มีสุภาษิตฝรั่งบท หนึ่งว่าไว้ว่า “between Scylla and Charybdis” “ระหว่างคาริบดิสและซิลลา” ซึ่งเทียบกับภาษิตไทยก็คือ “หนีเสือปะจระเข้” อันหมายถึงการหลบอันตรายอย่างหนึ่ง แต่กลับพบอันตรายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งภาษิตนี้มีที่มาจากอสุรกาย 2 ตนในตำนานเทพปกรณัมกรีกซึ่งมีนามว่า ซิลลาและคาริบดีส
ซิลลาและคาริบดิสเป็น อสุรกายที่อาศัยอยู่ที่ช่องแคบเมสสินาในเกาะซิชิลี โดย ณ ช่องแคบนั้นมีวังน้ำวนขนาดใหญ่ชื่อ คาริบดิส ด้วยกระแสน้ำอันเชี่ยวกรากได้ทำให้เรือใหญ่น้อยที่หลงเข้าไป จมลงเป็นอันมากและหากเรือลำใดพยายามแล่นห่างออกจากคาริบดิส ก็จะชนเข้ากับโขดหินชื่อ ซิลลา จนอับปางลงเช่นกัน เพราะซิลลาและคาริบดีสอยู่ห่างกันเพียงแค่ระยะยิงธนูถึงเท่านั้น
กำเนิดของซิลลา มีอยู่ว่า ชายชาวประมงนาม กลอคัส (Glaucus)ได้ออกหาปลาแล้วจอดเรือพักที่เกาะร้างแห่งหนึ่งเพื่อคัดแยกปลา ครั้นเทปลาที่ตายแล้วลงบนพื้นหญ้า ปลาทุกตัวก็กลับมีชีวิตและตะเกียกตะกายกลับลงน้ำ กลอคัสเข้าใจว่าเป็นเพราะต้นหญ้าพวกนั้น จึงลองถอนขึ้นมากินกำหนึ่ง ทันใดนั้นเขาก็รู้สึกกระวนกระวายอยากลงน้ำจนต้องกระโดดลงน้ำไป
เทพโอเชียนัส (เทพไททันผู้ครองมหาสมุทรก่อนโพเซดอน ซึ่งในสงครามที่เหล่าไททันสู้รบกับเทพโอลิมปัส โอเชียนัสยอมเข้าพวกกับมหาเทพซูส จึงไม่ถูกยึดอำนาจไปหมด โดยโพเซดอนจะครองทะเลเมอดิเตอร์เรเนียนและแม่น้ำลำธาร ส่วนทะเลนอกเหนือเขตนั้นยังเป็นของโอเชียนัส) ได้ให้การต้อนรับและแต่งตั้งกลอคัสเป็นเทพแห่งน้ำอีกองค์หนึ่ง โดยนำสายน้ำมาชำระความเป็นมนุษย์ออก เมื่อกลายเป็นเทพแล้ว กลอคัสก็มีเรือนผมสีเขียวน้ำทะเลและมีกายท่อนล่างเป็นปลา
ต่อมากลอคัสได้พบกับ หญิงสาวนาม ซิลลา (Scylla : บางที่ก็ว่าเป็นอัปสร ธิดาของเพอร์ซิส เทพแห่งน้ำ) ที่ลงมาเล่นน้ำ กลอคัสเห็นเข้าก็หลงรัก แต่ซิลลาตกใจกลัวในรูปร่างประหลาดของกลอคัส นางจึงวิ่งหนีขึ้นฝั่ง กลอคัสไม่สามารถตามขึ้นไปได้ จึงไปปรึกษา เซอร์ซี (Circe) แม่มดแห่งท้องทะเล เพื่อให้นางช่วยเหลือ
ทว่าเซอร์ซีกลับหลง รักกลอคัส นางพยายามเกลี้ยกล่อมให้เขาลืมซิลลา แต่ก็ไม่เป็นผล เซอร์ซีจึงแอบนำยาพิษร้ายไปเทไว้ ณ จุดที่ซิลลาชอบมาเล่นน้ำ เมื่อนางกลับมา ก็ถูกพิษจนกลายเป็นอสุรกาย มีหัวและคอถึง 6 หัว ลำคอเหมือนงู หัวเหมือนสุนัขและมีขา 12 ข้าง แต่ถูกตรึงอยู่ ณ ที่นั้น ไม่สามารถขยับไปไหนได้และคอยดักเล่นงานเรือที่ผ่านไปมา จนภายหลังก็กลายเป็นโขดหินไป (บางที่เล่าว่า เฮราคลิส (Heracles:ชื่อกรีก) หรือ เฮอร์คิวลิส (Hercules : ชื่อโรมัน) ผ่านมาและได้ฆ่าซิลลา นางจึงกลับกลายเป็นโขดหิน)
แต่อีกตำราหนึ่งกล่าว ว่า ซิลลาเป็นอนุภรรยาของโพเซดอน ด้วยความหึงหวงทำให้เทวีแอมฟริไตรตี (Amphitrite) ชายาของโพเซดอน เอายาพิษมาโปรยตรงบริเวณนั้น ทำให้นางกลายเป็นอสุรกายไป
ส่วนเรื่องของ คาริบดีส (Charybdis) นั้นค่อนข้างสั้น โดยกล่าวว่านางเป็นนางอัปสรธิดาของโพเซดอนและเจ้าแม่ธรณี จีอาแต่อีกตำรากล่าวว่านางเป็นหนึ่งในหมู่อัปสรนีเรียด (Nereids) ธิดา 50 องค์ของเนเรอุส (Nereus) เทพแห่งทะเลอีเจียน
นางได้ทำให้น้ำท่วม ขึ้นไปบนแผ่นดิน เพื่อขยายอาณาเขตของบิดานาง มหาเทพซูสโกรธจึงใช้สายฟ้าฟาดนางถึงแก่ความตาย แล้วสาปให้เป็นอสุรกายที่มีปากขนาดใหญ่ ดูดและพ่นน้ำปริมาณมหาศาลวันละ 3 ครั้ง ทำให้เกิดเป็นวังวนคาริบดีสขึ้น ใกล้ๆกับที่สถิตของซิลลานั่นเอง
เรื่องราวของอสุรี ทั้งสองปรากฏในตำนานมหากาพย์โอดิสซี โดยเล่าไว้ว่า เรือของโอดิสซีอุสต้องผ่านช่องแคบเมสสินาในระหว่างเดินทางกลับ หลังเสร็จสงครามทรอย โอดิสซีอุสจำต้องเลือกว่าจะเสี่ยงเอาเรือแล่นไปใกล้คาริบดิสและเรืออาจถูก น้ำวนของนาง ดูดจนอัปปางจมไปทั้งลำหรือนำเรือเข้าไปใกล้โขดหินซิลลาและเสี่ยงต่อการถูก จู่โจม ซึ่งสุดท้าย โอดิสซีอุสก็เลือกนำเรือเข้าใกล้โขดหินซิลลาและต้องเสียลูกเรือหกคนโดยถูก หัวสุนัขทั้งหกหัวฉกไปกินหัวละคน