สาเหตุของโรคนี้เกิดจากการที่เรากินสารพิวรีนเข้าไปมาก เนื่องจากพิวรีนจะถูกร่างกายเปลี่ยนเป็นกรดยูริกไปสะสมตรงข้อต่อต่าง ๆ หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดจากการที่ไตไม่อาจขับกรดยูริกออกนอกร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ หรือเป็นจากทั้ง 2 สาเหตุประกอบกัน
การรักษาโรคเกาต์จึงต้องกินยากระตุ้นไตให้ขับกรดยูริกออกไปให้มากขึ้น และที่สำคัญที่สุดต้องเลือกกินอาหารที่มีสารพิวรีนต่ำ กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ คนที่เป็นโรคเกาต์ แม้ว่าจะต้องกินยา แต่ก็ต้องควบคุมอาหารด้วย การรักษาจึงจะได้ผล
อาหารต้องห้ามสำหรับเกาต์คือ อาหารที่มีพิวรีนสูง (150-1,800 มก./อาหาร 100 กรัม) ได้แก่ สัตว์ปีกทุกชนิดและเครื่องในสัตว์ กล่าวคือ เป็ด ไก่ ห่าน นก เลือดไก่ เลือดเป็ด ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มของสารพิวรีนสูงทั้งสิ้นอีกประการหนึ่ง แอลกอฮอล์ทุกประเภท ก็ทำให้กรดยูริกเพิ่มสูงในร่างกายเป็นผลทำให้เกาต์กำเริบได้ ดังนั้นดูเหมือนว่าหากคนเป็นโรคเกาต์หันมากินมังสวิรัติ กินผัก กินปลา และงดเหล้า จะปลอดภัยกว่า
อาหารที่มีพิวรีนปานกลาง (50-150 มก./อาหาร 100 กรัม) ได้แก่ เนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมทั้งปลา โดยเฉพาะปลาซาร์ดีน อาหารทะเล ถั่วเมล็ด เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง ปวยเล้ง ถั่วงอก และยอดผักทั้งหลาย คนเป็นโรคเกาต์ควรกินอาหารกลุ่มนี้แต่น้อย คือกินบ้างไม่กินบ้าง กินแต่ละครั้งก็ต้องกินนิด ๆ หน่อย ๆ และต้องตระหนักว่า ไม่แต่สัตว์ปีกและเครื่องในสัตว์เท่านั้น หากกินเนื้อสัตว์อื่น รวมทั้งปลาและอาหารทะเลมากเกินไปก็จะไม่สามารถบรรเทาอาการของเกาต์ได้
อาหารที่มีพิวรีนต่ำ (0-15 มก./อาหาร 100 กรัม) ได้แก่ ข้าว ไข่ ผักเกือบทั้งหมด ยกเว้นผักที่กล่าวมาข้างต้น และผลไม้ทุกชนิด อาหารกลุ่มนี้จึงปลอดภัยกับคนที่เป็นโรคเกาต์