จากกรณีเว็บไซต์ข่าวกรุงเทพธุรกิจ รายงานข่าวหัวข้อ "เอกชนไม่เอาด้วยอารยะขัดขืนหยุดงาน บอกคนต้องกินต้องใช้ ต้องทำงาน ทำมาหากิน ไม่จ่ายภาษี ผิดกฎหมาย" มีเนื้อหาพูดถึงการสัมภาษณ์นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชาเขียวพร้อมดื่มสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ อิชิตัน ต่อมา แกนนำบนเวทีม็อบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งพิธีกรบนเวที และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำม็อบ ได้พูดเป็นนับพาดพิงถึงคำสัมภาษณ์ดังกล่าวของนายตัน แต่ไม่ได้เอ่ยชื่อนายตันบนเวที ขณะที่มวลชนต่างโห่ร้องแสดงความไม่เห็นด้วยกับนายตันบอกกับกรุงเทพธุรกิจว่าผู้ชุมนุมเป็นคนส่วนน้อย
ล่าสุด เวลาประมาณ 21.45 น. วันที่ 12 พ.ย. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า นายตันโพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/tanichitan ว่า "ตามข่าวที่มีการระบุว่า ผมได้ให้สัมภาษณ์ว่า คนที่มาชุมนุมเป็นคนกลุ่มน้อย “ผมขอยืนยันว่าไม่ได้พูดประโยคนี้” เป็นความเข้าใจผิด ส่วนตัวผมก็ไม่เห็นด้วยกับ พรบ. นิรโทษกรรม เนื่องจากสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จึงเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และทาง นสพ. ต้นตอ ได้แก้ไข รวมถึงได้ส่งข้อความมาขอโทษแล้ว
"ในขณะเดียวกัน วันที่ 13-15 พ.ย. ก็ยังเป็นวันทำงานปกติ บริษัทฯ ไม่ได้ประกาศเป็นวันหยุด ดังนั้นพนักงานคนไหนถ้าจะไปร่วมชุมนุมก็ทำได้แต่ต้องลางานไป ผมเข้าใจและสนับสนุนการแสดงสิทธิ์ของทุกคนในระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้วครับ ดังนั้นถ้าหากคำพูดที่ให้สัมภาษณ์ไปทำให้หลายคนเข้าใจผิด ต้องขออภัยอย่างสูงและน้อมรับต่อสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นครับ…. ตัน ภาสกรนที"
นอกจากนั้น นายตันยังโพสต์รูปภาพข้อความที่ผู้สื่อข่าวกรุงเทพธุรกิจส่งมาขอโทษอีกด้วย
สำหรับข่าวที่เว็บกรุงเทพธุรกิจแก้ไขและนำเสนอใหม่ มีดังนี้
กรุงเทพธุรกิจ : เอกชนไม่เอาด้วยอารยะขัดขืนหยุดงาน บอกคนต้องกินต้องใช้ ต้องทำงาน ทำมาหากิน ไม่จ่ายภาษี ผิดกฎหมาย
จากกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศยกระดับการชุมนุม โดยเชิญชวนให้ประชาชนทำอารยะขัดขืนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการให้หยุดงานเป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ย.2556 เพื่อร่วมชุมนุม พร้อมขอร้องให้ภาคเอกชนชะลอการชำระภาษีกลางปี และขอให้ติดธงชาติทั่วประเทศ พร้อมทั้งเป่านกหวีดเมื่อเจอนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตชาเขียวพร้อมดื่มสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ อิชิตัน เปิดเผยว่า ไม่เห็นด้วยที่มีกรณีประกาศให้ภาคประชาชนหยุดงานในช่วงวันที่ 13-15 พ.ย. 2556 เนื่องจากวุฒิสภาได้คว่ำร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ประชาชนต้องกินต้องใช้ ทุกคนต้องทำงาน ทำมาหากิน หาเงินหารายได้ และต้องกินต้องใช้ ส่วนกรณีทื่ให้ภาคเอกชนชะลอการจ่ายภาษี ไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ และยังเป็นการทำผิดกฎหมาย และหากเอกชนมีการชะลอการจ่ายภาษีจริงแล้วใครจะเป็นผู้มารับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่า การชุมนุมจะไม่ยืดเยื้อออกไป แต่หากการชุมนุมลากยาว เชื่อว่าจะเกิดการสูญเสียหลายๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจและภาคการลงทุนของไทย เนื่องจากนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และหันไปลงทุนในประเทศอื่นๆ เช่น พม่า ลาว และอินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังจะกระทบกับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการสินค้าอุปโภค-บริโภคขนาดใหญ่ อย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และบริษัทไทยเบฟ ผู้ผลิตเครื่องดื่มตราช้าง ไม่ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดงานของพนักงานในช่วงวันที่13-15 พ.ย. 2556 และยังคงดำเนินการตามปกติ