อานุภาพแห่ง “ไห่เยี่ยน” ร้ายแรงอย่างไร และทำไม ?

 

 

 

อานุภาพแห่ง “ไห่เยี่ยน” ร้ายแรงอย่างไร และทำไม ?

 

 

โศกนาฏกรรมที่จังหวัดเลย์เต ประเทศฟิลิปปินส์ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เราได้มีโอกาสทบทวนความรู้เกี่ยวกับพายุหมุนกัน ว่ากันตั้งแต่เรื่องชื่อเรียกเรื่อยไปจนถึงสาเหตุที่ทำให้ “ไห่เยี่ยน” หรือ “โยลันดา” กลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ทรงอานุภาพที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกกันไว้ในประวัติศาสตร์

ชื่อเรียกกลางๆ อย่างเป็นทางการของพายุหมุนก็คือ “พายุหมุนเขตร้อน” (ทรอปิคอล ไซโคลน) แต่เรียกขานแตกต่างกันออกไป อย่างเช่นถ้าหากเกิดในทะเลแคริบเบียน, มหาสมุทรแอตแลนติก หรือมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกเฉียงเหนือ จะเรียกว่า เฮอริเคน แต่ถ้าหากเกิดในแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ก็จะเรียกว่าไต้ฝุ่น แต่ถ้าเป็นในพื้นทะเลแถบอ่าวเบงกอล หรือ ทะเลอาหรับ ก็จะเรียกว่า ไซโคลน

ระดับความรุนแรงของกระแสลมจะเป็นเครื่องชี้ว่าเป็นพายุหมุนเขตร้อนหรือไม่ ระดับความรุนแรงดังกล่าวเริ่มต้นตั้งแต่ การเป็นพายุโซนร้อน (ทรอปิคอล สตอร์ม) ที่ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นต้นไป แต่ถ้าขยับรุนแรงขึ้นตั้งแต่ 119 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงนับเป็นพายุหมุนเขตร้อน

พายุหมุนเขตร้อนถ้าหากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตร จะหมุน “ทวน” เข็มนาฬิกา แต่ถ้าต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตรลงมาจะหมุน “ตาม” เข็มนาฬิกา

ในพื้นที่แต่แห่งมี “ฤดูกาลเกิดพายุ” แตกต่างกันออกไป เช่น แถบแอตแลนติกและแปซิฟิกตอนกลาง จะเกิดชุกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-30 พฤศจิกายน ทางฟากตะวันออกของแปซิฟิก ระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-30 พฤศจิกายน เป็นต้น

 

 

พื้นที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก (สถานที่เกิดไห่เยี่ยน) ถือเป็นพื้นที่ที่เกิดพายุหมุนเขตร้อนชุกชุมที่สุด ในปีปกติทั่วไป จะมีประมาณ 27 ลูก ไห่เยี่ยนเป็นลูกที่ 28 ของฤดูกาล โดยมีโพดอลเป็นลูกที่ 29 ส่วนในพื้นที่แอตแลนติก ปกติจะมีพายุราว 11 ลูกต่อปี

ชื่อของพายุนั้นถูกกำหนดโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) นำมาเรียกชื่อพายุตามลำดับตัวอักษร ที่น่าสนใจก็คือ พายุที่สร้างความเสียหายรุนแรง จะถูกถอดออกจากรายการชื่อพายุ อย่างเช่น แคทรีนา ก็ถูกปลดระวางไปแล้ว “ไห่เยี่ยน” ก็คงในทำนองเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันความสับสนในการอ้างอิงถึงในภายหลัง

ในทางอุตุนิยมวิทยา เขาวัดความรุนแรงของพายุได้โดยอาศัยเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ดโวรัค” (Dvorak ออกเสียงว่า ดะ-โว-รัค) ดโวรัคเป็นทั้งเทคนิคและเป็นทั้งชื่อเรียกมาตรวัด หรือสเกล ความรุนแรงของพายุเริ่มตั้งแต่ 0 เรื่อยไปจนถึงสูงสุดคือ 8.0 ตามมาตรวัดดังกล่าวนี้ ดีเปรสชั่น หรือหย่อมความกดอากาศต่ำ เรื่อยไปจนถึงพายุโซนร้อน จะอยู่ในระดับ 2.0 ขึ้นไป แต่ถ้าระดับ 3.5 เรื่อยไป ก็จะจัดเป็นพายุหมุนเขตร้อน

“ดโวรัค” อาศัยภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของพายุ ศึกษาคุณลักษณะของความโค้ง, การหมุน, ตาพายุ, ส่วนที่เรียกว่า ซีดีโอ (เซนทรัล เดนส์ โอเวอร์คาสต์), เอ็มเบดเด็ด เซนเตอร์ แพทเทิร์น หรือเซนทรัล โคลด์ โคฟเวอร์ แพทเทิร์น ในการประเมินความรุนแรงของพายุ เช่นเดียวกับความต่างของอุณหภูมิระหว่างส่วนที่เป็น “ตาพายุ” (ความกดต่ำ อุณหภูมิสูง) และส่วนที่เป็นกำแพงเย็นรอบนอก ซึ่งยิ่งต่างกันมากเท่าใด พายุยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

 

 

ตามสเกลดโวรัค ความรุนแรงของพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนสูงทะลุกราฟเลยทีเดียว คืออยู่ในระดับ 8.1 ซึ่งก่อให้เกิดแรงกดอากาศเกินกว่า 858 มิลลิบาร์ ซึ่งเป็นระดับแรงกดของพายุหมุนเขตร้อนระดับ 8.0 ที่เคยเห็นกันมา คือสูงถึง 895 มิลลิบาร์ สูงกว่าไต้ฝุ่น “ทิป” ที่เคยจัดว่าเป็นไต้ฝุ่นที่ทรงอานุภาพที่สุดเมื่อปี 1979 ที่วัดได้แค่ 870 มิลลิบาร์เท่านั้นเอง

ความเร็วลมของพายุไห่เยี่ยนสูงถึง 314 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่น่าแปลกกว่าไต้ฝุ่นทั่วไปซึ่งจะถึงจุดแรงสูงสุดก่อนหน้าเข้าถึงฝั่ง และจะลดความแรงลงทันทีที่ถึงฝั่ง ไห่เยี่ยนกลับบรรลุถึงจุดรุนแรงสูงสุดเมื่อขึ้นฝั่งพอดี

ข้อสังเกตที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ทำให้ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนกลายเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดก็คือ โดยปกติบริเวณกำแพงกรวยพายุจะเกิดอาการ “ขาดวิ่น” ขึ้นและจะพยายามก่อตัวให้ปิดกลับอีกครั้งเพื่อรักษาความแรงของพายุไว้ วัฏจักรของการขาดและการดึงกลับมาใหม่นี้นี่เองที่ทำให้พายุอ่อนกำลังลงเรื่อยๆ

แต่ในกรณีของไห่เยี่ยนกลับตรงกันข้ามผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ความเร็วลมของมันแรงเสียจนปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกำลังพายุ

และทำให้มันยิ่งทวีกำลังแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับของเวลาที่ผ่านไปจนกระทั่งถล่มพื้นดินแล้วนั่นเองจึงอ่อนโทรมลง

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

Credit: http://news.tlcthai.com/
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...