่กำลังนักรบหกร้อยคนหมอบรอดักโจมตีอยู่ ความสำเร็จของปฏิบัติการนี้ ทำให้เขาได้รับการเลื่อนขั้นจากหัวหน้าของเขา บรรดาหัวหน้าต่างยกย่องให้เขาเป็นนักรบที่กล้าหาญที่สุดของเผ่า 

ตลอดเวลาสิบปีของการ ทำสงครามปกป้องดินแดน เครซี่ฮอร์สไม่เคยกล่าวสุนทรพจน์สำคัญๆเหมือนนักรบระดับหัวหน้าคนอื่น ๆ แม้ว่ากระโจมของเขาจะเป็นที่ชุมนุมของบรรดานักรบหนุ่มในเผ่าก็ตาม เนื่องจากเขาไม่ใช่นักพูด แต่เขาก็มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในที่ประชุม กับเหล่าหัวหน้าอาวุโสหลายครั้ง    

สำหรับสถานการณ์ตอน นั้น  มีชาวผิวขาวจำนวนมากอพยพเข้าไปในฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา คนเหล่านี้มุ่งหวังชีวิตที่ดีกว่า ในช่วงแรก พวกนี้ยังไม่สร้างปัญหาให้กับชนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นเดิม แต่เมื่อผู้อพยพมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับมีการค้นพบแหล่งทองคำในดินแดนภาคตะวันตก ทำให้รัฐบาลสหรัฐเริ่มส่งทหารเข้ามาและนำไปสู่การปะทะกับชนพื้นเมืองในรูป แบบของสงครามกองโจรหลายครั้ง

หลังจากสงครามกลาง เมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ.1865  รัฐบาลสหรัฐได้หันมาให้ความสนใจกับนโยบายขยายอาณาเขตเข้าไปในภาคตะวันตกมาก ขึ้น ชนพื้นเมืองหลายเผ่าถูกกวาดล้าง ส่วนผู้ที่รอดชีวิตก็ถูกผลักดันออกจากแผ่นดินเดิมของตน ให้เข้าไปอยู่ในเขตสงวนที่ถูกจัดเอาไว้  สำหรับเผ่าซูส์นั้นก็มีการกระทบกระทั่งกับคนผิวขาวมาโดยตลอดดังที่ได้กล่าว ไปแล้ว  แต่สถานการณ์ก็เข้าขั้นรุนแรงเมื่อมีการค้นพบแหล่งทองคำที่ เนินดำ (Black hill)  อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชนเผ่าซูส์  โดยชาวซูส์ทุกกลุ่มเชื่อกันว่า ที่นั่นเป็นที่สิงสถิตของดวงวิญญาณบรรพบุรุษของพวกเขา 

ทันทีที่ข่าวแพร่ออก ไป ก็มีนักขุดทองจำนวนมากเดินทางเข้าไปที่นั่นและเกิดการปะทะกับนักรบเผ่าซูส์  รัฐบาลสหรัฐจึงส่งนายพล จอร์จ อาร์มสตรอง คัสเตอร์ พร้อมกำลังทหารจำนวนหนึ่งมาที่เนินดำ โดยอ้างว่าเพื่อมาคุ้มครองเนินดำจากการบุกรุกของนักขุดทอง

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง คัสเตอร์และทหารของเขากลับไม่ได้ทำการใดๆเพื่อที่จะผลักดันคนขาวออกไป ในทางตรงกันข้ามเขากลับรายงานถึงทองคำปริมาณมหาศาลที่ขุดพบที่เนินดำ ในที่สุดรัฐบาลสหรัฐจึงส่งตัวแทนมาเจรจากับชนเผ่าซู เพื่อขอซื้อเนินดำ เผ่าซู ซึ่งมีหัวหน้า ซิทติ้ง บูลล์ หรือ โยตันก้า กาตันก้า เป็นตัวแทนได้ปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล  ซิทติ้งบูลล์ก้มลงหยิบดินขึ้นมาจำนวนหนึ่งและกล่าวกับตัวแทนรัฐบาลว่า “เพียงฝุ่นหยิบมือเดียว เราก็ไม่ขาย ที่นี่เป็นแผ่นดินของเรา หากคนขาวรุกรานเข้ามา เราก็จะสู้ ”

เมื่อทราบคำตอบ รัฐบาลสหรัฐ ก็ส่งกำลังทหารจำนวนมาก นำโดยนายพลครู้ด พร้อมทั้งนายพลคัสเตอร์และกรมทหารม้าที่7 อันได้ชื่อว่าเป็นหน่วยรบที่ดีที่สุดของกองทัพบกสหรัฐในเวลานั้น เข้าโจมตีพวกซูส์ทันที  ในปี ค.ศ. 1875  กองทหารของนายพลครู้ด หรือ ที่ชาวอินเดียนเรียกว่า จิ้งจอกสีเทาได้เข้ากวาดล้างค่ายอินเดียนต่างๆ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำพาวเดอร์ พวกเขาเผากระโจมและสังหารเด็กและผู้หญิงจำนวนมาก  พวกที่เหลือหนีการไล่ล่าขึ้นไปรวมตัวกันทางเหนือกับ ซิทติ้ง บูลล์   เครซี่ ฮอร์ส และกัลล์ มือขวาของซิทติ้ง บูลล์ 

หลังจากนั้น เครซี่ ฮอร์ส และกัลล์ได้ทำการดักโจมตีกำลังของนายพลครู้ด ที่ไล่ตามมา  เครซี่ ฮอร์ส ใช้กลยุทธ์ล่อให้ทหารข้าศึกไล่ตามและแยกกำลังพวกนั้นเป็นส่วนๆ เขาสั่งให้นักรบควบม้าตลอดเวลาเพื่อไม่ให้เป็นเป้านิ่ง หลังจากกำลังทหารที่ไล่ตามแยกกำลังกัน เครซี่ ฮอร์ส ก็รวมกำลังฝ่ายตนเข้าบดขยี้ข้าศึกทีละส่วนจนแตกพ่ายไป 

ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1876 ชาวอินเดียนกว่าหนึ่งหมื่นคนได้ไปรวมกำลังกับ ซิทติ้งบูลล์ โดยในจำนวนนี้เป็นนักรบเกือบสามพันคน อินเดียนทั้งหมดได้อพยพไปตั้งค่ายโดยตั้งกระโจมเรียงรายอยู่ตลอดริมฝั่งแม่ น้ำลิตเติ้ล บิ๊กฮอร์น แต่อีกหนึ่งสัปดาห์ให้หลัง นายพลคัสเตอร์พร้อมกองทหารม้าที่เจ็ดซึ่งจำนวนหกร้อยกว่าคนก็ตามมาถึง พวกเขาบุกเข้าโจมตีในตอนเช้ามืด โดยเข้าทะลวงค่ายพวกซูส์ ขณะยังไม่ทันรู้ตัว ทหารม้าของคัสเตอร์สังหารชาวอินเดียนไม่เลือกว่าผู้หญิงหรือเด็ก

ท่ามกลางความวุ่นวาย ซิทติ้งบูลล์ และ กัลล์ ได้พยายามรวบรวมนักรบที่กำลังแตกหนีให้หันหน้า เข้าต้านทานกำลังของข้าศึก ทหารม้ากองหน้าที่นำโดยพันเอกรีโนบุกตีเข้ามาแต่ก็ถูกนักรบของกัลล์ ตีโอบปีกทั้งสองข้างจนต้องล่าถอย

ขณะนั้นนายพลคัสเตอร์ ก็นำกำลังส่วนใหญ่บุกข้ามแม่น้ำเข้ามา ซิทติ้งบูลล์สั่งให้เหล่านักรบกระจายกำลังดักซุ่มรอพวกทหารเข้ามาในวงล้อม เวลาเดียวกันนั้นเอง เครซี่ ฮอร์ส ก็นำกำลังจากอีกฝั่งหนึ่งเข้ามากระหนาบทหารม้าของคัสเตอร์  เมื่อหมดหนทางถอย คัสเตอร์จึงนำกำลังที่เหลือขึ้นไปยึดพื้นที่บนเนินเขาไว้ แต่วงล้อมของนักรบซูส์ ก็บีบเข้ามาเรื่อย ๆ พวกทหารถอดเอาอานม้าและสัมภาระมาวางเป็นที่กำบังแต่ก็เปล่าประโยชน์  พวกอินเดียนกระชับวงล้อมและระดมยิงเข้ามาเรื่อย ๆ จนในที่สุด ก่อนเย็นวันนั้น คัสเตอร์และกำลังทหารอีก 267 นายเองก็ถูกสังหารจนหมดส่วพวกอินเดียนสูญเสียนักรบไปเพียงหนึ่งร้อยหกสิบคน เท่านั้น

หลังจากการรบจบลงไม่ นาน สายของพวกซูส์ได้เข้ามารายงานว่า พบกองทหารขนาดใหญ่เคลื่อนกำลังเข้ามา ซิทติ้งบูลล์เห็นว่า การเผชิญหน้ากับกองทหารขนาดใหญ่ตอนนี้ ไม่เป็นผลดีนัก จึงสั่งถอนค่ายถอยหนีต่อไป

ความปราชัยยับเยิน ของกรมทหารม้าที่ 7 ทำให้กองทัพบกสหรัฐโกรธแค้นมาก และปฏิบัติการล้างแค้นก็เกิดขึ้น กองทหารม้าถูกส่งไปสังหารชาวอินเดียนทุกคนที่พบ ไม่ยกเว้นแม้แต่พวกที่อยู่ในเขตสงวน จากนั้นก็ส่งกำลังมหาศาลไล่ล่าพวกซูส์ แม้ว่าในระยะแรกเครซี่ ฮอร์ส ยังสามารถเอาชนะทหารม้าสหรัฐได้ด้วยกลยุทธ์

ใหม่ๆ แต่ก็มีการสูญเสียกำลังรวมทั้งเสบียงและอาวุธ เรื่อยๆ  ขณะที่ฝ่ายทหารได้รับการสนับสนุนทั้งกำลังและอาวุธเพิ่มเติมอยู่ตลอด ในที่สุด ซิทติ้งบูลล์ และกัลล์ ตัดสินใจจะนำประชาชนอพยพ ขึ้นเหนือ ข้ามเข้าไปในเขตแดนแคนาคาเพื่อลี้ภัย และชักชวนเครซี่ ฮอร์ส ให้ไปด้วย ทว่าเครซี่ ฮอร์สปฏิเสธที่จะละทิ้งแผ่นดินแม่ของตน และยังยืนหยัดสู้ต่อไป

ในตอน นี้ เครซี่ ฮอร์ส มีนักรบเหลืออยู่เพียงไม่กี่ร้อยคน  แต่นายพลครู้ดที่ไล่ล่าพวกเขา มีกำลังทหารหลายพันนาย ทั้งทหารม้า ทหารราบและทหารปืนใหญ่ เกวียนบรรทุกเสบียง 148 เล่ม และล่อบรรทุกกระสุนกว่า 400 ตัว อย่างไรก็ตามในการเผชิญฆน้ากัน เครซี่ ฮอร์ส ก็ยังสามารถเอาชนะข้าศึกได้ด้วยยุทธวิธีใหม่ ๆ ได้เสมอ  จน ย่างเข้าฤดูหนาว ความทารุณของอากาศคร่าชีวิตเด็กและคนชรา จำนวนมาก ขณะเดียวกันพวกเขาก็ขาดแคลนทั้งกำลัง เสบียง อาวุธ และที่พักป้องกันความหนาวเย็น 

ในที่สุด เมื่อไม่อาจทนเห็นคนของตนทุกข์ทรมานได้อีกต่อไป   เครซี่ ฮอร์ส  จึงตัดสินใจยอมจำนนกับกองทหารของนายพลครู้ด โดยหวังว่าเด็กและผู้หญิงอาจได้รับอาหารและผ้าห่มบ้าง ทางกองทัพยอมรับการยอมจำนนของเครซี่ฮอร์ส และอนุญาตให้คนของเขาอาศัยอยู่ในเขตสงวนริมแม่น้ำพาวเดอร์ได้ 

ทว่าเมื่อเครซี่ ฮอร์สและนักรบของเขามาถึงป้อมโรบินสันในเนบราสก้า เมื่อปี ค.ศ. 1877  เพื่อมอบตัวกับกองทัพ มีทหารมาเชิญ เครซี่ ฮอร์สไปที่กองบัญชาการ โดยอ้างว่าจะพาไปทำข้อตกลง ทว่าเมื่อเข้าไปในห้องแล้ว พวกทหารกลับเข้ามารุมทำร้ายเขา  เครซี่ ฮอร์ส ชักมีดที่ซ่อนอยู่ใต้ผ้าห่มออกมาและจะฝ่าวงล้อม แต่ทหารคนหนึ่งใช้ดาบปลายปืนแทงเขาที่ด้านหลัง เขาทรุดฮวบลงและสิ้นใจโดยก่อนที่จะตายเครซี่ฮอร์สได้เปล่งเสียงร้องออกมา ซึ่งในภายหลังถ้อยคำที่เขาเปล่งออกมาก่อนตายกลายเป็นบทเพลงแห่งความตายที่มี ชื่อเสียงของเผ่าซูส์ 

ด้วยเหตุนี้เองนักรบ ผู้กล้าแห่งเผ่าซูที่กองทัพสหรัฐไม่เคยเอาชนะได้แม้เพียงครั้งเดียว ก็จบชีวิตลงเมื่ออายุได้เพียงสามสิบห้าปี  นับเป็นความอัปยศครั้งหนึ่ง ในหน้าประวัติศาสตร์ของกองทัพสหรัฐ ในคืนนั้น เสียงร่ำไห้ก็ดังระงมมาจากค่ายของชนพื้นเมือง

วันรุ่งขึ้น พ่อแม่ของเครซี่ ฮอร์ส นำเกวียนมารับศพลูกชายกลับมายังค่าย หลังจากนั้นชาวซูส์ทั้งหมดถูกสั่งให้อพยพไปยังดินแดนแห้งแล้งทางตะวันตกฉียง เหนือ ระหว่างการเดินทางพ่อแม่ของเครซี่ ฮอร์ส หลบหนีจากขบวนและนำเอาหัวใจและกระดูกของเครซี่ ฮอร์สมาฝังไว้ที่ลำธารแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า วูนเดดนี 

แม้จะพ่ายแพ้ แต่ในฐานะลูกผู้ชาย  เครซี่ ฮอร์ส ก็ได้ทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดินแม่อย่างกล้าหาญ เยี่ยงวีรบุรุษที่สมควรได้รับการยกย่อง เรื่องราวของเขากลายเป็นตำนานไม่เฉพาะแต่ในหมู่ชาวอินเดียน ทว่ายังเป็นที่จดจำในหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

14 ธ.ค. 56 เวลา 06:13 2,681 2 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...