กล่าวสำหรับ "คนเป่านกหวีด" ส่วนใหญ่แล้วเราจะเห็นได้ทั่วไปจากผู้ที่เป็น "กรรมการ"
ซึ่งหากย้อนกลับไปหาจุดเริ่มการใช้นกหวีดเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้นั้น ค้นคว้ามาได้ความว่า เริ่มต้นจาก ราล์ฟ เนเดอร์ (Ralph Nadar) นักกฎหมาย นักเขียน และนักต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ซึ่งมีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา
เนเดอร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2477 จบการศึกษาปริญญาแรกด้วยเกียรตินิยมจากพรินสตัน และปริญญาที่สองทางกฎหมายฮาร์วาร์ด ได้รับการยอมรับเข้าเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาเมื่อปี พ.ศ.2501 หลังจากนั้นได้จัดตั้งสำนักงานกฎหมายของตนเองที่เมืองฮาร์ทฟอร์ด เมืองหลวงของมลรัฐคอนเนคทิคัต และเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด ในระหว่างปี พ.ศ.2504-2506 ในฐานะผู้บรรยายวิชา "ประวัติศาสตร์กับรัฐบาล"
ครั้งหนึ่ง เขาเคยเป่านกหวีดดังลั่นในสภา เพื่อเป็นสัญญาณเตือนรัฐบาลที่เริ่มมีพฤติกรรมทุจริตในการบริหารบ้านเมือง ในปี พ.ศ.2513
จากนั้นก็เริ่มมีการใช้การเป่านกหวีดเป็นสัญลักษณ์ อีกหลายครั้ง เช่น องค์กรฟอลลิ่ง วิสเทิลส์ (Falling Whistles) ในคองโก นำนกหวีดมาใช้เป็นสัญลักษณ์การรณรงค์สันติภาพในประเทศ, ชาวโรมาเนียนับหมื่นเป่านกหวีดประท้วงรัฐบาลเรื่องค่าจ้างแรงงานต่ำ ในปี พ.ศ.2552 เป็นต้น
กระทั่งมาถึงที่ประเทศไทย ประชาชนซึ่งไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง ก็ได้แสดงออกด้วยการ "เป่านกหวีด"
ที่มา นสพ.มติชน