รัฐช่วยมนุษย์ เงินเดือน ลดเก็บภาษี 5-50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมปรับช่วง รายได้เพิ่มเป็น 7 ขั้น เผยเฉลี่ยฐานเงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องเสียภาษี เงินเดือน 30,000 บาท เดิมเสีย 12,000 บาท ลดเหลือ 6,000 บาท รายได้ 40,000 บาท เหลือ 16,500 บาท รมช.คลังระบุแม้ทำให้รัฐเสียรายได้ 2.7 หมื่นล้าน แต่เป็นการช่วยเหลือประชาชน ให้มีผลชำระภาษีประจำ 2556 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2557
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นางเบญจา หลุยเจริญ รมช.คลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.ลดอัตราภาษีรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (มาตรการปรับปรุงบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา) เพื่อให้การชำระภาษีประจำปี 2556 ตั้งแต่ 1 ม.ค.2557 บุคคลธรรมดาลดลงเหลือร้อยละ 35 ของรายได้สุทธิต่อปี จากเดิมร้อยละ 37 ของรายได้สุทธิต่อปี และสำหรับขั้น (ช่วงรายได้) รายได้ในการคำนวณรายได้จะเพิ่มเป็น 7 ขั้นจากเดิมมี 5 ขั้น ซึ่งการคำนวณภาษีใหม่นี้จะทำให้ผู้มีรายได้น้อยได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะขั้นในการคำนวณภาษีถี่ขึ้น ส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยเสียชำระภาษีในอัตราลดลง โดยอัตราภาษีที่ลดลงในอัตราใหม่ จะทำให้อัตราการเสียภาษีลดลงอีกร้อยละ 5-50 จากอัตราภาษีเดิม
"อัตราภาษีใหม่ที่มีความละเอียดในแต่ละ ขั้นการชำระภาษี ส่งผลให้รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่สำหรับรัฐบาลถือว่าไม่มีปัญหา เพราะประโยชน์จะกลับคืนสู่ประชาชนผู้เสียภาษีของไทย ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ" นางเบญจากล่าว
นางเบญจากล่าว อีกว่า สำหรับรายละเอียดตามบันได 7 ขั้นนั้น ผู้มีรายได้ระหว่าง 0-300,000 บาทแรกจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของรายได้สุทธิต่อปี โดยที่รัฐบาลยังคงยกเว้นภาษีสำหรับผู้มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทแรกตามเดิม ส่วนผู้มีเงินได้สุทธิระหว่าง 300,001 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท จะถูกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 10 เท่ากับอัตราเดิมผู้มีเงินได้สุทธิช่วง 500,001 ถึง 750,000 บาท เสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ลดลงจากอัตราเดิมร้อยละ 20 ผู้มีเงินได้สุทธิ 750,001 บาทถึง 1 ล้านบาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 20 เท่าเดิม ผู้มีเงินได้สุทธิ 1,000,001 บาทถึง 2 ล้านบาท เสียภาษีอัตราร้อยละ 25 ลดลงจากอัตราร้อยละ 30 ผู้มีเงินได้สุทธิ 2,000,001 บาทถึง 4 ล้านบาท เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30 เท่ากับอัตราเดิม และผู้มีเงินได้สุทธิตั้งแต่ 4,000,001 ขึ้นไปเสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 ลดลงจากอัตราปัจจุบันที่เสียไว้ร้อยละ 37
ทั้งนี้การเสีย ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 ม.ค.2557 ผู้ที่มีรายได้อยู่ในขั้นที่ 1 ผู้มีเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี มีทั้งสิ้น 6.5 ล้านคน ผู้มีรายได้ 300,001-500,000 บาท มีผู้เสียภาษีทั้งสิ้น 1.4 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 4 ล้านบาท มีเพียง 2 หมื่นคน โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน จะได้ประโยชน์จากการเสียภาษีดังนี้ สำหรับฐานเงินเดือน 20,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 240,000 บาท (ยังไม่หักค่าลดหย่อน) ไม่ต้องเสียภาษี อัตราเงินเดือน 30,000 บาท หรือรายได้ต่อปี 360,000 บาท เดิมต้องเสียภาษี 12,000 บาท แต่อัตราภาษีใหม่ ลดลงร้อยละ 50 เหลือ 6,000 บาท ผู้มีรายได้ 40,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 480,000 บาท เดิมเสียภาษี 24,000 บาท ลดลงร้อยละ 31.25 เหลือ 16,500 บาท
สำหรับผู้มีรายได้ 50,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 600,000 บาท เดิมเสียภาษี 37,000 ลดลงร้อยละ 21.62 เหลือชำระภาษี 29,000 บาท ผู้มีรายได้ 80,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 960,000 บาทเดิมเสียภาษี 109,000 ลดลงร้อยละ 18.35 เหลือชำระภาษี 89,000 บาท ผู้มีรายได้ 100,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 1,200,000 บาทเดิมเสียภาษี 168,000 ลดลงร้อยละ 15.18 เหลือชำระภาษี 142,500 บาท ผู้มีรายได้ 120,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 1,440,000 บาท เดิมเสียภาษี 240,700 ลดลงร้อยละ 15.63 เหลือชำระภาษี 202,500 บาท ผู้มีรายได้ 150,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 1,800,000 บาท เดิมเสียภาษี 348,000 ลดลงร้อยละ 15.95 เหลือชำระภาษี 292,500 บาท ผู้มีรายได้ 200,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 2,400,000 บาท เดิมเสียภาษี 528,700 ลดลงร้อยละ 13.26 เหลือชำระภาษี 458,000 บาท ผู้มีรายได้ 250,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 3,000,000 บาท เดิมเสียภาษี 708,000 ลดลงร้อยละ 9.89 เหลือชำระภาษี 638,000 บาท
ผู้มีรายได้ 300,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 3,600,000 บาท เดิมเสียภาษี 888,000 บาท ลดลงร้อยละ 7.88 เหลือชำระภาษี 818,000 บาท ผู้มีรายได้ 350,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 4,200,000 บาท เดิมเสียภาษี 1,075,700 บาท ลดลงร้อยละ 6.71 เหลือชำระภาษี 1,003,500 บาท ผู้มีรายได้ 400,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 4,800,000 บาท เดิมเสียภาษี 1,297,700 บาท ลดลงร้อยละ 6.49 เหลือชำระภาษี 1,213,500 บาท และผู้มีรายได้ 800,000 บาทต่อเดือน หรือรายได้ต่อปี 9,600,000 บาท เดิมเสียภาษี 3,073,700 บาท ลดลงร้อยละ 5.86 เหลือชำระภาษี 2,893,500 บาท เป็นต้น
ที่มา : www.khaosod.co.th