พรพรรณ ทองตัน เล่าเรื่องนี้ไว้ในอภิธานศัพท์คำไทยที่มีต้นเค้าจากภาษาต่างประเทศ ขอสรุปมาให้อ่านสั้นๆว่า
สมัยโบราณตามบ้านคนไทยมิได้มีเก้าอี้ใช้กัน เนื่องจากวัฒนธรรมดั้งเดิมของเราคือการนั่งและนอนบนพื้น แม้แต่การรับประทานอาหาร ก็ตั้งสำรับกับข้าวนั่งล้อมวงกันบนพื้นบ้าน ดังนั้นเครื่องเรือนของคนไทยสมัยก่อนจึงมีเพียงเสื่อ พรม และหมอนอิง เป็นอาทิ คนไทยเราน่าจะได้รับเอาเครื่องเรือนชนิดนี้มาจากชาวจีน เพราะคำว่า "เก้าอี้" ไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นคำในภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง ม้านั่ง ส่วนสำเนียงจีนกลางออกเสียงว่า "เกาอี่"เกาแปลว่าสูง อี่แปลว่าที่นั่ง รวมความคือ ที่นั่งสูง จึงเป็นไปได้ว่าคำ "เก้าอี้" ที่ไทยใช้ น่าจะเป็นคำเพี้ยนเสียงมาจาก เกาอี่ ของสำเนียงจีนกลาง หรือทับศัพท์สำเนียงแต้จิ๋ว เก้าอี้ ก็ได้
เก้าอี้ที่ใช้กันในระยะแรกเป็นเพียงม้านั่งธรรมดาอย่างที่ใช้กันตามร้านก๋วยเตี๋ยว ส่วนเก้าอี้ที่มีพนักพิงและที่เท้าแขนแพร่มาสู่ประเทศไทยในระยะหลัง (มีบันทึกว่าจีนรับเก้าอี้มีพนักพิงและที่เท้าแขนมาจากพวกแขกที่ติดต่อค้าขายด้วย) อย่างไรก็ตามคนไทยยังคงเรียกเครื่องเรือนทั้งสองลักษณะว่า "เก้าอี้" ตามคำในภาษาจีน
ขอบคุณ 108 ซองคำถาม
นิตยสาร สารคดี