เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
ผลวิจัยชี้ เด็กไทยเจอรายจ่ายทางการศึกษาเพียบ ค่าธรรมเนียมสูงสุด 100,000 บาทต่อปี ขณะที่การเรียนกวดวิชา มีค่าใช้จ่ายสูงสุด 80,000 หมื่นบาทต่อปี
เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าจากการวิจัยเรื่อง "ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเอกชนของนักเรียน หรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่นักเรียนและผู้ปกครองเป็นผู้รับภาระ นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลสนับสนุน" ซึ่งได้สำรวจกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2555 ประเภทสามัญศึกษา ที่กำลังศึกษาในสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จำนวน 3,039 คนทั่วประเทศ
ทั้งนี้ วัดผลด้วยการทำแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์เชิงโครงสร้าง ผู้ปกครอง นักเรียน และครู จำนวน 65 คน ถึงค่าใช้จ่ายตอนที่เรียนอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2554 ผลการศึกษาวิจัยพบว่า
ค่าใช้จ่ายรายวัน
- ค่าเดินทางไป-กลับโรงเรียน ค่าอาหาร/ค่าขนม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เฉลี่ยวันละ 38.87 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุดวันละ 300 บาท ต่ำสุดวันละ 3 บาท
- ค่าอาหาร/ค่าขนมเฉลี่ยวันละ 59.26 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุด วันละ 300 บาท ต่ำสุดวันละ 10 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าเครื่องเขียน ค่ารายงาน เงินห้อง เป็นต้น เฉลี่ยวันละ 34.39 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุด วันละ 300 บาท ต่ำสุดวันละ 1 บาท
ค่าใช้จ่ายรายปี
- ค่าเล่าเรียน ค่าโปรแกรมเสริมคุณภาพ ค่ากิจกรรมเฉลี่ยปีละ 8,494.92 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุดปีละ 60,000 บาท ต่ำสุดปีละ 100 บาท
- ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียนเฉลี่ยปีละ 2,743.99 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุดปีละ 19,000 บาท ต่ำสุดปีละ 100 บาท
- ค่าที่พักเฉลี่ยปีละ 18,281.73 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุด ปีละ 60,000 บาท ต่ำสุด ปีละ 1,500 บาท
- ค่าอาหารกลางวัน เฉลี่ยปีละ 4,328.74 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุดปีละ 10,000 บาท ต่ำสุดปีละ 500 บาท
- ค่าธรรมเนียม สมาคมผู้ปกครองและครู เงินบริจาคเฉลี่ยปีละ 965.34 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายสูงสุดปีละ 100,100 บาท ต่ำสุดปีละ 100 บาท
- ค่าเรียนพิเศษเฉลี่ยปีละ 9,479.19 บาท มีค่าใช้จ่ายสูงสุดปีละ 80,000 บาท ต่ำสุดปีละ 1,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าตรวจสุขภาพ ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าอินเตอร์เน็ต เป็นต้น เฉลี่ยปีละ 1,820.89 บาท มีค่าใช้จ่ายสูงสุด ปีละ 10,000 บาท ต่ำสุด ปีละ 250 บาท
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ยังได้จำแนกค่าใช้จ่ายตามสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ สถานที่ตั้งครัวเรือน พบว่า ครัวเรือนที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษารายวันและค่าใช้จ่ายทางการศึกษารายปีสูงกว่าครัวเรือนที่ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล โดยครัวเรือนที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 19,146.09 บาท ส่วนครัวเรือนที่ตั้งอยู่นอกเขตเทศบาล มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยปีละ 11,705.21 บาท
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามอาชีพของผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครองที่มีค่าใช้จ่ายสูงสามอันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 ผู้ปกครองที่มีอาชีพเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษารายปีสูงสุดเฉลี่ยปีละ 31,546.89 บาท
อันดับที่ 2 ผู้ปกครองที่มีอาชีพรับราชการ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษารายปี เฉลี่ยปีละ 25,440.08 บาท
อันดับที่ 3 ผู้ปกครองที่มีอาชีพลูกจ้างเอกชน มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษารายปี เฉลี่ยปีละ 23,555.12 บาท
แหล่งข่าวได้กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยชิ้นนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาที่มีผลกระทบต่อระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน คือ ค่าใช้จ่ายในหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ทั้งในโรงเรียน และการเรียนพิเศษนอกโรงเรียน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในรายการอื่น ๆ เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าหนังสือ ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ไม่ได้มีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ที่แตกต่างกันของนักเรียน
ดังนั้น รัฐบาลจึงควรจะปรับเปลี่ยนลำดับความสำคัญของนโยบายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษาต่าง ๆ อาทิ นโยบายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมุ่งให้ความสำคัญต่อค่าใช้จ่ายที่จะมีผลกระทบต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนสูง และมุ่งเน้นไปที่นักเรียนในกลุ่มยากจนมากกว่า
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก