พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ปี 50 ( พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ) เริ่มบังคับใช้เมื่อ 10 มิถุนายน 2550 จนถึงเวลานี้ก็บังคับใช้มาถึง 6 ปีแล้ว ซึ่งมีหลายมาตรา ที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตต้องทำความเข้าใจและปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย หากฝ่าฝืนอาจถูกดำเนินคดีได้ เช่น
การกระทำโพสต์ข้อมูลปลอม ข้อมูลเท็จ อย่างกรณีของอดีตเณรคำที่มีการโพสต์ข้อความแสดงอิทธิฤทธิ์อวดอ้างผ่านทางเว็บไซต์ให้คนหลงเชื่อ หรือ ให้ข้อมูลเท็จ ที่จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ประชาชนตื่นตระหนก , โพสข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูล ลามก อนาจาร
ซึ่งกรณีความผิดที่มักจะโดนกันนั้นจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2550 มาตรา 14 ระบุไว้ว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
อีกกรณีที่ต้องระวังสำหรับผู้ใช้ Social Network โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ เจออะไร ขอกดแชร์ หรือส่งต่อ เช่น ได้ข้อความมาใน Line หรือทาง Facebook , Twitter เจอปุ๊บ share ปั๊บ หรือส่งต่อให้กับเพื่อนๆ โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่าข้อความนั้น จริงรึเปล่า…? หากเผลอแชร์ทันที ทั้งๆ เป็นข้อมูลเท็จ การกระทำลักษณะแบบนี้ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ผู้แชร์ก็อาจถูกดำเนินคดี และอาจถึงขั้นจำคุก หรือโดนปรับได้
ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ก่อนส่งต่อ หรือแชร์ ลองตรวจสอบข้อมูลก่อนว่าเนื้อหานี้จริงหรือไม่ เพราะถ้าคุณส่งข้อมูลเท็จ ข้อมูลที่เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือต่อความมั่นคงของประเทศ ข้อมูลลามก อนาจาร ตามข้อมูลที่มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ …คุณก็จะมีความผิดในมาตรา 14 วรรค 5 (เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม ข้อมูลเท็จ ) โดนด้วย! รับโทษเหมือนกัน
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตต้องรู้ และปฏิบัติให้อยู่ในกฎหมายด้วย หากกระทำผิด พ.ร.บ. คุณก็จะถูกดำเนินคดี จำคุก และปรับได้ ซึ่งคุณอ้างไม่ได้ว่าคุณไม่รู้!!! เพราะคุณคือผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์