หม้อหุงข้าว ประดิษฐ์ ขึ้นครั้งแรกในญี่ปุ่น เพื่อสนองความต้องการในประเทศ ในอดีตสตรีชาวญี่ปุ่นต้องหุงข้าวด้วยเตาถ่าน
ซึ่งต้องเสียเวลามานั่งเฝ้า และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สตรีญี่ปุ่นต้องใช้แรงงานในการสงครามด้วย ความสะดวกรวดเร็วและประหยัดเวลาในการหุงข้าวจึงจำเป็นอย่างยิ่ง
ดังนั้นความสำเร็จในการประดิษฐ์หม้อหุงข้าวและเริ่มจำหน่ายขึ้นครั้งแรกในปีค.ศ.1956 จึงได้รับการตอบรับจากชาวญี่ปุ่นอย่างท่วมท้น
วิวัฒนาการหม้อหุงข้าวที่เก่าแก่ที่สุดเดิมมีชื่อเรียกว่า คามาโดะ มีมาตั้งแต่ยุคสมัยโคฟุน ค.ศ. 300-710 คามาโดะเป็นเตาดินเสริมด้วยอิฐหักเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและทนทานต่อความร้อน ใช้ฟืนในการหุงต้ม นอกจากใช้หุงข้าวแล้วก็ยังนำมาต้มซุปถั่ว แต่มีข้อเสียคือเคลื่อนย้ายไม่ได้
ต่อมาสมัยนารา-เฮอัน ราวปีค.ศ.710-794 หม้อหุงข้าวพัฒนามาเป็น โอกิ-คามาโดะ สร้างขึ้นให้ใช้งานกลางแจ้ง และมีภาชนะแยกส่วนสำหรับบรรจุอาหารที่เรียกว่าฮากามะ สำหรับหย่อนลงในหลุมที่ด้านล่างมีกองฟืนสำหรับหุงต้ม
ภายหลังมีการประดิษฐ์ภาชนะบรรจุข้าวสำหรับหุงโดยเฉพาะ ลักษณะทรงรีทำด้วยโลหะ เรียกว่า โอกามาเรียกหม้อหุงข้าวชนิดนี้ว่า มูชิ-คามาโดะ
ปลายยุคสมัยไตโช กลางทศวรรษ 1920 เริ่มมีการทดลองผลิตหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเป็นครั้งแรก ปลายทศวรรษ 1940บริษัทมิตซูบิชิ อิเลคทริก ผลิตหม้อหุงข้าวที่มีหม้อและขดลวดนำความร้อนอยู่ภายใน ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงที่สุดกับหม้อหุงข้าวในปัจจุบัน แต่ก็ยังไม่สะดวกสบายนัก เพราะคนหุงต้องนั่งเฝ้าเนื่องจากยังไม่มีระบบอัตโนมัติ ภายหลังบริษัทมัตซูชิตะและโซนี่ผลิตหม้อหุงข้าวออกจำหน่าย แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน
กระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 1956 บริษัทโตชิบานำหม้อหุงข้าวอัตโนมัติออกวางจำหน่าย 700 ใบ ประสบความสำเร็จมาก โตชิบาเริ่มผลิตหม้อหุงข้าวอีก 200,000 ใบ ในเวลาเพียง 1 เดือน อีก 4 ปี ต่อมาหม้อหุงข้าวเริ่มแพร่หลายไปเกือบครึ่งประเทศ
สาเหตุที่บริษัทโตชิบาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ เนื่องจากเวลาที่รวดเร็วและแม่นยำในการหุงข้าว ที่ใช้เวลาเพียง 20 นาที หม้อหุงข้าวในยุคนั้นมี 2 ชั้น ชั้นนอกสำหรับบรรจุน้ำ ส่วนชั้นในสำหรับบรรจุข้าว รูปแบบนี้ใช้อยู่นานถึง 9 ปี จึงเปลี่ยนมาเป็นหม้อหุงข้าวในยุคปัจจุบัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด