ผลสำรวจเงินเดือนในเอเชีย พบปี 2014 พุ่งร้อยละ 7 จีน-เวียดนาม ขึ้นนำ

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
 
          ทาวเวอร์ส วัทสัน เผยผลสำรวจว่า ปี 2014 ระดับเงินเดือนในเอเชียจะพุ่งขึ้นถึง ร้อยละ 7 โดยจีนและเวียดนามนำโด่ง ขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราเพิ่มต่ำสุด ส่วนภาคธุรกิจที่คาดว่ามีการขึ้นเงินเดือนสูงสุด ได้แก่ ภาคเภสัชกรรม

          เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยข้อมูลธุรกิจระดับโลก ได้เผยผลสำรวจระดับเงินเดือนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7 ในปี 2014 โดยจีนและเวียดนามนำโด่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในแง่ของอัตราที่เพิ่มขึ้น หลังจากหักลบอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ญี่ปุ่นมีอัตราเพิ่มต่ำสุด
 
          ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2014 ระดับเงินเดือนในประเทศจีนจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5, ในเวียดนามร้อยละ 11.5, และอินเดียร้อยละ 11 (ก่อนเทียบเคียงกับอัตราเงินเฟ้อ และหลังหักลบอัตราเงินเฟ้อ) โดยสองประเทศนี้มีระดับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.9 ส่วนระดับเงินเดือนของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค พบว่า ในฮ่องกงและสิงคโปร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และญี่ปุ่นร้อยละ 2.3

จากผลสำรวจดังกล่าวสนับสนุนมุมมองที่ว่า บริษัทต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังประสบปัญหาทั้งด้านการหาและรักษาพนักงานที่มีทักษะเหมาะสมกับงานไว้ โดยผลสำรวจที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ กว่าร้อยละ 80 ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจ ระบุว่า ในปี 2014 การจัดสรรงบประมาณเพื่อเพิ่มเงินเดือนส่วนใหญ่ของพวกเขา มุ่งไปที่พนักงานที่มีผลงานดี โดยมีบริษัทไม่ถึงร้อยละ 1 คาดว่า จะชะลอการขึ้นเงินเดือน เมื่อเทียบกับเกือบร้อยละ 4 ในปี 2013
 
          สำหรับภาพรวมข้อมูลปี 2013 และ 2014 มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก ดังนั้น บริษัทต่าง ๆ ควรจัดงบประมาณสำหรับการขึ้นเงินเดือนให้มากเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ในท้ายที่สุดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทว่า จะจ่ายได้หรือไม่  หากบริษัทมีการเติบโตที่รวดเร็วและรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายอย่างมาก ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะตั้งงบประมาณสำหรับจ่ายเงินเดือนแบบสูงโด่งเมื่อเทียบกับบริษัทที่มีการเติบโตต่ำ
 
          โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ศรีลังกา และบางประเทศในอินโดจีน ถือเป็นผู้นำในแง่มาตรฐานการขึ้นค่าจ้างในอัตราสูง และมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด ร้อยละ 6-8.5 แต่ประเทศเหล่านี้ยังมีแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ร้อยละ 5-7 ยกเว้นกัมพูชา ร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น

          ขณะที่มีการคาดว่า ภาคธุรกิจเภสัชกรรมจะขึ้นเงินเดือนสูงสุด โดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.3 ใน ปี 2014 สำหรับภูมิภาคนี้ ส่วนภาคธุรกิจค้าปลีกและสื่อสารมวลชนจะขึ้นเงินเดือนร้อยละ 5.4-5.7 ซึ่งลดลงจาก ปี 2013
 
          อย่างไรก็ตาม การเพิ่มเงินเดือนในธุรกิจบริการทางการเงินเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะเป็นการมุ่งไปยังภาคธุรกิจที่เพิ่งหลุดออกจากภาวะซบเซามานานหลายปี ดังนั้นจึงคาดว่า ภาคธุรกิจบริการทางการเงินน่าจะได้อานิสงส์จากการขึ้นเงินเดือนกันถ้วนหน้า ทั่วทั้งภูมิภาค เฉลี่ยร้อยละ 6.2 เทียบกับร้อยละ 5.7 ในปี 2013
 
          โดยคาดว่า การขึ้นเงินเดือนระดับสูงสุดจะเกิดขึ้นในประเทศจีน ร้อยละ 8.8 อินเดีย ร้อยละ 10 และอินโดนีเซีย ร้อยละ 9 ขณะที่ศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ ฮ่องกง และญี่ปุ่น จะได้เห็นการขึ้นเงินเดือนในปี 2014 ไม่มาก คือ ร้อยละ 4, 4.5 และ ร้อยละ 2.3 ตามลำดับ 
 
          ด้าน คุณพิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทาวเวอร์ส วัทสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ผลการวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของระดับเงินเดือนทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของระดับเงินเดือนในหลายภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถือเป็นการเตือนให้องค์กรตระหนักถึงการรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรต่อไป
 
          ส่วนอีกประเด็นที่มีความสำคัญที่องค์กรควรคำนึง คือ การจ่ายเงินเดือนตามผลงานของพนักงาน และความสามารถในการสร้างความต่างในการจ่ายเงินเดือนอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พนักงานที่ทำงานดีได้รับการขึ้นเงินเดือนมากกว่าพนักงานที่ทำงานธรรมดา หรือไม่ดีในเปอร์เซ็นต์ที่เห็นความต่างได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

Credit: http://hilight.kapook.com/view/93276
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...