พวกเขาเกิดในบ้านสวัสดิการ กินอาหารในร้านสวัสดิการ เรียนหนังสือในโรงเรียนสวัสดิการ สวดมนต์ในโบสถ์สวัสดิการ และเมื่อตายไปคงตกนรกสวัสดิการของบริษัท
พวกเขาเกิดในบ้านสวัสดิการ กินอาหารในร้านสวัสดิการ เรียนหนังสือในโรงเรียนสวัสดิการ สวดมนต์ในโบสถ์สวัสดิการ และเมื่อตายไปคงตกนรกสวัสดิการของบริษัทที่พวกเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกัน
ฟังดูเหมือนจะดี บริษัทอะไรหนอช่างเอาอกเอาใจลูกจ้างสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกจ้างมากมายจนถึงขนาดได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองที่น่าอยู่มากที่สุดในโลก หากแต่ภายหลังปรากฏว่าสวัสดิการเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจผูกขาดของพ่อมดนักลงทุน
จอร์จ พูลแมน (George Pullman) เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูงสุดคนหนึ่งของอเมริกา เขาเป็นผู้ปฏิวัติการเดินทางโดยรถไฟด้วยการสร้างขบวนรถที่ติดตั้งเครื่องอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารเหมือนพักอาศัยอยู่ในโรงแรมหรู บริษัทเดินรถไฟทั่วอเมริกาสั่งซื้อขบวนรถจากจอร์จเป็นจำนวนมาก
เพื่อให้การผลิตขบวนรถสร้างเสร็จทันกำหนดเวลาตามจำนวนใบสั่งซื้อ จอร์จจึงเกิดความคิดที่จะให้คนงานจำนวน 6,000 คนพักอาศัยใกล้กับโรงงานผลิตขบวนรถ คนงานจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาทำงานและสามารถทำงานล่วงเวลาได้ เขาตัดสินใจควักกระเป๋า 800,000 ดอลลาร์ซื้อที่ดิน 10,000 ไร่ติดกับโรงงานผลิตขบวนรถ สร้างเป็นเมืองขนาดย่อมชื่อ "เมืองพูลแมน" (Pullman Town)
สุดยอดวิศวกร
จอร์จ พูลแมน เกิดในเมืองบรอคตัน รัฐนิวยอร์ก ต่อมาครอบครัวได้ย้ายถิ่นอาศัยไปเปิดร้านรับทำผลิตภัณฑ์จากไม้เช่นตู้ใส่ของและหีบศพ ในเมืองอัลเบียน ซึ่งที่นี่เองบิดาของจอร์จได้รับงานย้ายบ้านจากสำนักงานเทศบาล มันไม่ใช่การย้ายบ้านอย่างที่เราๆเข้าใจ หากแต่เป็นการย้ายบ้านทั้งหลังจากที่เดิมไปตั้งบนที่ใหม่
รัฐนิวยอร์กเริ่มโครงการขุดคลองส่งน้ำอีรี่ (Erie Canal) เพื่อระบายน้ำจากทะเลสาบเกรทเลกส์ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก ปี1841 การขุดคลองดำเนินมาถึงเมืองอัลเบียน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องอพยพอาคารสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวขุดคลองออกจากพื้นที่ บิดาของจอร์จประดิษฐ์เกลียวเร่ง ทำการยกบ้านทั้งหลังขึ้นไว้บนรางเลื่อนแล้วลากไปตั้งบนที่แห่งใหม่ได้สำเร็จ
จอร์จเรียนรู้วิธีการดีดและยกบ้านจากบิดา เขาได้รับงานย้ายบ้านริมคลองอีรี่อีกครั้งเมื่อรัฐบาลต้องการขยายคลองในปี 1854 แต่สิ่งที่จอร์จทำนั้นยากกว่าที่บิดาเขาทำ เพราะอาคารส่วนใหญ่ไม่ใช่บ้าน หากแต่เป็นโกดังขนาดใหญ่
ความสำเร็จในการเคลื่อนย้ายอาคารขนาดใหญ่ 20 หลังทำให้จอร์จมีชื่อเสียง เขาได้รับการว่าจ้างให้เคลื่อนย้ายอาคารสำคัญๆหลายแห่งในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ในปี 1857 เนื่องจากชิคาโกมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่หน่วยงานของรัฐจะสร้างสาธารณูปโภครองรับได้ทัน
อาคารหลายหลังจะต้องถูกยกระดับให้สูงจากเดิมอย่างน้อย 180 ซม. เพื่อให้สูงกว่าถนนและท่อระบายน้ำที่กำลังจะก่อสร้าง เขายกตึกแถวทั้งบล็อกลอยขึ้นโดยที่ร้านค้ายังเปิดให้บริการ ยกอาคารทรีมอนต์เฮาส์ซึ่งเป็นทั้งที่ทำการพรรครีพับลิกันและโรงแรมขนาด 6ชั้น ลอยขึ้นโดยที่ยังมีแขกพักอยู่ในโรงแรม
ขบวนรถนอนมา
การเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทำให้จอร์จต้องเดินทางระหว่างรัฐเป็นประจำ เขารับรู้ถึงความทุกข์ทรมานจากการนั่งรถไฟเป็นเวลายาวนานหลายชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเดินทางระยะทางไกลข้ามวันข้ามคืน จอร์จเกิดความคิดว่ามันคงจะดีไม่น้อยหากมีเตียงนอนให้ผู้โดยสารรถไฟได้พักผ่อนอย่างเต็มที่
จอร์จออกแบบขบวนรถตู้นอน โดยมีเตียงพับได้ติดตั้งอยู่เหนือหน้าต่างขบวนรถ ในยามค่ำผู้โดยสารสามารถกางเตียงออกมาหลับนอน เมื่อถึงตอนเช้าก็พับเก็บเข้าที่ ทำให้การเดินทางระยะยาวมีความสะดวกสบายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จอร์จก่อตั้งบริษัทพูลแมน พาเลซ คาร์ (Pullman Palace Car) ในปี 1862 และเซ็นสัญญาผลิตขบวนรถตู้นอนให้กับบริษัทเดินรถไฟหลายแห่งในอเมริกา
จอร์จไม่ได้หยุดความคิดไว้เพียงแค่เตียงนอน เขาออกแบบขบวนรถไฟให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเทียบเท่ากับที่มีในโรงแรมระดับ 5 ดาว เช่นที่นั่งบุนวมอย่างดี พื้นปูพรม โต๊ะเล่นไพ่ บริการซักรีด ห้องอ่านหนังสือและแม้กระทั่งเคาน์เตอร์เซอร์วิสไว้คอยให้บริการผู้โดยสารระหว่างการเดินทาง
การเดินทางอย่างสุขสบายได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แม้ว่าราคาค่าโดยสารจะสูงกว่าปรกติถึง 5 เท่าตัว ทั้งนี้ เพราะช่วงเวลานั้นมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมายจากการพบเหมืองทองคำในแถบตะวันตก จอร์จซื้อบริษัทดีทรอยต์คาร์เพื่อขยายอาณาจักรและตัดไม่ให้มีคู่แข่งไปในคราวเดียวกัน
เมืองในฝัน
ปี 1880 จอร์จกว้านซื้อที่ดินจำนวน 10,000 ไร่ติดกับโรงงานผลิตขบวนรถไฟด้วยเงิน 800,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างเป็นที่พักอาศัยให้กับคนงาน 6,000 คน และเขาไม่ได้สักแต่ว่าสร้างขอไปทีแบบบ้านเอื้ออาทร อาคารทุกหลังออกแบบโดยโซลอน สเปนเซอร์ บีแมน (Solon Spencer Beman) สถาปนิกชื่อดังผู้ออกแบบอาคารสำคัญๆในชิคาโก ซึ่งปัจจุบันอาคารหลายหลังได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแลนด์มาร์ก
ชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่าพูลแมนทาวน์ ภายในเมืองมีแหล่งธุรกิจสำคัญๆเทียบเท่ากับเมืองใหญ่ๆเมืองหนึ่ง เช่น ตลาดสด ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ห้องสมุด โรงแรม โบสถ์ สถานีดับเพลิง โรงเลี้ยงม้า (สมัยนั้นยังใช้ม้าเป็นพาหนะในการเดินทาง) และมีแม้กระทั่งศาลาว่าการตั้งอยู่กลางเมือง รวมสิ่งปลูกสร้างทั้งสิ้นราว 1,300 หลัง
การพัฒนาที่ดินรกร้างให้กลายเป็นเมืองใหญ่ทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นกว่า 6 เท่าตัว หลังจากที่เมืองพูลแมนสร้างเสร็จ มันมีราคาประเมินสูงถึง 5 ล้านดอลลาร์ การมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและยังคงรักษาความเป็นธรรมชาติภายในเมืองเอาไว้ทำให้พูลแมนทาวน์ได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่เหมาะกับการอยู่อาศัยมากที่สุดในโลก
แต่จอร์จไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ หากแต่เป็นนักธุรกิจอย่างเต็มตัว เขาต้องหาผลประโยชน์กับการลงทุน การใช้บริการทุกสิ่งทุกอย่างภายในเมืองพูลทาวน์จะต้องเสียค่าใช้จ่าย การใช้ห้องสมุดต้องเสียเงินหรือแม้กระทั่งการใช้โบสถ์ บาทหลวงก็ต้องจ่ายค่าเช่า
อัฐยายซื้อขนมยาย
ค่าเช่าบ้านในเมืองพูลทาวน์สูงกว่าบ้านเช่าในเมืองใกล้เคียงพอสมควร จอร์จโฆษณาว่าคิดค่าเช่าเพียงห้องละ 3 ดอลลาร์ต่อเดือน หากแต่ในความเป็นจริงภายในอาคารที่พักอาศัยประกอบห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องกินข้าว เมื่อรวมค่าน้ำค่าไฟ ผู้เช่าจะต้องจ่ายมากถึง 29 ดอลลาร์ต่อเดือนในขณะที่ค่าเช่าบ้านขนาดเท่าๆกันในเมืองข้างเคียงเฉลี่ยอยู่ไม่เกิน 20 ดอลลาร์เท่านั้น
ลูกจ้างบริษัทพูลแมน พาเลซ คาร์ ตกอยู่ในสภาวะจำยอม ทั้งนี้ เพราะเป็นกฎของบริษัทที่ลูกจ้างจะต้องพักอาศัยอยู่ในเมืองพูลทาวน์เท่านั้น ผู้ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองพูลทาวน์จะถูกยกเลิกสัญญาจ้าง แต่เนื่องจากบริษัทจ่ายค่าจ้างให้สูงพอสมควร รายได้เฉลี่ยคนงานตกวันละประมาณ 2.26 ดอลลาร์ ซึ่งมากพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้านแล้วยังคงมีเงินเหลือเก็บ
สิ่งที่สร้างความอึดอัดให้กับผู้อยู่อาศัยคือกฎระเบียบที่เข้มงวด ห้ามดื่มสุรา ห้ามอ่านหนังสือพิมพ์ ห้ามชุมนุมในที่สาธารณะ ห้ามเรี่ยไรเงินเพื่อการกุศล ต้องรักษาบ้านเรือนให้สะอาดอยู่เสมอ หากตรวจพบบ้านหลังไหนปล่อยให้รกสกปรก จะถูกเชิญออกจากบ้าน ซึ่งหมายรวมถึงออกจากงานด้วยเช่นเดียวกัน
บรรดาลูกจ้างก็ยังคงทนอยู่ในเมืองพูลทาวน์ ทำงานได้เงินจากบริษัท จ่ายค่าเช่าบ้านให้บริษัท กินอาหารในร้านของบริษัท ดูภาพยนตร์ เลือกซื้อสินค้าข้าวของเครื่องใช้ในร้านของบริษัท ฯลฯ สรุปแล้วเงินเดือนที่รับมาจ่ายคืนให้บริษัทเกือบทั้งหมด
ยอมได้แต่ไม่ยอมเสีย
อเมริกาประสบสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 1893 บริษัทเดินรถไฟหลายแห่งยกเลิกคำสั่งต่อขบวนรถไฟ ทำให้รายได้ของบริษัทพูลแมน พาเลซ คาร์ ลดลงอย่างมหาศาล จอร์จเข้ามาแก้ไขวิกฤตการณ์ด้วยการลดจำนวนคนงาน เพิ่มเวลาการทำงาน และลดค่าจ้างลงกว่าครึ่ง จากรายได้เฉลี่ยวันละ 2.26 ดอลลาร์เหลือแค่เพียง 1.03 ดอลลาร์
ที่แย่ไปกว่านั้นคือจอร์จยังคงเก็บค่าเช่าบ้านในอัตราเดิม สินค้าและบริการทุกอย่างในเมืองพูลทาวน์ยังคงราคาเดิม ด้วยเหตุนี้เองคนงานบริษัทจึงตกอยู่ในสภาพหาเงินได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ในที่สุดพวกเขาก็อดรนทนไม่ไหว วันที่ 24 มิถุนายน 1864 คนงานรวมตัวกันนัดหยุดงานประท้วงแต่จอร์จก็ยังคงดื้อรั้นไม่ยอมเจรจากับคนงาน
สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดคือ คนงานของพูลแมน พาเลซ คาร์ เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานคนรถไฟอเมริกัน พวกเขาได้รับการสนับสนุนจากสหภาพแรงงาน คนรถไฟทั่วอเมริการาว 125,000 คนนัดหยุดงานประท้วง ส่งผลให้การเดินรถไฟสายหลัก 29 แห่งที่ใช้ขบวนรถผลิตโดยบริษัทพูลแมน พาเลซ คาร์ กลายเป็นอัมพาต
การประท้วงทวีความรุนแรงขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม เมื่อผู้ประท้วงเผาขบวนรถไฟของบริษัทพูลแมน พาเลซ คาร์ และอาคาร 7 หลังในเมืองชิคาโก ทรัพย์สินเสียหายเป็นมูลค่า 340,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 9 ล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน) วันที่ 7 กรกฎาคม รัฐบาลส่งกำลังทหาร 6,000 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3,100 นาย และตำรวจรัฐ 5,000 นายเข้ามาควบคุมสถานการณ์ การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 13 คน บาดเจ็บ 57 คน
ความสูญเสียทั้งหมดมีสาเหตุมาจากการที่นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้างมากเกินไป จอร์จถูกบังคับให้โอนกรรมสิทธิ์เมืองพูลทาวน์ให้เป็นของรัฐบาล แต่ความเกลียดชังที่มีต่อจอร์จ พูลแมน ยังคงฝังลึกอยู่ในใจของคนรถไฟ เขาเกรงว่าหลังจากตายไปร่างของเขาอาจถูกคนรถไฟรุมทึ้ง จอร์จจึงเขียนพินัยกรรมให้ฝังร่างเขาในหลุมก่อกำแพงอิฐเสริมเหล็กหนา 18 นิ้วรอบด้านแล้วเททับด้านบนด้วยคอนกรีตอีกชั้น
ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ศิลป์ อิศเรศ silp@watta.co.th