มาโซะยาวี โบราณ พิธี ขริบ ที่หาดูได้ยาก

 

 

 

มาโซะยาวี โบราณ พิธี ขริบ ที่หาดูได้ยาก

 

สกูปนี้จะแสดงผลได้ดีใน Browser Google Chrome เท่านั้น  
ท่านที่ใช้ FireFox หรือ IE. อาจจะมีปัญหาในการแสดงภาพ.
 
 
 
 
 
"มาโซะยาวี" เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึง พิธีการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ หรือที่นิยมเรียกกันว่า การเข้าพิธีสุหนัต ชายมุสลิมที่ต้องมีครั้งหนึ่งในชีวิตที่ผ่านการ "มาโซะยาวี" พื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นิยมทำพิธีนี้กับเด็กที่มีอายุระหว่าง 6-15 ปี



พิธีขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ

เพาซี ยะซิง อายุ 37 ปี ชายชาวปัตตานี ใช้เวลานอกเหนือจากงานประจำ รวมกับกลุ่มเพื่อนพร้อมกล้องคู่ใจทำหน้าที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับคนมลายูโบราณผ่านทางเฟซบุ๊ก กล่าวถึง "มาโซะยาวี" ว่า เป็นเรื่องของความสะดวกในการทำความสะอาดอวัยวะเพศ อันจะมีผลต่อการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนาอิสลาม นั่นก็คือ การทำละหมาดในข้อที่ว่าต้องชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนการละหมาด นอกจากนั้นเพื่อป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ ทางอวัยวะเพศ

"สิ่งที่ผมอยากสะท้อนมันยังรวมถึงขนบประเพณีที่อยากให้คนภายนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รู้เข้าใจว่า ศาสนากับขนบประเพณีถึงต่างกัน แต่บรรพบุรุษมลายูโบราณยังผสมผสานร่วมมือและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้"

เพาซีเล่าให้ฟังอีกว่า "มาโซะยาวี" แบบฉบับตามพิธีโบราณ ตามประเพณีวัฒนธรรมมลายูดั้งเดิม ปัจจุบันมีอยู่น้อย หาดูได้ยากมากแล้วในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โชคดีมากที่มีโอกาสได้ชมพิธีนี้จากการชักชวนของ รัศมินทร์ นิติธรรม หรือ "ผู้ใหญ่มิน" ที่ชวนให้ไปดู เมื่อไม่นานมานี้ โดยลูกชายผู้ใหญ่มินได้เข้าร่วมพิธีด้วย เรียกว่าเป็น "อาเนาะตูนอ" หรือเด็กๆ ที่เข้าร่วมพิธีมาโซะยาวีด้วยกัน




เด็กๆ กำลังรอเพื่อชำระร่างกาย 

"ช่วงเช้าก่อนงานจะมีการแต่งตัวอาเนาะตูนอที่เข้าร่วมพิธีอย่างสมเกียรติด้วยเครื่องแต่งกายแบบโบราณ สมาน โดซอมิ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมพิธีการมลายูดั้งเดิม ที่เหลืออยู่น้อยคนแล้วในพื้นที่ ทำหน้าที่ดูแลการแต่งกายให้ถูกต้องตามหลักประเพณี จากนั้นเด็กๆ ที่เข้าพิธีมาโซะยาวี จะร่วมขบวนประเพณีการแห่นก ตามความเชื่อของชาวมลายูปาตานี ถือว่าเป็นพิธีการมาโซะยาวีของคนชั้นสูง"

เพาซีบอกว่า นกที่ชาวมลายูนิยมใช้ในประเพณี มี 4 ชนิด คือ 1.นกฆาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ หรือนกการเวก 2.นกฆารูดา หรือครุฑ 3.นกมือเฆาะมัส หรือนกยูงทอง และ 4.นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์ มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ แต่ประเพณีการแห่นกของชาวมลายูมักนิยม 2 ตัว คือ นกฆาเฆาะซูรอ และนกบูหรงซีงอ เมื่อถึงที่หมายกลุ่มอาเนาะตูนอ จะเดินเข้าร่วมพิธีที่ลานกว้าง บนโต๊ะมีสำรับข้าวเหนียว 7 สี ขนมของหวาน ที่เรียกว่า "ปูโละซือมางะ" เตรียมไว้สำหรับเด็กที่เข้าพิธีกลางลาน จะมีการแสดง การละเล่นต่างๆ ตามแบบฉบับวัฒนธรรมมลายู เริ่มด้วยการแสดงซีละลีลาร้อนแรงอย่างน่าตื่นเต้น ต่อด้วยการร่ายรำ "ตารีอีนา" อันเป็นศิลปะการร่ายรำที่อ่อนช้อย



การร่ายรำ "ตารีอีนา" อันเป็นศิลปะการร่ายรำที่อ่อนช้อย

"มีอยู่น้อยคนมากที่มีความสามารถในการแสดงเหล่านี้ ได้รับอิทธิพลการร่ายรำมาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย นั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ศิลปะชนิดนี้ค่อยๆ สูญหายไป" เพาซีให้ความเห็น และขยายรายละเอียดให้ฟังว่า "ตารีอีนา" เป็นการแสดงศิลปะที่ผสมผสานระหว่าง "ซิละ" หรือศิลปะที่ต่อสู้ด้วยมือเปล่า เคลื่อนไหวด้วยท่าทางที่สง่างาม ผสมผสานกับการรำที่เรารู้จักกันดีคือ "มโนห์รา" คือมีท่วงท่าอ่อนช้อยสวยงาม

เพาซีเล่าต่อว่า เมื่อกระบวนการพิธีที่ลานเสร็จสิ้นแล้วได้เวลาสำคัญที่กลุ่มเด็กชายจะอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เพื่อเข้าพิธี "มาโซะยาวี"

"อาบน้ำให้เรียบร้อยแล้วนุ่งผ้าขาวม้าหรือผ้าถุงผืนเดียว วินาทีนี้เราจะเห็นเด็กที่รอเข้าพิธีแสดงออกทางสีหน้าหลากหลายอารมณ์มาก ทั้งแววตากังวล กลัวจะเจ็บ บางคนฝืนยิ้มทั้งน้ำตา โดยในพิธีขั้นตอนการขริบ เด็กจะนั่งบนหยวกกล้วย เพื่อช่วยให้รู้สึกเย็นจากชั้นเนื้อของหยวกกล้วย และหยวกกล้วยที่เข้าทำพิธีนี้จะมีการแกะสลักลวดลายสวยงาม

"จากนั้น โต๊ะมูเด็ง หรือหมอผู้ทำการขริบ จะวัดส่วนของหนังหุ้มส่วนปลายอวัยวะเพศที่จะขริบออก โดยใช้ปูนขาวทำเครื่องหมายไว้โดยรอบแล้วดึงหนังส่วนที่หุ้มปลายออกมา ใช้ไม้หนีบ 2 ขา ภาษามลายูเรียกว่า ปงาเป้ะ มาหนีบไว้ติดกับท่อนหยวกที่นั่งอยู่ จากนั้นหมอผู้ทำการขริบก็จะกล่าวนาม พระผู้เป็นเจ้า พร้อมกับลงมือขริบหนังที่ทำเครื่องหมายไว้แล้วด้วยมีดหรือกรรไกร"

เพาซีกล่าวต่อว่า ได้ศึกษาประเพณีเก่าๆ ของคนมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านงานวิจัยของนักวิชาการ พบว่าจารีตประเพณีบางอย่างในพิธีสุหนัตตั้งแต่โบราณ มีการผสมผสานจากพิธีกรรมของพราหมณ์ ฮินดู และพุทธด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจุดเทียน ข้าวเหนียว 7 สี ที่มุสลิมไม่มี เป็นต้น

"สิ่งที่กำลังทำในเวลานี้อยากจะถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านี้ออกมาให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ บางคนอาจบอกว่าทำแบบนี้ไม่ถูก ไม่น่าทำได้ แต่คนมลายูโบราณทำแบบนี้จริงๆ คนรุ่นใหม่จะไม่มีโอกาสได้เห็น" เพาซีพูดทิ้งท้าย

สิ่งที่เพาซีทำและได้ศึกษาถึงรากเหง้าอย่างแท้จริงเหล่านี้ ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามที่เกิดขึ้นจากวิถีชีวิต วิถีปฏิบัติของคนรุ่นบรรพบุรุษที่ได้ยึดเป็นแบบแผนในรูปของวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ คนปัจจุบันแทบจะไม่เคยทราบมาก่อน

เป็นการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับหลักของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดไม่มีเสื่อมคลาย


 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

Credit: http://www.babnee.com/index.php
9 ธ.ค. 56 เวลา 15:04 5,921 1 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...