โรงพยาบาลพญาไท 1 ตั้งเป้าดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร นำเข้าหุ่นยนต์ช่วยฝึกเดิน และหุ่นยนต์ช่วยในการฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน รายแรกของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย พร้อมดูแลผู้ป่วยจากภาวะอ่อนแรงตามแขนขา่
ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1 เปิดเผยว่า ตามที่โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้มุ่งเน้นสร้างความแข็งแกร่ง และความโดดเด่น ด้วยการพัฒนานวัตกรรมทาง การรักษาให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลาประกอบกับการวางเป้าหมายในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร ซึ่งจากรายงานการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวการณ์อ่อนแรงของกล้ามเนื้อซึ่งเกิดจากสมองขาดเลือด การกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้เริ่มหัดเดินอย่างรวดเร็ว นุ่มนวล และต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสอันเป็นบทบาทที่สำคัญในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของสมอง
ดังนั้น โรงพยาบาลพญาไท 1 จึงได้นำเข้าหุ่นยนต์ช่วยฝึกเดิน และหุ่นยนต์ช่วยในการฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน เพื่อนำมาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอัมพาตหลังการรักษา ซึ่งหุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินนี้ ตัวเครื่องจะมีสายช่วยพยุงตัว และส่วนขาที่เป็นหุ่นยนต์จะช่วยให้คนไข้เดินได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมคุณภาพสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอัมพาต
เนื่องจากปัจจุบันเราต้องใช้นักกายภาพบำบัดในการช่วยดูแลผู้ป่วยเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีผู้คิดค้นประดิษฐ์หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดิน และหุ่นยนต์ช่วยในการฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน มาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย โดยหุ่นยนต์ฝึกเดินนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยฝึกเดินนานขึ้นอย่างเต็มที่ตามศักยภาพที่มี และกำหนดความเร็ว แรงพยุงตัวและ แรงที่หุ่นยนตร์ขาช่วยพยุงในการก้าวเดินให้ที่เหมาะสมกับคนไข้เฉพาะราย ขณะเดียวกันมีระบบคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลในการฝึกของผู้ป่วยแต่ละครั้งเพื่อนำไปพัฒนาในการรักษาต่อไป
สำหรับช่วงเวลาที่คนไข้ฝึกจะมีจอแสดงภาพในลักษณะของเกมให้เล่น เพื่อส่งเสริมการฝึกให้ได้ทักษะที่ต้องการ และสร้างแรงจูงใจในการฝึกสร้างความสนุกสนาน กำหนดเป้าหมายในการฝึกแก่คนไข้ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถตอบโจทย์สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเบื่อหน่ายในฝึก อีกทั้งยังมีระบบรักษาความปลอดภัยระหว่างฝึก มีเซนเซอร์จับการเกร็งต้านของกล้ามเนื้อเครื่องจะหยุดทันทีเพื่อป้องกันการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และมีอุปกรณ์พยุงตัวที่เเข็งแรงเพื่อป้องกันการล้ม
พญ.วรรณวดี กล่าวย้ำว่า การฟื้นฟูผู้ป่วยด้วยหุ่นยนต์นี้จะช่วยทำให้คนไข้โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังมีภาวะอ่อนแรงกล้ามเนื้อที่ไม่สามารถลุก เคลื่อนไหวร่างกายเองได้สามารถเข้าร่วมการฟื้นฟู ลดภาวะติดเตียง ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือด สมองตีบ เช่น การเกิดแผลกดทับ กล้ามเนื้อตึงรั้งและข้อยึดติด โรคกระดูกพรุน เป็นต้น โดยเครื่องนี้สามารถฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่มีปัญหาของระบบประสาทที่มีภาวะอ่อนแรง เช่น ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง กลุ่มประสาทไขสันหลังบาดเจ็บหรือถูกกดทับ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม โดยคนไข้ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ว่าไม่มีโรคที่เป็นอันตราย เช่น โรคหัวใจหรือโรคปอดชนิดรุนแรง ภาวะข้อติดเเข็ง เป็นต้น ส่วนการเตรียมตัวของคนไข้ก่อนที่จะใช้หุ่นยนต์ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารมาก่อนครึ่งชั่วโมง ใส่เสื้อผ้ารัดกุมเหมาะสำหรับการออกกำลังกาย และ สวมรองเท้าชนิดหุ้มส้น