เนลสัน แมนเดลา เป็นหนึ่งในรัฐบุรุษของโลก อุทิศตนต่อสู้เพื่อล้มล้างระบอบเหยียดผิว สถาปนาประชาธิปไตยที่ชนทุกชาติพันธุ์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
หลังติดคุกนาน 27 ปี เขาได้รับอิสรภาพในปี 2533 และกลายเป็นประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ในปี 2537 นับแต่นั้น เขาได้ผลักดันให้เกิดสันติภาพในหลายประเทศ
เหตุที่ได้รับการยกย่องชื่นชมในเวทีโลก เพราะแมนเดลาได้ใช้ชีวิตอุทิศตนเพื่อผู้อื่น เป็นคนร่าเริงมีอารมณ์ขัน และไม่ผูกพยาบาทฝ่ายตรงข้ามที่เคยทำกับเขาอย่างทารุณ
@ เนลสัน แมนเดลา ประธานพรรคเอเอ็นซี จับมือกับประธานาธิบดีคนสุดท้ายของรัฐบาลเหยียดผิว
เฟรเดอริก เดอ เคลิร์ก หลังรับโนเบลสันติภาพร่วมกันในปี 2536
หลังลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2542 แมนเดลายังคงมีบทบาทโดดเด่น รณรงค์ต่อสู้กับปัญหาโรคเอดส์ และช่วยให้ประเทศของเขาได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกเมื่อปี 2553
@ แอฟริกาใต้ออกธนบัตร รูปแมนเดลา ในปี 2555
แม้ในระยะหลัง เขามีอาการป่วยกระเสาะกระแสะเรื่อยมา แต่ยังคงมีบทบาทในการเจรจาสันติภาพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก, บุรุนดี และประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา
แมนเดลาอำลาการเมืองในปี 2547 ด้วยวัย 85 ใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวและมิตรสหาย ไม่ค่อยได้ออกงานสังคมนัก เว้นแต่งานของมูลนิธิแมนเดลา
ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา เขาล้มป่วยด้วยโรคติดเชื้อในปอด
เข้าร่วมพรรคเอเอ็นซี
แมนเดลาเกิดเมื่อปี 2461 ในครอบครัวชาวเทมบู ซึ่งพูดภาษาโซซา ในหมู่บ้านเล็กๆทางฟากตะวันออกของแหลมเคปของแอฟริกาใต้ เดิมมีชื่อว่า มาดิบา ต่อมาครูในโรงเรียนได้ตั้งชื่อภาษาอังกฤษให้เขาว่า แมนเดลา
พ่อของเขาเป็นที่ปรึกษาของตระกูลผู้ปกครองชาวเทมบู เมื่อบิดาเสียชีวิตขณะเขามีอายุได้ 9 ขวบ เขาได้รับการชุบเลี้ยงจากรักษาการผู้สำเร็จราชการเมืองเทมบู
ในปี 2484 เมื่อมีอายุ 23 ปี เขาได้หนีจากการถูกจัดให้แต่งงานแบบคลุมถุงชน หลบไปอยู่ที่เมืองโจฮันเนสเบิร์ก แล้วอีกสองปีให้หลัง เขาได้เข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยวิทส์วอเทอแรนด์ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นชาวแอฟริกัน
ในมหาวิทยาลัย เขาได้พบเจอผู้คนจากทุกเชื้อชาติ ได้รับความคิดแบบเสรีนิยม และความคิดต่อสู้เพื่อชาวแอฟริกัน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเหยียดผิว การถูกกระทำแบบสองมาตรฐาน ทำให้เขากลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ปี 2486 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน หรือเอเอ็นซี และต่อมาได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตยุวชนเอเอ็นซี
เขาแต่งงานกับภรรยาคนแรก อีฟลิน มาเซ ในปี 2487 และได้หย่าร้างกันในปี 2501 หลังมีลูกด้วยกัน 4 คน
เมื่อได้เป็นทนายความ เขาได้ร่วมกับเพื่อน โอลิเวอร์ แทมโบ ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายในเมืองโจฮันเนสเบิร์กในปี 2495 คนทั้งสองได้รณรงค์ต่อต้านระบอบปกครองที่เหยียดผิวของเนชั่นแนลพาร์ตี้ พรรคของคนผิวขาว ที่กดขี่ชาวผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่
ในปี 2499 แมนเดลาถูกแจ้งข้อหากบฏพร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีก 155 คน แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเขาหลังสอบสวนอยู่นาน 4 ปี
เมื่อมีการออกกฎหมาย Pass Laws ฉบับใหม่ซึ่งจำกัดเขตอยู่อาศัยและทำมาหากินของคนผิวดำ กระแสต่อต้านการเหยียดผิวได้ขยายตัวไปทั่วแอฟริกาใต้
ปี 2501 แมนเดลาแต่งงานกับวินนี มาดิคิเซลา ซึ่งต่อมาได้เป็นแกนนำเรียกร้องให้ปล่อยตัวสามีของนางออกจากคุก
@ นาวิกโยธินสกัดชาวผิวดำ ที่มุ่งหน้่าไปประท้วงระบอบเหยียดผิว ที่เมืองเคปทาวน์ เมื่อปี 2503
พรรคเอเอ็นซีได้ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มเถื่อนในปี 2503 ทำให้แมนเดลาต้องหลบลงใต้ดิน การต่อต้านลัทธิเหยียดผิวได้พุ่งสู่กระแสสูงเมื่อตำรวจได้สังหารหมู่ชาวผิวดำ 69 คนในเมืองชาร์ปวิลล์ในปีเดียวกัน
จำคุกตลอดชีวิต
เหตุการร์สังหารหมู่ดังกล่าวได้ปิดฉากการต่อต้านโดยสันติ แมนเดลา ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานเอเอ็นซี ได้เปิดปฏิบัติการวินาศกรรมทางเศรษฐกิจ ต่อมาเขาถูกจับ ถูกแจ้งข้อหาก่อวินาศกรรม และพยายามโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรง
ในห้องพิจารณาคดีที่เมืองริโวเนีย แมนเดลาได้ประกาศความเชื่อของเขาในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียม
"ผมเชิดชูอุดมคติเรื่องสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ ที่ซึ่งคนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติที่ผมปรารถนาจะไปให้ถึง เป็นอุดมคติที่ผมพร้อมจะอุทิศชีวิตให้"
ในปี 2507 เขาถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ในช่วงเวลาห่างกัน 12 เดือนระหว่างปี 2511-2512 มารดาของเขาได้ถึงแก่กรรม และลูกชายคนโตเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ แต่เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ไปร่วมงานศพ
แมนเดลาถูกขังในคุกบนเกาะร็อบเบนเป็นเวลา 18 ปี ก่อนถูกย้ายมายังเรือนจำโพลส์มัวร์บนแผ่นดินใหญ่ในปี 2525
@ วุฒิสมาชิกสหรัฐ บารัก โอบามา เยือนคุกร็อบเบน เมื่อปี 2549
ขณะที่แมนเดลากับบรรดาแกนนำเอเอ็นซีถูกจองจำ หรือลี้ภัยในต่างแดน พวกเยาวชนตามเมืองต่างๆของชนผิวดำยังคงต่อสู้กับการปกครองโดยคนผิวขาวส่วนน้อยต่อไป มีผู้ถูกสังหารหลายร้อย มีคนบาดเจ็บหลายพันเมื่อการลุกฮือได้ถูกบดขยี้
ในปี 2523 เอเอ็นซี ซึ่งนำโดยแทมโบ สหายของแมนเดลา ผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ ได้เริ่มรณรงค์ในระดับสากล เรียกร้องให้ปล่อยตัวมิตรร่วมอุดมการณ์ มีการจัดคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาเวมบลีย์ในกรุงลอนดอนในปี 2531 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 72,000 คน อีกหลายล้านทั่วโลกรับชมทางทีวี และได้ร่วมกันร้องเพลง "ปลดปล่อยเนลสัน แมนเดลา"
กระแสเรียกร้องนี้ได้ทำให้บรรดาผู้นำโลกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อระบอบเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2510
แรงกดดันจากทั่วโลกได้ทำให้ประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก เลิกสั่งแบนพรรคเอเอ็นซีในปี 2533 พร้อมกับปล่อยตัวแมนเดลา
ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี
ในปี 2535 แมนเดลาแยกทางกับวินนี ภรรยา เพราะเธอมีสัมพันธ์นอกสมรส เธอได้ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาลักพาตัว และสมคบกับคนอื่นๆในการก่อเหตุประทุษร้ายด้วย
@ แมนเดลาสาบานตน รับตำแหน่งประธานาธิบดี ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2537
ปี 2536 แมนเดลากับเดอ เคลิร์ก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน และอีกห้าเดือนต่อมา ชาวแอฟริกาใต้ทุกผิวสีได้ออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก แมนเดลาได้รับเสียงโหวตท่วมท้นให้เป็นประธานาธิบดี
เขามอบหมายให้รองประธานาธิบดีทาโบ อึมเบกิ ทำงานบริหารราชการ ขณะตัวเขาเองรับบทบาทในทางพิธีการในฐานะผู้นำ กอบกู้ภาพลักษณ์ของประเทศ ชักชวนให้บรรษัทข้ามชาติปักหลักลงทุนในแอฟริกาใต้ต่อไป
ในวันเกิดครบ 80 ปี แมนเดลาแต่งงานกับเกรซา มาเชล ภริยาม่ายของอดีตประธานาธิบดีโมซัมบิก และในวันเกิดครบรอบ 89 ปี เขาได้ก่อตั้ง "คณะผู้อาวุโส" ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงในระดับโลก ทำหน้าที่ให้คำชี้แนะในการ "แก้ปัญหาที่ยากเย็นที่สุดในโลก"
หลังจากบุตรชายของเขาเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ในปี 2548 เขาได้รณรงค์ให้มีการแก้ปัญหานี้ และได้มีบทบาทผลักดันให้แอฟริกาใต้ได้เป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกในปี 2553.
Source : BBC ; AFP (images)
เรียบเรียง voicetv.co.th/