เมื่อมองโกลพิชิตยุโรป สมรภูมิแห่งโปแลนด์

หลังจากพิชิตดินแดน ทั้งหมดในรัสเซียได้แล้ว กองทัพมองโกลได้ตั้งฐานทัพเพื่อพักไพร่พลและขุนม้าศึกรวมทั้งซ่อมแซม อาวุธในยูเครน นอกจากนี้ยังเสริมกำลังรบเพิ่มเติม โดยเรียกเกณฑ์ทหารจากชนเผ่าคิปชักและชนเผ่าอื่น ๆ ในรัสเซียอีกด้วย ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อเป้าหมายในการทำสงครามรุกเข้าไปยังทวีปยุโรประหว่าง การโจมตีรัสเซีย พวกมองโกลได้ทำสงครามกับ ชาวคูมานส์ (Cumans) ซึ่งเป็นเผ่าเร่ร่อนเชื้อสายเติร์ก หลังพ่ายแพ้ ชาวคูมานส์กว่า 200,000 คน ได้อพยพไปขอความคุ้มครองจากกษัตริย์เบลาที่ 4 ของฮังการี โดยพวกเขายินยอมจะเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก

กษัตริย์เบลาที่ 4 เห็นว่าการได้ผู้เข้ารีตจำนวนมากเช่นนี้จะช่วยส่งเสริมฐานะของพระองค์ต่อ องค์สันตะปาปาให้สูงขึ้น ยิ่งกว่านี้ ชาวคูมานส์ยัง ยินดีมอบนักรบ 30,000 คน ที่เคยมีประสบการณ์ในการรบกับพวกมองโกลมาแล้ว ให้เข้าร่วมกองทัพของกษัตริย์เบลาด้วย กษัตริย์เบลาทรงยินดีรับข้อเสนอ แต่ขุนนางของพระองค์จำนวนมาก ไม่เชื่อใจพวกคูมานส์และคัดค้านเรื่องนี้ ทว่าพระองค์ไม่ทรงสนพระทัยคำค้านของเหล่าขุนนาง การตัดสินพระทัยของพระองค์ในครั้งนี้ได้กลายเป็นเหตุให้พวกมองโกลตัดสินโจม ตีฮังการีเป็นเป้าหมายต่อไป 

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1240 หลังจากทราบว่าพวกคูมานส์หนีเข้าไปในฮังการี ข่านบาตูได้ยื่นคำขาดกับกษัตริย์เบลาที่ 4 ว่า “นี่คือคำพูดของข้า เจ้าได้รับพวกคูมานส์ ข้าทาสของข้าไว้ในการคุ้มครองของเจ้า จงหยุดการให้ที่ลี้ภัยแก่พวกมัน มิฉะนั้นเจ้าจะกลายเป็นศัตรูของข้า พวกคูมานส์ไม่มีบ้านเมืองและอาศัยอยู่ในค่ายพักเล็ก ๆ ซึ่งง่ายที่จะหลบหนี แต่พวกเจ้าอาศัยอยู่ในบ้านเมืองที่ยากจะโยกย้าย แล้วเจ้าคิดหรือว่าจะหนีพ้นเงื้อมมือของข้า”

กษัตริย์เบลา ทรงปฏิเสธ และส่งพลถือสาสน์ นำดาบเปื้อนเลือดไปยังหัวเมืองต่าง ๆ อันเป็นสัญลักษณ์ถึงการรวมพลป้องกันประเทศ เพื่อระดมเหล่าขุนนางให้นำกองทัพมาร่วมรบ

เหล่าขุนนางจากทั่ว ฮังการีและอาณาจักรอื่น ๆ ใกล้เคียงต่างขานรับและนำกองทัพมาเข้าร่วม อย่างไรก็ดีในบรรดาผู้ครองแคว้นใกล้เคียงนั้น อาชดยุค เฟรดเดอริก แห่งออสเตรีย ได้มีความสัมพันธ์ที่เย็นชากับกษัตริย์เบลา มาเป็นเวลานาน อันเกิดมาจากปัญหาการแย่งชิงสิทธิในการครอบครองแคว้นพรมแดนที่อยู่ระหว่าง ทั้งสองอาณาจักร  ดยุคเฟรดเดอริกได้ทรงเล็งเห็นถึงความไม่มั่นคงของอาณาจักรฮังการีอันจะเกิด จากพวกคูมานส์  ในเวลาดังกล่าวดยุคเฟรดเดอริกได้เดินทางมาพำนักยังเมืองหลวงของฮังการี นครบูดา หลังจากนั้นไม่นาน พระองค์ก็ได้ข้ามแม่น้ำดานูบมายังเมืองการค้าที่ชื่อ เปสต์ ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ อันเป็นเวลาเดียวกันกับที่เกิดการจลาจลขึ้นในบูดา  เนื่องจากข่านของพวกคูมานส์ถูกสังหารและถูกตัดศรีษะโยนออกมาบนถนน ชาวคูมานส์ที่โกรธแค้น บุกปล้นสะดมไปทั่วทุกที่ นักประวัติศาสตร์บางคนกล่าวกันว่าอาชดยุค เฟรดเดอริก อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้  ในขณะที่เกิดการจลาจลขึ้น พระองค์ ก็เสด็จกลับมายังออสเตรีย และคอยเฝ้าดูเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1241 หลังจากพักทัพร่วมหนึ่งปี กองทัพมองโกลก็เคลื่อนทัพออกจากยูเครนและข้ามแม่น้ำที่กลายเป็นน้ำแข็งเข้า ไปในยุโรปตะวันออก กองทัพมองโกลประกอบด้วยทหารม้ากว่า 70,000 นาย สองในสามของกำลังพลเป็นพวกทหารม้าเบา ส่วนที่เหลือเป็นทหารม้าอาวุธหนัก กองทัพทั้งหมดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ ข่านบาตู โดยมีแม่ทัพสุโบไตเป็นผู้ร่วมบัญชาการ  ในขณะที่ยังทำศึกกับรัสเซีย แม่ทัพสุโบไตได้ส่งสายสืบเข้าไปในยุโรปภาคกลางเพื่อสืบสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสภาพสังคม รวมทั้งข้อมูลทางทหารของอาณาจักรต่าง ๆ ในยุโรป ทั้งบาตูและสุโบไตรู้ดีว่า เวลานั้นบรรดากษัตริย์และเจ้านครในยุโรปต่างมีความขัดแย้งระหว่างกันอยู่ และทั้งสองก็ยังรู้อีกว่า บรรดาผู้ปกครองยุโรปเหล่านี้ต่างก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันทั้งจากโดยสาย เลือดและผ่านการสมรส และพร้อมที่จะสนับสนุนกันทันที หากมีภัยจากผู้รุกรานภายนอก ด้วยเหตุนี้กองทัพมองโกลจึงแบ่งกำลังเป็นสองส่วน โดยกำลังส่วนหน้าจำนวนสองหมื่นนาย ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพบัยดาร์และไคดู ราชนัดดาของโอกาไต เริ่มเคลื่อนทัพในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ.1241 และเข้าไปในภาคเหนือของโปแลนด์เพื่อสกัดความช่วยเหลือใด ๆ ที่จะมีไปถึงฮังการีผ่านเส้นทางนี้ ส่วนกำลังหลักราว 50,000 นาย บังคับบัญชาโดย ข่านบาตู และแม่ทัพสุโบไต เคลื่อนกำลังตามไปภายหลัง โดยกำลังส่วนนี้ก็จะแยกเป็นสองส่วน กำลังทหารหนึ่งหมื่นนายที่นำโดย เจ้าชายคาดานโอรสของโอกาไต ได้ถูกจัดให้เป็นกองหน้าและจะยกทัพผ่านเข้าไปใน เทือกเขาคาปาเธียน สู่ทางตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเข้าสู่แคว้นทรานซิลวาเนีย  

ในเวลานั้น โปแลนด์แบ่งออกเป็น 4 แคว้น ปกครองโดยกษัตริย์ โบเลสเลฟ ที่ 5 (Boleslav V) แห่งคราโคฟ ทว่าในความเป็นจริงนั้น พระญาติของพระองค์ ดยุคเฮนรี่ที่สอง แห่งไซเลเซีย เป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในบรรดาผู้ครองแคว้นทั้งสี่ ปัญหาการเมืองภายในที่มีอยู่ ทำให้พวกโปแลนด์ขาดความเป็นเอกภาพในการรับมือการรุกรานครั้งนี้

หลังจากบุกเข้าไปใน โปแลนด์ กองทัพของไคดูและบัยร์ดา ได้ปล้นสะดม เมืองซานโดเมียร์ (Sandomir) และทำลายกองทัพโปลและสลาฟของ กษัตริย์โบเลสเลฟ  ที่เมืองคราโคฟ ในวันที่ 3 มีนาคม  และทำลายกองทัพโปลอีกทัพหนึ่งที่ชมีลนิค (Chmielnik)  ในวันที่ 18 มีนาคม ก่อนจะย้อนกลับไปยังคราโคฟ กองทัพมองโกลได้ปิดล้อมและเผาเมืองนี้ในวันที่ 24 มีนาคม 

วันที่ 9 เมษายน ค.ศ.1241 ดยุค เฮนรี่ที่ 2 แห่ง ไซเลเซีย หรือที่รู้จักกันในนาม เฮนรี่ ผู้เคร่งธรรม เดินทัพออกจากนครของเขา ลีกนิตส์ (Liegnitz) (ปัจจุบันคือเมืองเลกนิซา ในโปแลนด์) เพื่อเตรียมเผชิญหน้ากับกองทัพมองโกล หรือ ตาร์ต้า (Tartar) อันเป็นชื่อที่ชาวยุโรปใช้เรียกพวกมองโกล คำว่า ตาร์ต้า ในความหมายของชาวยุโรปหมายถึง ผู้มาจากทาทารัส หรือขุมนรกที่ลึกที่สุดในตำนานของกรีก กองทัพของดยุคเฮนรี่ มีไพร่พลทั้งสิ้นกว่า 30,000 นาย ประกอบด้วย อัศวินชาวโปล อัศวินติวตันชาวเยอรมัน  อัศวินเทมปลาร์ของฝรั่งเศสและกองพลทหารราบชาวโปลและเยอรมัน กองทัพของพระองค์เป็นกองทัพสุดท้ายที่เหลืออยู่ของโปแลนด์ ในขณะที่ดยุคเฮนรี่ทรงม้าผ่านไปในเมือง กระเบื้องที่อยู่บนหลังคาโบสถ์พระแม่มารีหล่นลงมาและเกือบจะทำให้พระองค์ สิ้นพระชนม์ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ต่างพูดกันว่า มันเป็นลางร้ายของพระองค์

ดยุค เฮนรี่เองทรงรู้ดี ทว่าทรงไม่มีทางเลือก ในเวลานี้พระองค์กำลังรอคอยการมาของน้องเขยของพระองค์ กษัตริย์ เวนเซสลาสที่ 1 (Wenceslas I) แห่งโบฮีเมีย พร้อมทหาร 50,000 คน แต่ดยุคเฮนรี่ ก็ไม่ทรงรู้ว่าทัพหนุนจะมาถึงเมื่อไหร่ ขณะเดียวกัน เฮนรี่ทรงกลัวว่า ถ้าพระองค์มัวแต่รอทัพหนุนอยู่หลังกำแพงลีกนิตส์ กองทัพมองโกลอาจจะได้รับกำลังหนุนมาเพิ่มเสียก่อน  ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินใจนำทัพออกจากลีกนิตส์ ในเดือนเมษายน และมุ่งหน้าไปยังเมืองเจโว อันเป็นจุดนัดพบระหว่างพระองค์และกษัตริย์เวนเซสลาส

ในเวลาเดียวกันนั้น เองเจ้าชายไคดูก็ทรงทราบข่าวว่ากองทัพโปลได้เคลื่อนพลออกจากเมืองลีกนิตส์ แล้ว เจ้าชายไคดูและบัยร์ดา รู้ว่ากองทัพของเวนเซลลาสอยู่ไม่ไกลนัก พวกเขาไม่ต้องการเสี่ยงให้กองทัพของเฮนรี่กับเวนเซสลาสมีโอกาสรวมพลกัน ดังนั้นเมื่อดยุคเฮนรี่ มาถึงทุ่งราบที่ถูกล้อมรอบด้วยเนินเขาเตี้ย ๆ ไม่ไกลจากลีกนิตส์ ที่เรียกว่า วาลสตัทต์ (Wahlstadt) หรือ “พื้นที่ที่ถูกเลือก” พระองค์ก็ทรงพบว่า พวกตาร์ต้า ดักรออยู่ที่นั่นเรียบร้อยแล้ว

แม้จะมีกำลังน้อยกว่า แต่ทั้งเจ้าชายไคดูและบัยร์ดาก็เชื่อว่าพวกตนจะได้ชัยชนะจากศึกนี้ ความมั่นใจในชัยชนะของพวกมองโกลใช่จะปราศจากพื้นฐานที่เป็นไปได้ ในเวลานั้นกองทัพของดยุคเฮนรี่ก็คล้าย ๆ กองทัพยุโรปในยุคเดียวกัน คือ เป็นกองทัพที่รวมกันแบบหลวม ๆ กำลังพลประกอบด้วยพวกอัศวินและทหารราบซึ่งส่วนใหญ่เกณฑ์มาจากชาวบ้านธรรมดา ในส่วนของพวกอัศวินนั้น แต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างทั้งในด้านของรูปแบบการรบ การแต่งกาย ยุทธวิธีที่ใช้ ทำให้มีรูปแบบการรบที่ไม่ชัดเจน ผิดกับกองทัพมองโกลที่มีการจัดรูปแบบที่ชัดเจน มีการจัดแบ่งกำลังเป็นหมู่ 10 กอง 100 กอง 1000 และกองพล หรือ ทัวมัน (Touman) ซึ่งประกอบด้วยกำลัง 10,000 นาย แต่ละหน่วยมีการบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้นที่แน่นอน และมีการให้สัญญาณระหว่างรบด้วยธงสัญญาณ

นอกจากนี้ผู้บัญชาการ ทัพมองโกล มักจะเลือกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะกับการสังเกตการณ์และบัญชาการรบผิดกับ พวกแม่ทัพของยุโรปที่มักจะต่อสู้เคียงข้างทหารของตน ในตำแหน่งที่ถูกสังเกตได้ง่ายที่สุดในสนามรบ ซึ่งมักเป็นตำแหน่งที่อันตรายที่สุด ทั้งนี้บรรดาแม่ทัพของยุโรปนั้นถือว่าการทำสงคราม คือ การแสดงถึงความกล้าหาญและเกียรติของนักรบ โดยเป้าหมายแห่งเกียรติและชื่อเสียงมีความสำคัญพอ ๆ กับชัยชนะ แต่สำหรับมองโกลนั้น ชัยชนะมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด จุดมุ่งหมายของพวกเขาคือสังหารและทำลายล้างกองทัพศัตรูให้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากที่สุด และถ้าเป็นไปได้การสูญเสียของฝ่ายตนต้องน้อยที่สุดด้วย

นี่เป็นกลยุทธ์หลัก ที่พวกมองโกลใช้ในการตะลุยรบเป็นระยะทางนับพัน ๆ ไมล์และพิชิตศึกนับไม่ถ้วน พวกเขาจะไม่ยอมสูญเสียกำลังโดยไม่จำเป็น เทคนิคการรบของพวกมองโกล คล้ายกับเทคนิคของพวกนายพราน โดยใช้ความเร็วกับความแม่นยำ และลงมือสังหารโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด ในกรณีกองทัพของดยุคเฮนรี่ แม่ทัพบัยร์ดาและไคดู ตัดสินใจที่ใช้ยุทธวิธีธรรมดา ๆ ของชาวทุ่งหญ้าสเตปป์  คือ การเข้าตี ล่าถอยและซุ่มโจมตี อีกครั้ง

ทั้งกองทัพยุโรปและ มองโกลต่างมีทหารม้าเป็นกำลังหลักในการรบ  แต่ทหารม้าทั้งสองฝ่ายก็มีข้อแตกต่างกัน กล่าวคือ อัศวินของยุโรปได้รับการสนับสนุนโดยเหล่าขุนนางศักดินา หรือกษัตริย์ พวกเขาถูกฝึกให้ทำการรบแบบประชิดตัว โดยอาวุธหลักของพวกเขาคือแหลนและดาบขนาดใหญ่ แหลนของพวกอัศวินมีน้ำหนักมาก จนต้องใช้แขนหนีบเพื่อช่วยประคอง เทคนิคการต่อสู้ของอัศวินเป็นการรวมพลังของม้าและคนขี่ในการเข้าประจัญบาน ศัตรู โดยจะทะลวงแนวรบข้าศึกด้วยการชาร์จพร้อมแหลนขนาดใหญ่ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นใช้ดาบไล่ฟาดฟันข้าศึกที่แตกขบวน อัศวินเหล่านี้จะสวมเสื้อเกราะที่ถักด้วยโซ่และสวมแผ่นเกราะเหล็กทับอีกที หนึ่ง แม้จะป้องกันอาวุธได้ดีแต่ก็ทำให้ขาดความคล่องตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่พวกเขาหล่นลงจากหลังม้า

ในส่วนกำลังรบของมอง โกลนั้นประกอบด้วยทหารม้าทั้งหมดแต่ทหารม้าเหล่านี้จะต่างกับทหารม้ายุโรป อาวุธหลักของทหารม้ามองโกล คือ ธนู และโดยทั่วไป พวกเขาไม่นิยมการรบแบบประชิดตัว พวกมองโกลป้องกันตัวเองด้วยการเคลื่อนตัวอย่างว่องไว มากกว่าใช้เกราะ ทหารม้าหนักจะสวมเสื้อไหมที่ถักอย่างแน่นหนาไว้ชั้นในก่อนจะคลุมด้วยเสื้อ คลุมและสวมทับด้วยเกราะหนังที่เหนียวแข็งแกร่งแต่มีน้ำหนักเบา พร้อมทั้งหมวกเหล็ก ใช้ทวนและดาบโค้งเป็นอาวุธ ส่วนทหารม้าเบาจะสวมเพียงหมวกเหล็กเท่านั้น ธนูโค้งของพวกมองโกลยิงได้ไกลถึง 300 หลา (ราว100 เมตร) พวกมองโกลสามารถยิงได้อย่างแม่นยำแม้ขณะกำลังควบม้าอยู่โดยยิงได้นาทีละ เจ็ดดอก  พลธนูแต่ละนายจะมีลูกธนูอยู่ 60 ดอก สำหรับม้าที่พวกมองโกลใช้จะมีขนาดเล็กกว่าม้าของยุโรปมาก แต่ม้าพวกนี้มีความอดทนและแข็งแกร่ง ทหารมองโกลแต่ละคนจะมีม้าคนละ2  -3 ตัว เพื่อจะใช้ผลัดเปลี่ยน ไม่ให้ม้าเหนื่อยเกินไป ด้วยเหตุนี้กองทัพมองโกลจึงสามารถเคลื่อนทัพได้ถึงวันละ 50 –60 ไมล์ การใช้ม้าขนาดเล็กทำให้ทหารม้ามองโกลมีความคล่องตัวในการรบมากกว่าศัตรู ซึ่งข้อได้เปรียบนี้เห็นได้ชัดเจนในการรบที่ วาห์ลสตัดท์

เมื่อการรบเริ่มขึ้น ฝ่ายยุโรปแทบจะไม่รู้ตัวเลย เนื่องจากทหารมองโกลเข้าสู่สนามรบโดยปราศจากเสียงโห่ร้อง ใช้เพียงสัญญาณจากธงเท่านั้น ในตอนแรกกองกำลังส่วนที่หนึ่งของดยุคเฮนรี่ ที่บัญชาการโดยโบเลสลาฟ ได้เข้าประจัญบานกับพวกตาร์ต้า แบบตัวต่อตัวแต่ทหารมองโกลที่ว่องไวกว่า ตีวงเข้าล้อมพวกเขาไว้และระดมยิงด้วยลูกธนู เมื่อพบว่าตัวเองขาดการสนับสนุนจากหน่วยอื่น ๆ โบเลสลาฟจึงตีฝ่าวงล้อมและถอยกลับไปยังแนวรบของฝ่ายตน ในการประจัญบานครั้งที่สอง โดยกองพลที่สองและที่สาม ถูกควบคุมโดย ซูลิสลาฟ และเมชโค แห่ง โอโปล ผิดจากครั้งแรก ผลของการประจัญบาน ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จ พวกมองโกลล่าถอยอย่างไร้ระเบียบ  เหมือนว่านักรบเอเชียเหล่านี้จะบอกว่าพวกตนไม่สามารถประจัญบานกับทหารม้า หนักชาวยุโรปได้  เมื่อเห็นเช่นนั้นเหล่าอัศวินก็ออกไล่ตามอย่างฮึกเหิกพร้อมด้วยแหลนและดาบ ทันใดนั้นเอง ทหารม้าตาร์ต้าคนหนึ่งก็ตะโกนขึ้นเป็นภาษาโปล ว่า “Byegaycze! Byegaycze!”  ซึ่งแปลว่า “วิ่ง วิ่ง ” เมชโกไม่รู้อุบายนี้และเข้าใจว่ามีคำสั่งให้ถอย เมื่อดยุคเฮนรี่เห็นทหารของตนเริ่มจะถอย  ก็รีบสั่งให้กำลังของตนที่เหลือรีบเข้าหนุนทันที หลังการต่อสู้ที่ดุเดือดได้ครู่หนึ่ง ทหารมองโกลก็เริ่มล่าถอยอีกครั้ง ทหารโปลทั้งหมดจึงเคลื่อนทัพออกไล่ตามโจมตีทันที

เหตุการณ์ดูเหมือนว่า ในที่สุดเหล่านักรบยุโรปจะตกเป็นเหยื่อกลยุทธ์เก่าแก่ที่สุดของพวกมองโกล ผิดกับพวกอัศวิน นักรบทุ่งหญ้าสเตปป์ถือว่าการล่าถอยเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการรบ ทหารมองโกลพยายามแยกพวกอัศวินออกจากกองทหารราบและเข้าโจมตีในภายหลังโดยระดม ยิงด้วยธนู นักรบมองโกลจะยิงม้าที่พวกอัศวินขี่ เมื่อม้าล้มลง อัศวินเหล่านี้ก็กลายเป็นเหยื่อให้ทหารม้าหนักมองโกลสังหารอย่างง่ายดายด้วย ดาบโค้งและทวน นอกจากนี้ ทหารมองโกลยังใช้กลยุทธ์จุดควันอำพราง โดยพวกมองโกลใช้ม่านควันสีดำกำบังเหล่าอัศวินไว้จากกองทหารราบ ทำให้พวกทหารราบไม่เห็นว่าอัศวินฝ่ายตนกำลังถูกทหารมองโกลโจมตีและไม่อาจ หนุนเข้ามาได้ ท่ามกลางความวุ่นวาย ดยุคเฮนรี่ พยายามเสด็จหนีออกจากสมรภูมิ แต่ทหารม้ามองโกลไล่ตามพระองค์ทันและได้ปลงพระชนม์พระองค์ ก่อนจะตัดพระเศียรมาเสียบไว้ที่ปลายหอกและใช้แทนธงชัย ก่อนเดินทัพสู่ลีกนิกซ์

หลังจากที่ได้ทำลาย กองทัพทั้งหมดของพระองค์แล้ว พวกมองโกลตัดหูศพเหยื่อที่ถูกสังหารและยัดใส่กระสอบ มีบันทึกไว้ว่า ทหารของเฮนรี่กว่า 25,000 นาย ถูกสังหารพร้อมดยุคเฮนรี่ ข่าวความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของโปแลนด์ ทำให้กษัตริย์หลุยส์แห่งฝรั่งเศสเตรียมยกทัพไปยังยุโรปภาคกลาง พระองค์ทรงมีพระอักษรถึงพระมารดา พระนางบลานเช ว่าพระองค์จะส่งพวกตาร์ต้ากลับสู่นรกให้ได้หรือมิฉะนั้นก็จะให้พวกมันส่ง พระองค์ขึ้นสู่สวรรค์แทน ความพ่ายแพ้ที่ลีกนิตส์ ทำให้พวกโบฮีเมียนถอนทัพกลับทันที และจากการณ์นี้เองทำให้กษัตริย์หลุยส์ทรงทราบดีว่าไม่มีกองทัพใด ๆ ที่ขวางกั้นระหว่างฝรั่งเศสกับกองทัพมองโกลอีกแล้ว

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...