ศัพท์บางคำในภาษาไทยนั้น อาจมีความหมายได้หลายอย่าง และความหมายที่ต่างกันนั้นมักมีความเกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า "ทับทิม" หนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2416 ให้ความหมายไว้ว่า...
"พลอยแดง : เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่งดอกแดง ลูกกลมๆ กินดี : อนึ่งเป็นชื่อพลอยที่เขาทำหัวแหวนสีแดงๆ นั้น"
ชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยส่วนหนึ่งมีจุดประสงค์เพื่อมาซื้อพลอยแดงน้ำดีจากประเทศไทยที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "ทับทิมสยาม" นั่นเอง
เนื่องจากคนไทยคุ้นเคยกับทับทิมที่เป็นพลอยสีแดงมานาน เมื่อมีต้นไม้ต่างประเทศชนิดหนึ่ง ถูกนำเข้ามาปลูกในเมืองไทย และต้นไม้ชนิดนั้นมีเมล็ดซึ่งหุ้มด้วยเนื้อใสสีแดง มีเหลี่ยมมุมคล้ายพลอยสีแดง คนไทยจึงเรียกชื่อต้นไม้ต่างประเทศชนิดนั้นว่า "ทับทิม" ไปด้วย เพราะเป็นลักษณะเด่นที่จำได้ง่าย
หัวนอนปลายเท้าของต้นทับทิม
ต้นทับทิมมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Punica granatum linn. ภาษาอังกฤษเรียก Pomegranate, สเปนเรียก Granada, อินเดียเรียก Darim, ชาวเชียงใหม่และภาคเหนือทั่วไปเรียก มะก้อ ชาวน่านเรียก มะก่องแก้ว ชาวแม่ฮ่องสอนเรียก หมากจัง ชาวหนองคาย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่เรียก พิลา ชาวจีนเรียก เซี๊ยะลิ้ว ฯลฯ
สันนิษฐานว่า ทับทิมมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบทวีปเอเชียตะวันตก ติดกับทวีปยุโรปตอนใต้ และคงนิยมปลูกกันมานานหลายพันปีแล้ว จึงแพร่กระจายออกไปมากมาย ทั้งในเขตร้อน (tropical) และกึ่งร้อน (Sub-tropical) ของทวีปเอเชียและทวีปยุโรป รวมทั้งทวีปแอฟริกา
ทับทิมเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงประมาณ 6-10 ฟุต ทรงพุ่มโปร่ง มีหนามแหลมตามกิ่งก้าน ใบเดี่ยวขนาดเล็ก รูปใบยาวปลายแหลม ยาว 3-4 เซนติเมตร ดอกสีแดงหรือสีขาว ผลค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-10 เซนติเมตร เมื่อแก่จัดเปลือกผลสีเหลืองอมแดงหรือน้ำตาลอมส้ม ผิวมักแตก ออกเห็นเมล็ดใสอยู่ภายในมากมาย เมล็ดมีเนื้อใสสีแดงหรือสีชมพูหุ้มอยู่แยกแต่ละเมล็ด เนื้อทับทิมมีน้ำมาก รสหวานหรือเปรี้ยวอมหวาน มีทับทิมอีกชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กมาก เรียกว่า ทับทิมหนู (Punica granatum Var.nana Pere) สูงเต็มที่ไม่เกิน 4 ฟุต มีดอกสีแดงดกตลอดปี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ
ความเชื่อและตำนาน
ชาวกรีกโบราณเชื่อว่า ต้นทับทิมเกิดจากโลหิตของไดโอนีซุส (Di-onysus) ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งเทพเจ้าทั้งปวงและเทวีนาน่า(Nana) ซึ่งเป็นพรหมจารีย์ ตั้งครรภ์ขึ้นโดยการสอดใส่ผลทับทิม และให้กำเนิดเทพเจ้าแอตติส (Attis) ขึ้น ดังนั้น ผู้ที่เคารพนับถือเทพแอตติสจึงไม่กินผลทับทิม ชาวยิวในสมัยพระเจ้าโซโลมอนก็ถือว่า ทับทิมเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏอยู่บนยอดเสาของวิหารกษัตริย์โซโลมอน ชาวฮินดู ในอินเดียเชื่อว่า พระคเณศทรงโปรดทับทิม ผู้ที่เคารพพระคเณศจึงนิยมนำผลทับทิมไปถวาย นอกจากนี้ ยังใช้ดอกทับทิมบวงสรวงบูชาพระอาทิตย์ พระนารายณ์ และเทวีลักษมี อีกด้วย
ชาวจีนถือว่า ต้นทับทิมเป็นไม้มงคล (โดยเฉพาะทับทิมชนิดดอกสีขาว) และถือว่าทับทิมเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ความมีลูกหลานมากมาย (เนื่องจากผลทับทิมมีเมล็ดมาก) จึงนิยมให้ผลทับทิมเป็นของขวัญแก่บ่าวสาวในพิธีแต่งงาน (เพื่อให้มีลูกหลานมากๆ) ในพิธีแต่งงานนิยมปักยอดทับทิมไว้ที่ผมเจ้าสาว และปักยอดทับทิมไว้ที่สิ่งของเซ่นไหว้เจ้า ชาวจีนยังเชื่อว่า ใบหรือกิ่งทับทิมมีอำนาจไล่ภูตผีปีศาจได้ จึงนิยมปลูกทับทิมไว้ในบริเวณบ้าน และใช้ใบทับทิมแช่น้ำล้างหน้า ล้างมือ หลังกลับจากงานศพ (เพื่อมิให้ปีศาจติดตามมา)
ในญี่ปุ่นคงรับความเชื่อเกี่ยวกับทับทิมไปจากจีน กลายเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแม่ที่คอยปกป้องรักษาเด็กๆ ให้ปลอดภัย และเชื่อว่าเมื่อเด็กๆ ได้กินผลทับทิมแล้วจะปลอดภัยจากภูตผีปีศาจทั้งปวง ชาวไทยก็คงได้รับถ่ายทอดความเชื่อเกี่ยวกับทับทิมมาจากชาวจีนบ้าง ดังปรากฏว่า มีศาลเจ้าหลายแห่งในประเทศไทย ชื่อเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งคงจะเป็นเจ้าแม่ที่มีกำเนิดจากประเทศจีนแล้วเปลี่ยนเป็นชื่อไทยทีหลัง
ประโยชน์ด้านต่างๆ ของทับทิม
เมล็ดทับทิมมีเนื้อหุ้มใสสีแดงเข้มเป็นประกายนั้น มองดูคล้ายพลอยแดงน้ำดีที่เจียระไนแล้ว สมกับที่มีผู้ยกย่องทับทิมว่าเป็น "อัญมณีแห่งผลไม้" นอกจากความงดงามแล้ว รสชาติของทับทิมยังดีเยี่ยมอีกด้วย น้ำคั้นจากผลทับทิมดื่มแล้วสดชื่นแก้กระหายน้ำได้ดีมาก เพราะมีทั้งน้ำตาลและกรดที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกรดแอสคอร์บิกหรือวิตามินซี ซึ่งช่วยรักษาโรคลักปิดลักเปิดด้วย เนื่องจากทับทิมเป็นต้นไม้ที่มีคุณสมบัติด้านสมุนไพรที่เด่นมากชนิดหนึ่ง สามารถนำเอาส่วนต่างๆ มาทำยารักษาโรคได้หลายชนิด เป็นที่รู้จักดีในกลุ่มคนหลายกลุ่มมาแต่โบราณกาล เช่น ชาวอียิปต์ และชาวฟีนีเซี่ยน เมื่อหลายพันปีมาแล้วก็ใช้ทับทิมเป็นสมุนไพร ต่อเนื่องมาถึงกลุ่มชนอื่นๆ เช่น
ชาวอาหรับ ใช้เปลือกรากทับทิมสดๆ ต้มน้ำ ใช้ดื่มถ่ายพยาธิตัวตืด ใช้เปลือกผลทับทิม (ผสมกานพลูและฝิ่น) รักษาโรคบิดและท้องร่วงอย่างแรง เปลือกจากลำต้นทับทิม ต้มน้ำใช้ถ่ายพยาธิชนิดต่างๆ ร่วมกับยาถ่าย
ชาวฮินดู ใช้น้ำคั้นจากผลทับทิม และดอกทับทิม ปรุงยาธาตุ ใช้สมานลำไส้ แก้ท้องเสีย เมล็ดทับทิมแก้ท้องเสีย ใช้บำรุงหัวใจ
ชาวไทย ทับทิมทั้งต้นหรือทับทิมทั้ง 5 ; ใช้เป็นยาระบาย หรือถ่ายพยาธิเส้นด้ายและตัวตืด
เปลือก ราก และเปลือกต้น ; ใช้ถ่ายพยาธิตัวตืด, ไส้เดือน, เส้นด้าย และฝาดสมาน
ใบ ; สมานแผล แก้ท้องร่วง อมกลั้วคอ ทำยาล้างตา
ดอก ; ใช้ห้ามเลือด
เปลือกผล ; สมานแผล แก้บิด แก้ท้องร่วง (มีแทนนิน) ร้อยละ 22-25
เนื้อหุ้มเมล็ด ; แก้กระหายน้ำ แก้โรคลักปิดลักเปิด
น่าสังเกตว่า ชาวไทยใช้ประโยชน์จากทับทิมด้านสมุนไพรมากกว่าชาติอื่นๆ และผลทับทิมในประเทศไทยได้รับความนิยมน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อาจเป็นเพราะว่าพันธุ์ทับทิมที่มีอยู่ในประเทศไทยยังมิใช่พันธุ์ที่ให้ผลคุณภาพดีเยี่ยมสำหรับการบริโภคเป็นผลไม้
หากชาวไทยนำพันธุ์ทับทิมคุณภาพดีเข้ามาปลูก หรือปรับปรุงพันธุ์ทับทิมของเราให้ดีเท่าเทียมกับพันธุ์คุณภาพดีที่มีอยู่ในโลก เชื่อว่าคนไทยนิยมปลูกและบริโภคทับทิมไม่น้อยกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ เป็นแน่
ขอบคุึณเนื้อหา sanook.com