เมื่อใช้ไม้บรรทัดของนักสิ่งแวดล้อมมาเป็นเกณฑ์วัด ภาพหูฉลามเส้นหนาๆ ที่ต้มเคี่ยวจนนุ่มเป็นเส้นหูฉลามสีทองในหม้อตุ๋นคงเป็นได้เพียงอาหารยอดแย่ที่สะท้อนภาพความโหดร้ายของมนุษย์ที่เข่นฆ่าเพื่อนร่วมโลกเพียงเพื่อแค่นำครีบของมันมาปรุงอาหารเป็นอาหารอันโอชะสนองความต้องการของมนุษย์ ทว่าเมื่อมองด้วยมาตรวัดของชาวจีน ซุปหูฉลามนั้นกลับเป็นยอดอาหารและดาวเด่นในมื้ออาหาร อีกทั้งยังเป็นเหมือนกระจกสะท้อนสถานะทางสังคมและการเงินของผู้ลิ้มรสอีกด้วย
Lisa Lau แม่บ้านชาวจีนในฮ่องกงเล่าว่า ตามธรรมเนียมจีน เมื่อแต่ละครอบครัวออกไปกินอาหารนอกบ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน หรือจะเลี้ยงเพื่อนฝูง ชาวจีนก็จะคัดสรรเลือกรับประทานอาหารดีๆ ซึ่งหลายๆครั้งเมนูเด็ดที่พลาดไม่ได้ก็คือ ซุปหูฉลาม
แม้ชาวตะวันตกจะบอกว่าเป็นอาหารที่จืดชืดไร้รสชาติ ไม่มีอะไรพิเศษ ซึ่งตรงกันข้ามกับชาวจีนกวางตุ้งที่เห็นว่าด้วยตัวซุปหูฉลามเองก็มีคุณค่าชวนให้ลิ้มลองอยู่แล้ว ส่วนเรื่องรสชาติเป็นเพียงเรื่องรอง
ในขณะเดียวกัน Tam Kwok King ผู้จัดการร้าน Fung Shing ภัตตาคารชื่อดังบนฝั่งเกาลูน ซึ่งคลุกคลีแวดวงการซื้อขายครีบฉลามเพื่อมาปรุงอาหารมากกว่า 50 ปี กล่าวว่า ซุปหูฉลามแต่ละหม้อสำหรับเสิร์ฟ 12 ที่ สนนราคาราว 1,080 ดอลล่าร์ฮ่องกง หรือกว่า 4,300 บาท ซุปหนึ่งถ้วยใช้ครีบฉลามประมาณ 30 กรัม
นอกจากนี้ Tam Kwok King กล่าวเสริมว่า เจ้าภาพจะเสียหน้ามาก ถ้าไม่เสิร์ฟซุปหูฉลามในงานเลี้ยง เพราะถือว่าเป็นการไม่เคารพและให้เกียรติแขกเหรื่อ
นอกเหนือจากราคาแพงหูฉี่และกรรมวิธีที่ต้องอาศัยความชำนาญและฝีมือในการเคี่ยวตุ๋นให้ได้เวลาพอเหมาะพอเจาะเพื่อให้ได้อาหารรสเลิศจานนี้ ซุปหูฉลามยังมีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพตามศาสตร์แพทย์จีนแผนโบราณ เพราะช่วยบำรุงกำลังและเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง โดยเฉพาะกระดูก
ในทางกลับกัน กว่าจะได้ซุปฉลามรสเลิศแต่ละถ้วย ก็ต้องแลกมาด้วยฉลามจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกสังเวยชีวิต ด้วยเหตุนี้นักสิ่งแวดล้อมจึงต่างรณรงค์ต่อต้านการตัดครีบฉลามอันเป็นวิธีการที่โหดร้ายทารุณ เพราะฉลามจะถูกจับขึ้นมาตัดครีบทั้งเป็น ก่อนจะโยนทิ้งลงทะเล และทรมานจนตายไปในที่สุด ซึ่งทำให้จำนวนฉลามลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้นักสิ่งแวดล้อมวิตกในเรื่องความสมดุลในระบบนิเวศน์ เพราะปริมาณผู้ล่าที่หายไป
Silvy Pun จากกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ในฮ่องกง เผยว่า เพื่อนๆของเธอส่วนใหญ่ต่างคิดว่าการรับประทานซุปหูฉลามนานๆครั้ง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่เธออธิบายว่า แม้จะบริโภคเป็นครั้งคราวก็ตาม ทว่าก็ขับเคลื่อนให้ชาวประมงต้องออกเรือนับไม่ถ้วนไปตระเวณล่าฉลามทั่วโลก และยังเสริมว่าเมื่อเทียบกับฉลามทั้งตัว เรารับประทานเพียงแค่ร้อยละ 2-5 ของตัวมัน ซึ่งต้องใช้เวลานับ 10 ปีกว่าจะโตเต็มวัย
แต่เมื่อมองผ่านมุมของนักมานุษยวิทยา Veronica Mak จากมหาวิทยาลัย Chinese University of Hong Kong อธิบายว่า ซุปหูฉลามมีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมทางอาหารของจีน ในขณะเดียวกันก็เป็นอาหารที่ต้องอาศัยทักษะและชั้นเชิงในการปรุงขั้นสูง และเป็นหน้าเป็นตาของผู้คนในสังคมจีนไม่เว้นแม้กระทั่งชนชั้นกลางหรือชนชั้นล่างเมื่อจัดงานเลี้ยงสำคัญๆ อีกทั้งยังเป็นเมนูที่ผู้คนปรารถนาจะได้ลิ้มรสสักครั้งในชีวิต ถึงขนาดมีคำกล่าวของชาวจีนกวางตุ้งว่า งานเลี้ยงจะไม่สมบูรณ์แบบหากไร้ซุปหูฉลาม
อย่างไรก็ตาม จากความต้องการที่ไม่หยุดหย่อนก็ทำให้ฮ่องกงยังคงเป็นศูนย์การค้าครีบฉลามแหล่งใหญ่ของโลก และทางการฮ่องกงได้เผยตัวเลขล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. 2552 ว่ามีการซื้อขายครีบฉลามถึง 9,000 ตัน โดยมีมูลค่าการซื้อขาย 1,900 ล้านเหรียญดอลล่าร์ฮ่องกง (7.6 พันล้านบาท) หรือคิดเป็นกิโลกรัมละ 200 เหรียญดอลลาร์ฮ่องกง (800 บาท) ซึ่งถนน Des Voeux Road West นับเป็นศูนย์ค้าอาหารทะเลอบแห้งทั้งปลีกและส่งแหล่งสำคัญของฮ่องกง
Kelvin Wong เจ้าของธุรกิจร้านอาหารทะเลอบแห้งเล่าว่า ความต้องการครีบฉลามมีมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะลูกค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ และเขาเองก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องความวิตกกังวลของเหล่านักสิ่งแวดล้อม และแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ชาวตะวันตกอาจจะไม่เข้าใจว่าซุปหูฉลามมีความสำคัญอย่างไรต่อวัฒนธรรมจีน อย่างไรก็ดี ก็ไม่ควรวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นเพียงเพราะว่าพวกเขารับประทานอาหารบางอย่างที่ชาวตะวันตกไม่รับประทาน
ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าความคิดเกี่ยวกับการบริโภคซุปหูฉลามกำลังเปลี่ยนไปในหมู่เด็กรุ่นใหม่ในเมือง She On Kuen พ่อค้าครีบฉลามอบแห้งเสริมว่า คนรุ่นใหม่ก็เลือกที่จะไม่เลี้ยงซุปหูฉลามในงานแต่งงานเนื่องด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม
ทว่าตัวเขาเองก็ไม่ได้ซาบซึ้งหรือเข้าถึงเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมอยู่ดี เขาเห็นว่า พวกเราในฐานะที่เป็นมนุษย์ต้องควบคุมจำนวนฉลาม เพราะมันเป็นสัตว์ที่อันตราย อีกทั้งยังกล่าวว่า ชาวตะวันตกคัดค้านการบริโภคซุปหูฉลามเพียงเพราะ (การล่าและตัดครีบฉลาม) เป็นเรื่องไร้มนุษยธรรม แต่พวกเขาก็ไม่เคยคิดว่าฉลามโหดร้ายไม่ต่างกันเมื่อมันจู่โจมกัดเรา
ที่มา สำนักข่าว AFP
แปลและเรียบเรียงโดย วิภาวี วิบูลย์ศิริชัย