มาทำความรู้จักกับคำว่าอารยะขัดขืน 'สันติวิธี'สู้' กติกาอยุติธรรม'
ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นศาสตราจารย์ประจำและหัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำว่า "อารยะขัดขืน" กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนคนไทยกันอีกครั้ง เมื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำการชุมนุมเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประกาศใช้เป็นมาตรการในการแสดงตนต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
มาตรการที่นายสุเทพอ้างว่าเป็น"อารยะขัดขืน" ก็คือ หยุดทำงาน ปิดสถานศึกษา ชะลอการจ่ายภาษี และเป่านกหวีด
จริงๆ คำว่า "อารยะขัดขืน" เคยฮือฮาในสังคมการเมืองไทยมาแล้วเมื่อปี 2549 ครั้งนั้น ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จงใจกระทำการที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ด้วยการ "ฉีกบัตรเลือกตั้ง" ในการจัดการเลือกตั้งที่ตนเห็นว่าไม่ชอบธรรม ซึ่งเป็นช่วงของการก่อกระแสขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปสั้นๆ ง่ายๆ ผ่านการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อเช้าวานนี้ ทำนองว่า หัวใจพื้นฐานของการทำ "อารยะขัดขืน" คือการทำในสิ่งที่ตนรู้อยู่แล้วว่าขัดต่อกฎหมาย แต่กระทำอย่างเปิดเผย ต่อสาธารณะ และประกาศล่วงหน้า เพื่อแสดงเจตนารมณ์ต่อสู้ต่อต้านผู้มีอำนาจอย่างสันติวิธี ฉะนั้นการที่ตำรวจมาบอกว่ามาตรการประเภทนี้ขัดต่อกฎหมาย หรือขู่จะดำเนินคดี (กรณีโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาให้ข่าวต่อมาตรการของนายสุเทพ) จึงไม่มีผลแต่ประการใด
ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เล่าถึงประวัติศาสตร์ของ "อารยะขัดขืน" ว่า มาจากคำในภาษาอังกฤษว่า "civil disobedience" แปลตามตัวคือ ประชาชนไม่เชื่อฟังรัฐหรือผู้มีอำนาจ จึงแสดงออกด้วยการไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาต่างๆ ของรัฐ โดยหนึ่งในต้นแบบที่สำคัญของ "อารยะขัดขืน" หรือที่บางคนเรียกว่า "ดื้อแพ่ง" คือ มหาตมะคานธี จากการต่อสู้ที่เรียกกันว่า "อหิงสา"
"อหิงสาเป็นหลักการในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อปลดปล่อยอินเดียจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ สมัยนั้นคานธีต่อต้านการปกครองที่ไม่ยุติธรรม กรณีที่สำคัญกรณีหนึ่งคืออังกฤษห้ามคนอินเดียทำเกลือใช้เอง ทั้งๆ ที่ยุคนั้นเกลือมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการใช้ถนอมอาหาร อังกฤษห้ามคนอินเดียผลิตเกลือ ก็เพื่อให้คนอินเดียต้องซื้อเกลือจากอังกฤษ และอังกฤษก็เพิ่มภาษีให้ชาวอินเดียต้องซื้่อในราคาที่แพงขึ้น คานธีรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ทั้งๆ ที่ชายทะเลของอินเดียที่ยาว สามารถทำเกลือเองได้ไม่ยากเย็น"
"เมื่อเป็นอย่างนี้การประท้วงแบบอหิงสาจึงเริ่มขึ้น คานธีกับพวก 78 คนเริ่มเดินเท้าจากเมือง Sabarmati ไปยังเมือง Dansi เมืองชายฝั่งทะเลที่อยู่ห่างออกไป 240 ไมล์ เมื่อขบวนเดินผ่านเมืองใดก็จะมีชาวเมืองนับพันเข้าร่วมเดินด้วย จนขบวนยาวหลายไมล์ คานธีเดินถึงที่หมาย เมื่อถึงแล้วก็เริ่มการกระทำการ 'ดื้อแพ่ง' ด้วยการผลิตเกลือเองเพื่อท้าทายกฎหมาย ทุกคนก็ทำตาม การกระทำของคานธีกลายเป็นข่าวไปทั่วโลก ชาวอินเดียพากันเลียนแบบ ผลิตและขายเกลือกันอย่างไม่กลัวกฎหมาย หลังจากนั้นคานธีก็ถูกจับพร้อมกับประชาชนนับหมื่น"
"ทันทีที่คานธีถูกจับ คนอินเดียหลายร้อยล้านคนที่เฝ้าติดตามก็ลุกฮือหยุดงานทั่วประเทศ อังกฤษคุมสถานการณ์ไม่ได้ ต้องเชิญคานธีไปเจรจา กระทั่งในที่สุดอังกฤษต้องยอมแก้กฎหมายให้คนอินเดียสามารถทำเกลือใช้เอง เหตุการณ์'อารยะขัดขืน'ในครั้งนั้น มีชื่อเรียกว่า The Salt March เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์อินเดีย และนำไปสู่ชัยชนะในการปลดแอกจากมหาอำนาจอย่างอังกฤษ"
หมอวันชัย เล่าต่อว่า อีกประเทศหนึ่งที่นำแนวทาง "อารยะขัดขืน" และการต่อสู้แบบ "อหิงสา" ของคานธีไปใช้ คือ โปแลนด์ กรณีกรรมกรท่าเรือขอมีสหภาพ แต่รัฐบาลคอมมิวนิสต์ไม่ยินยอม ทำให้ เลก วาเลนซา ซึ่งเดิมใช้วิธีรุนแรงในการต่อสู้จนติดคุก เมื่อออกจากคุกได้หันมาใช้วิธีอารยะขัดขืน เป็นแกนนำนัดหยุดงานทั่วประเทศจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญโดยไม่เสียเลือดเนื้อ
"จากประวัติศาสตร์ของการต่อสู้โดยอารยะขัดขืน จะพบว่าบางครั้งบางคราต้องละเมิดกฎหมาย เพราะกฎหมายนั้นมีความไม่เป็นธรรม นี่คือหัวใจ ฉะนั้นมาตรการของคุณสุเทพและพวก จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องละเมิดกฎหมาย เพราะมองเห็นว่ากติกาของผู้มีอำนาจรัฐไม่เป็นธรรม แต่การกระทำของคุณสุเทพจะบรรลุผลหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป"
หมอวันชัย สรุปว่า กระบวนการอารยะขัดขืนเป็นกระบวนการของผู้ที่ไม่ได้กุมอำนาจรัฐ มองว่ากฎกติกาอะไรก็แล้วแต่ที่ออกมาไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม ก็สามารถแสดงออกโดยการฝ่าฝืน หรือดื้อแพ่ง เพื่อต่อสู้กับกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมนั้นได้ แต่ห้ามไปชี้หน้าด่าใคร และไม่ใช้ความรุนแรง
"ผู้มีความรอบรู้ มีฝีมือ มีความกล้าหาญ นับว่าเป็นคนสำคัญของแผ่นดิน ในยุคสมัยหนึ่งก็ใช่ว่าจะมีมากมาย ควรจะรักษาตัวไว้ในทางธรรม พึงดำเนินชีวิตอย่าให้ตกต่ำ อย่าใช้อารมณ์ตัดสินใจเหตุการณ์ บ้านเมืองยังต้องการคนอย่างท่านช่วยแก้ไข ขอให้ท่านคิดการทำนุบำรุงแผ่นดิน บำรุงชาติบ้านเมืองให้เกิดความร่วมเย็นเถิด ผู้คนจักสรรเสริญท่านตลอดกาล"
"จูกัดเหลียง"
คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ