กีย์ เดอ โซลิอาร์ค : แดจังกึมแห่งยุโรป

ภาพยนตร์ “แดจังกึม” หมอหลวงแห่ง ราชสำนักเกาหลีได้สร้างความประทับใจ อย่างใหญ่หลวงแก่ผู้ชมทั้งเอเชียและทั่วโลก โดยเฉพาะในเหตุการณ์ตอนหนึ่ง ซึ่งเกิดโรคระบาดในหมู่บ้านชนบท ขณะที่ผู้คนพากันอพยพหนีจนทางการต้องสั่งปิดหมู่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาด แต่แดจังกึมกลับอยู่เฝ้าพยาบาลเด็กชายผู้ป่วยอย่างไม่เกรงกลัวการติดเชื้อ และในที่สุดก็พบวิธีการรักษาเอาชนะโรคร้ายได้


เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นในอดีตของยุโรปเช่นกัน แต่ครั้งนั้นการระบาดของโรครุนแรงกว่าอย่างเปรียบมิได้ เพราะผู้คนล้มตายถึง 25 ล้านคน และหมอผู้ต่อสู้ กับโรคร้ายอย่างทรหดจนได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษมีนามว่า กีย์ เดอ โชลิอาร์ค



ในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 คือปี ค.ศ. 1347 กองทัพมองโกลอันเกรียงไกรได้ยกมารุกรานยุโรปและปิดล้อมเมืองท่าแคฟฟาชายฝั่งทะเลดำ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางค้าขายไปสู่อิตาลี แต่ตีไม่สำเร็จ เพราะทหารมองโกลเกิดป่วยตายกันมากมาย ข่านฮานิเบก ผู้เป็นแม่ทัพก็เลยถอนกำลัง แต่ก่อนจะกลับได้สั่งให้เอาศพทหารใส่เครื่องยิงก้อนหิน แล้วดีดข้ามกำแพงเข้าไปในเมืองแคฟฟา หมายทำลายล้างชีวิตพลเมืองด้วยเชื้อโรค


เมื่อศึกสงบ เรือสินค้าจากแคฟฟาก็ขนเครื่องเทศไปยังเมืองท่าเยนัวของอิตาลี แต่พวกเขาหารู้ไม่ว่า ได้ขนเอาทูตมรณะติดไปด้วย นั่นคือหนู ซึ่งหลบอาศัยอยู่มากมายในเรือ และงอมแงมไปด้วยเชื้อ...กาฬโรค!

พอขึ้นบก เหล่าหนูก็แพร่กระจายไปตามท้องถิ่นแล้วก็ตาย จากนั้นผู้คนก็ล้มตายตาม ภายในเวลาแค่สิบปี กาฬโรคก็ระบาดทั่วยุโรปราวกับไฟไหม้ป่า คร่าชีวิตชาวยุโรปเป็นจำนวนมหาศาล ราษฎรอิตาลีถูกฝังไปครึ่งประเทศ กรุงเวียนนาของออสเตรียมีอัตราตายวันละ 700 คนติดต่อกันหลายปี เก้าในสิบของชาวลอนดอนสูญชีวิตด้วยโรคนี้ เยอรมันซึ่งนับว่าอัตราตายต่ำกว่าประเทศอื่นก็ยังสูญเสียประชากรถึง 1.2 ล้านคน ใน ค.ศ. 1348 แค่ปีเดียว


แต่ไอซ์แลนด์และไซปรัส คนเดียวก็ไม่เหลือ !!

อาการของโรคร้ายนี้เริ่มจากปวดหัว เป็นไข้ หนาวสั่นวิงเวียนคลื่นเหียน หัวฝีดำแข็งปรากฏบริเวณขาหนีบและใต้รักแร้ ต่อมน้ำเหลืองบวม สร้างความเจ็บปวดรุนแรง มันจะกลายเป็นสีดำ และบวมปูดขนาดเท่ากำปั้น จึงได้รับสมญาว่า มรณะมืด (THE BLACK DEATH) สุดท้ายคนไข้ก็กระอักเลือดและตายในเวลาไม่เกิน 3 วัน

ประดาหมอทั่วยุโรปหมดหนทางรักษา ขนาด คาลิน เดอ วินาริโอ หมอที่เก่งที่สุดแห่งยุคยังยอมรับว่า...คนที่เป็นโรคนี้ต้องตายสิ้น

หลายคนจึงหันไปพึ่งไสยศาสตร์ เช่น ฆ่าวัวบูชายัญแด่เทพเจ้า ใช้แส้เฆี่ยนตีตนเองไปตามท้องถนน ด้วยเชื่อว่าการระบาดเกิดจากความผิดบาปของมนุษย์ พระเจ้าจึงลงโทษ

บ้างก็หาวิธีรักษาแบบพิสดารสุดแต่จะสรรหาคิดค้นขึ้นมาได้ เช่น สร้างกลิ่นเหม็นเพื่อขับไล่มรณะมืด ด้วยการเอาอึมาทาตัวบ้าง เอาแพะตัวเหม็นไปร่วมอยู่ในห้องนอนบ้าง บางคนถึงกับเสี่ยงโดยกินหนองจากหัวฝีที่สุกงอม!



แต่โรคร้ายก็ไม่ทุเลาลง เหล่าผู้มั่งมีต่างหลีกลี้หนีไปอยู่คฤหาสน์ในชนบทที่ปลอดจากกาฬโรค เหล่าคนยากในเมืองใหญ่ยังคงล้มตายเกลื่อนกลาดบนท้องถนน ไม่ว่าจะที่ลอนดอน ปารีส โรม เบอร์ลิน สัปเหร่อเข็นรถกระบะบรรทุกซากศพที่สุมอยู่ดั่งกองฟืน

ความตายปรากฏทุกหนแห่งจนผู้คนเกิดอาการวิกลจริต พากันกระโดดโลดเต้นเหยียบย่ำศพบนถนนจนสิ้นแรงล้มตายเอง เรียกกันว่า เต้นมฤตยู (THE DANCE OF DEATH)


แต่ในท่ามกลางความสิ้นหวังนี้ ก็ยังเหลือบุรุษผู้หนึ่งซึ่งไม่ย่อท้อต่อการต่อสู้กับโรคร้าย

กีย์ เดอ โชลิอาร์ค (GUY DE CHAULIARC) เป็นหมอผ่าตัดประจำพระองค์กษัตริย์ฟิลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส รวมทั้งดูแลโป๊ปคลีเมนต์ที่ 6 ซึ่งประทับอยู่ที่อาวิยอง, ฝรั่งเศสด้วย โชลิอาร์คได้รับการฝึกฝนจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญที่สุดของยุโรป ณ ศาสนสถานแห่งมองต์เปลิเยร์ ทำให้เขาเป็นหมอที่ปราดเปรื่อง อาทิ นำเอาวิธีใช้ปลิงดูดเลือดเสียจากร่างผู้ป่วยมารักษาไข้


ต้นฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 1348 กาฬโรคเริ่ม ระบาดเข้าสู่ปากแม่น้ำโรนและสู่อาวิยอง ที่พำนักของโป๊ป ทำให้โชลิอาร์คทูลให้ทรงลี้ภัย แต่โป๊ปคลีเมนต์ที่ 6 ทรงปฏิเสธที่จะทิ้งวัง เชื้อโรคแพร่สะพัด ต่อไปปารีส ที่นั่น...คนครึ่งเมืองกำลังล้มตาย



เหล่าหมอทั้งหลายยุติการตรวจรักษาคนไข้ เพื่อป้องกันชีวิตตนเองให้อยู่รอด ทว่า โชลิอาร์ค ทำในสิ่งตรงกันข้าม

เขานำวิชาการที่เรียกได้ว่าทันสมัยแม้ในปัจจุบัน นั่นคือเมื่อเขาไม่อาจรู้ได้ถึงสาเหตุของโรค เขาจึงอุทิศตนเข้าคลุกคลีดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด แล้วเขียนบันทึกถึงสิ่งซึ่งได้สังเกตเห็น

ในบันทึกอันทรงคุณค่าของเขานั้น โชลิอาร์ค ได้ระบุถึงลักษณะอาการป่วยอย่างละเอียดทุกขั้นตอน (แดจังกึมก็ใช้วิธีนี้) พร้อมทั้งลงคำแนะนำวิธีการรักษาที่เขาคิดว่าน่าจะได้ผลที่สุด

ว่ากันว่า ในฤดูร้อนปี ค.ศ. 1348 โชลิอาร์ค ได้เสนอแนะโป๊ปถึงการนำเอาไฟมาใช้ในการป้องกันโรค โดยเอากระถางใบใหญ่ใส่น้ำมันและฟืน วางตั้งไว้สี่มุมรอบบัลลังก์ของโป๊ป แสงเพลิงที่โชติช่วงจะช่วยพิทักษ์มิให้เชื้อโรคกล้ำกรายเข้ามาได้


แม้จะประทับอยู่ท่ามกลางความร้อนระอุ แต่ดูเหมือนความร้อนและควันจะช่วยทำลายล้างสิ่งสกปรกโสโครกรวมทั้งเชื้อโรคอย่างได้ผล เพราะ...โป๊ปทรงรอดพ้นจากโรคร้าย

ชนชาติที่เคราะห์ร้ายที่สุดจากมรณะมืดก็คือยิว พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวบาปที่พระเจ้าทรงพิโรธและบันดาลให้เกิดภัยพิบัติครั้งนี้ อันที่จริงเป็นการหาเรื่องกับยิวแท้ๆ เนื่องจากความกลัว ความสับสน ความโศกเศร้าที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนหาทางออกเพื่อระบายอารมณ์ และก็มาลงที่ชาวยิวเป็นแพะรับบาป (ตลอดกาล)


ผลก็คือยิวถูกเข่นฆ่าสังหารอย่างมโหฬารในทุกหนแห่ง

เฉพาะในวันวาเลนไทน์ปี 1349 ประชากรเมือง สตาร์สบวร์กพากันล้อมกรอบจับยิวเผาทั้งเป็นถึงสองพันคน

ฤดูหนาวปี ค.ศ. 1349 คริสเตียนในเยอรมัน ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ ตัดขาดมิตรภาพกับเพื่อนบ้านชาวยิว แล้วจับเอาไปประหารหมู่อย่างโหดเหี้ยม เพื่อคลายความพิโรธของพระเจ้า แต่โรคร้ายก็ยังมิได้บรรเทาลงแต่อย่างใด


ในที่สุดเมืองอาวิยองที่ประทับของโป๊ปก็เต็มไปด้วยคนป่วย เหล่าผู้ดีมีเงินทั้งหลายพากันทิ้งเมืองไปอยู่ชนบท แม้กระทั่งโป๊ปก็ต้องย้ายวังไปชนบทเช่นกัน ไม่ทรงเชื่อกำแพงอัคคีที่พิทักษ์อยู่รอบบัลลังก์อีกต่อไป เหลือเพียงคนเดียวที่คงอยู่ ใช่แล้วครับ หมอกีย์ เดอ โชลิอาร์ค เขายังคงตระเวนรักษาคนป่วยในอาวิยอง โดยใช้วิธีเปิดหัวฝีคนไข้แล้วเอาเหล็กเผาไฟแดงๆ คว้านทำความสะอาดไล่เชื้อโรค คนไข้หลายคนรอดชีวิตได้...ถ้าทนความเจ็บปวดแสนสาหัสจากการรักษาได้


และแล้วโชลิอาร์คก็ติดเชื้อกาฬโรคเข้าจนได้

แม้จะสัมผัสกับคนไข้มากมายเพียงใด แต่ยามที่ต้องล้มป่วยนอน เพียบอยู่บนเตียงนั้น โชลิอาร์ค ก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่าสมมุติฐานแท้จริงของโรคนั้นคืออะไร

และอย่าว่าแต่ประชากรของอาวิยองจะลดลงไปถึงครึ่งหนึ่ง แม้แต่ในศาสนสถานที่โชลิอาร์คฝึกฝนวิชาแพทย์เอง จำนวนหลวงพ่อทั้งหมด 140 รูป เหลือเพียงแค่ 7 รูป!


อย่างไรก็ตาม โป๊ปคลีเมนต์ที่ 6 ผู้ละทิ้งอาวิยองไปยังคงพระชนม์ชีพอยู่ได้

แต่เหลือเชื่อกว่านั้น กีย์ เดอ โชลิอาร์ค หมอวีรบุรุษของเราได้หายจากโรคร้าย ดังในบันทึกของเขาที่ว่า


“...ในช่วงท้ายของกาฬโรค ข้ามีอาการบวมที่ขาหนีบ ข้านอนป่วยอยู่เกือบหกสัปดาห์ เมื่อฝีบวมเต็มที่ ข้าได้รักษา...โดยกินผลมะเดื่อกับหัวหอมต้มสุกผสมกับยีสต์และเนย... ข้ารอดชีวิตมาได้...ด้วยพรจากพระเจ้า... มันเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพื่อนเอ๋ย ขอให้เรามาร่วมสวดมนต์ด้วยกันเถิด”


กีย์ เดอ โชลิอาร์ค ได้เขียนผลงานของเขาไว้ใน “เชอร์รูเกีย มันยา” หรือ “การรักษาอันยิ่งใหญ่” ซึ่งได้ใช้เป็นตำราแพทย์ของยุโรปอยู่นานต่อมาถึง 300 ปี โชลิอาร์คเขียนขึ้นจากประสบการณ์ ของเขาล้วนๆ มิได้อ้างอิงวิชาการดั้งเดิมแต่อย่างใด เขาได้รับการยกย่องอย่างสูงในบั้นปลายของชีวิต

หลังจากคร่าชีวิตมนุษย์อยู่ 300 กว่าปี พอถึง ค.ศ. 1666 กาฬโรคก็พลันอันตรธานหายไปอย่างรวดเร็ว อันเนื่องจากการสุขาภิบาลและการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นนั่นเอง

Credit: นสพ.ไทยรัฐ และhttp://www.artsmen.net
30 มี.ค. 53 เวลา 23:47 2,020 3 380
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...