10 สายพันธุ์แมวยอดนิยมในไทย (ตอนที่ 2)

 

 

 

10 สายพันธุ์แมวยอดนิยมในไทย (ตอนที่ 2)

 

 

  กระแสฮิตเจ้าเหมียวสี่ขาเริ่มมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่เปิดขึ้นมาเมื่อไรเป็นต้องเจอรูปถ่ายหน้ากลม ๆ ของเจ้าเหมียว พร้อมทั้งอิริยาบถต่าง ๆ อยู่ร่ำไป แถมบางครั้งเจ้าของก็ยังบรรยายความน่ารักให้ได้อ่านกันอีกด้วย แน่นอนว่า เมื่อได้เห็นดวงตากลมโตแสนบ้องแบ๊วคู่นั้น คงอดไม่ได้ที่จะหลงรักและอยากครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ถ้าคุณคิดจะซื้อแมวมา เลี้ยงเอาไว้ที่บ้านสักตัวสองตัวแล้วล่ะก็ อย่าเพิ่งรีบร้อนตัดสินใจจนกว่าจะได้ศึกษานิสัยใจคอของแมวสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงวิธีการเลี้ยงดู โดยลองเปรียบเทียบจาก 10 สายพันธุ์แมวยอดนิยมในไทย ดังต่อไปนี้

 







 6. แมวขาวมณี (Khao Manee)

         สำหรับแมวขาวมณีไม่มีหลักฐานยืนยันที่มาอย่างชัดเจน รู้เพียงว่า เริ่มพบเห็นมากในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นแมวที่ติดมากับเรือสำเภาของพ่อค้าจีน ที่เลี้ยงไว้จับหนูบนเรือ แต่เนื่องจากสีขาวเป็นสีที่ดูสะอาดและเป็นสีมงคลสำหรับคนไทย ดังนั้นแมวขาวมณีจึงกลายเป็นแมวบ้านนับจากนั้นเป็นต้นมา และที่สำคัญแมวพันธุ์นี้ยังเป็นแมวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษด้วย

           ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวขาวมณี

          เอกลักษณ์ของแมวขาวมณี นอกจากจะมีขนสีขาวปลอดทั่วทั้งตัวแล้ว นัยน์ตาทั้ง 2 ข้างของแมวขาวมณียังแตกต่างไปจากแมวไทยพันธุ์อื่น โดยมีทั้งนัยน์ตาสีฟ้า สีเหลืองอำพัน และตา 2 สี ลักษณะมาตรฐานของแมวขาวมณี หัวจะต้องกลมใหญ่คล้ายรูปหัวใจ จมูกสั้น หูตั้งใหญ่ โคนหางใหญ่ แต่มีปลายแหลมชี้ตรง และต้องเรียวได้สัดส่วนกับลำตัว ส่วนเสน่ห์ของแมวขาวมณีนั้น นอกจากขนสีขาวเนียนสนิท มันยังเป็นแมวที่ช่างประจบประแจง ขี้อ้อน ชอบเข้ามาคลอเคลีย และจะคอยสังเกตเจ้าของตลอด ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ก็ตาม

           การเลี้ยงดูแมวขาวมณี

          ส่วนมากมักจะนิยมเลี้ยงแมวขาวมณีแบบเป็นคู่ เพื่อให้พวกมันพลัดกันเลียขนเพื่อทำความสะอาด แมวพันธุ์นี้เป็นแมวเชื่อง และเชื่อฟังคำสั่งเจ้าของ จึงเหมาะกับการเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาได้ดีเลยทีเดียว

 

        อ่านบทความแมวขาวมณี ได้ที่นี่ 





 

 7. แมวบริติช ชอร์ตแฮร์ (British Shorthair)

          แมวท้องถิ่นสายพันธุ์เก่าแก่ที่สุดบนเกาะอังกฤษ ซึ่งเล่ากันว่าบรรพบุรุษของพวกมันมาจากแมวที่ชาวโรมันเอามาเลี้ยงเมื่อ 2,000 ปีก่อน และเป็นแมวที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งในประเทศต้นกำเนิดและประเทศอื่น ๆ แถบยุโรปจนถึงยุคปัจจุบัน เนื่องจากมันเป็นแมวที่มีความเฉลียวฉลาด จึงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฝึกสัตว์ เพื่อใช้ในการโฆษณาทางโทรทัศน์หรือเข้าฉากในภาพยนตร์ของฮอลลีวูด

           ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวบริติช ชอร์ตแฮร์

         แมวบริติช ชอร์ตแฮร์ เป็นแมวที่มีลักษณะกะทัดรัด สมดุลดี แข็งแรง หน้าอกเต็มและกว้าง ขาสั้น อุ้งเท้ากลม หางหนาและกลม หัวกลมรับกับใบหูขนาดเล็ก คอสั้น แก้มยุ้ย คางหนา ดวงตากลมโต จมูกค่อนข้างสั้น ขนหนาและสั้น มีอายุเฉลี่ยประมาณ 15-20 ปี

         ส่วนอุปนิสัยของแมวพันธุ์นี้ค่อนข้างนิ่งสงบกว่าแมวพันธุ์อื่น ๆ เดาทางได้ง่าย เนื่องเป็นมิตรกับผู้คนรวมถึงสัตว์ชนิดอื่น ๆ ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย ดังนั้นจึงไม่ค่อยพบเห็นแมวสายพันธุ์นี้ส่งเสียงรบกวน แสดงอาการก้าวร้าว หรือทำลายสิ่งของให้เห็น

           การเลี้ยงดูแมวบริติช ชอร์ตแฮร์

         แมวบริติช ชอร์ตแฮร์เป็นแมวที่ดูแลง่าย แต่ควรเลี้ยงในบ้าน นอกจากนี้บริติช ชอร์ตแฮร์ อาจเป็นแมวที่มีพัฒนาการการเจริญเติบโตช้าอยู่สักหน่อย แต่ความสมบูรณ์และความสวยงามของมันจะอยู่คู่กับแมวไปตลอดเกือบชั่วอายุขัยเลยทีเดียว
 

  อ่านบทความแมวบริติชชอร์ตแฮร์ ได้ที่นี่ 







 

 8. แมวเอ็กโซติก (Exotic)

          แมวหน้าบูด จมูกหัก แต่น่ารักไม่แพ้ใคร เพราะสืบเชื้อสายมาจากแมว 2 สายพันธุ์ ระหว่างแมวเปอร์เซียกับแมวอเมริกัน ช็อตแฮร์ จนกลายมาเป็นแมวเอ็กโซติก หลากหลายรูปแบบ อาทิ  Exotic Blue Tabby, Exotic Red Tabby, Exotic Cream Tabby เป็นต้น

           ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวเอ็กโซติก

          ลักษณะทั่วไปของแมวเอ็กโซติกเหมือนกับแมวเปอร์เซียทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะหัวกลม กะโหลกใหญ่ ใบหูเล็กกลม จมูกหักเล็กน้อย ยกเว้นเส้นขนสั้น ๆ ที่หนานุ่มคล้ายกับกำมะหยี่ อันเป็นสัญลักษณ์ของแมวสายพันธุ์นี้

          ส่วนเรื่องอุปนิสัยก็แทบไม่มีแตกต่างจากแมวเปอร์เซียเลย เพราะแมวเอ็กโซติกเป็นแมวที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ไม่ค่อยหงุดหงิด และมีความอดทนสูง ดังนั้นคุณแทบจะไม่ได้ยินเสียงร้องของแมวพันธุ์นี้แน่นอน หากมันต้องการความสนใจขึ้นมา ก็จะทำแค่นั่งอยู่หน้าคุณ กระโดดมานั่งบนตัก หรือเอาจมูกชื้น ๆ ของมันมาแตะที่หน้าคุณเท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า แมวพันธุ์เอ็กโซติกบางตัวอาจจะชอบนั่งอยู่บนไหล่และกอดคุณเวลาคุณเล่นด้วย

           การเลี้ยงดูแมวเอ็กโซติก

          ใครที่อยากเลี้ยงแมวสายพันธุ์ต่างประเทศ แต่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลขน แมวพันธุ์เอ็กโซติกก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะมันเป็นแมวที่เหมาะกับการเลี้ยงไว้ในบ้าน ที่สำคัญขนอันสวยงามของแมวพันธุ์นี้ ยังต้องการการบำรุงรักษาน้อยกว่าแมวเปอร์เซียทั่ว ๆ ไป เพราะไม่ค่อยจับตัวเป็นก้อนหรือพันกันยุ่งเหยิงอีกด้วย
 

 อ่านบทความแมวเอ็กโซติก ได้ที่นี่ 








 9. แมวเมนคูน (Main Coon)

          ถึงแม้แมวเมนคูนจะมีร่างกายที่ใหญ่โตกว่าแมวปกติ แต่มันกลับเป็นพี่ใหญ่ใจดี จนได้รับสมญานามว่า Gentel Giant ชื่อของแมวสายพันธุ์นี้ มีที่มาจากรัฐเมน (Maine) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมัน ส่วนคำว่า คูน (Coon) มาจากคำบอกเล่าของชาวพื้นเมืองที่กล่าวว่า แมวบ้านเผลอไปกุ๊กกิ๊กกับตัวแรคคูน (Raccoon) จนมีการจับ 2 คำนี้มารวมกัน กลายเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันทั่วไปว่า เมนคูน (Main Coon)

           ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวเมนคูน

          ลักษณะเด่นของแมวพันธุ์เมนคูน คือ รูปร่างที่สมส่วน ดูสง่างาม และให้ความรู้สึกที่มั่นคงแข็งแรง หากเป็นแมวโตเต็มที่ ร่างกายของมันจะมีความยาวตั้งแต่หัวจรดปลายหางประมาณ 1 เมตร น้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 12-15 กิโลกรัม ถึงแมวเมนคูนจะมีโครงสร้างใหญ่ ใบหน้าเหมือนกับแมวป่า มีแผงคอคล้ายสิงโต แถมบริเวณปลายหูยังมีเส้นขนงอกออกมา แต่มันกลับมีนิสัยขี้อ้อน ขี้เล่น ร่าเริง ตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยเจริญพันธุ์

            การเลี้ยงดูแมวเมนคูน

          อายุขัยของแมวพันธุ์อยู่ที่ราว ๆ 15 ปี เหมือนแมวทั่วไป แต่เนื่องจากร่างกายที่ค่อนข้างใหญ่โต การให้อาหารแบบแมวทั่วไปอาจไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต ดังนั้นเจ้าของควรเสริมด้วยเนื้อสัตว์ที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ เพื่อช่วยสร้างกล้ามเนื้อให้กับมัน

          ส่วนขนของแมวเมนคูนค่อนข้างหวีง่าย เนื่องจากเป็นแมวกึ่งขนยาว จึงไม่มีปัญหาขนพันกันแบบแมวเปอร์เซีย เพียงแต่ควรจะอาบน้ำให้มันอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง และหลังการอาบน้ำทุกครั้ง ควรจะเช็ดพร้อมกับเป่าขนให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันโรคเชื้อราบนผิวหนัง
 

  อ่านบทความแมวเมนคูน ได้ที่นี่ 






 10. แมวเบงกอล (Bengal)

          แมวเบงกอลเป็นแมวที่มีลวดลายสวยงาม คล้ายลูกเสือดาวตัวน้อย ๆ คาดกันว่า แมวเบงกอลเกิดจาการผสมพันธุ์ระหว่างแมวดาวกับแมวบ้านสายพันธุ์อียิปต์เชียนมัวร์ (Egyptian Mau) ซึ่งเป็นแมวอียิปต์โบราณ ที่มีโครงสร้างเป็นลายจุด ลักษณะคล้ายแมวป่า โดยถูกนำมาพัฒนาสายพันธุ์ ด้วยฝีมือของ Jean Mills หญิงสาวชาวอเมริกัน ที่หลงใหลคลั่งไคล้ในลวดลายของแมวป่า พร้อมกับตั้งชื่อของมันตามชื่อวิทยาศาสตร์ของแมวป่าที่เรียกกันว่า Felis Bengolensis

           ลักษณะทั่วไปและพฤติกรรมของแมวเบงกอล

          แมวเบงกอลเป็นแมวขนาดปานกลางถึงค่อนข้างใหญ่ หัวมีความยาวมากกว่าความกว้าง  เช่นเดียวกับรูปร่างที่มีลักษณะเพรียวยาว เห็นมัดกล้ามเนื้อชัดเจนคล้ายแมวป่า เมื่อมองจากด้านข้างจะเห็นว่า ช่วงสะโพกมีความสูงกว่าหัวไหล่ ปลายหางชี้ลง ใบหูกลมสั้น ตารูปไข่ มีช่วงปากกับจมูกกลมกว่าแมวบ้าน และมีจุดเด่นอยู่ที่ลายขนคล้ายแมวป่า หรือที่เรียกกันว่า ลายหินอ่อน

          ถึงแม้แมวเบงกอลจะสืบสายพันธุ์มาจากแมวป่า แต่พวกมันกลับมีนิสัยน่ารักไม่ดุร้ายอย่างที่คิด แถมยังเป็นมิตรกับทุกคนเสียด้วย นอกจากนี้แมวเบงกอลยังเป็นแมวที่ซุกซน เพราะชอบวิ่งไล่สิ่งของต่าง ๆ รวมทั้งชอบปีนป่ายขึ้นที่สูงอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญแมวพันธุ์นี้ชอบเล่นน้ำเอามาก ๆ ด้วย

           การเลี้ยงดูแมวเบงกอล

          การเลี้ยงดูแมวเบงกอลก็เหมือนกับการดูแลแมวทั่วไป แต่ถ้าอยากให้มันมีสุขภาพดีและมีขนที่สวยงาม ควรใส่ใจในเรื่องอาหารเป็นพิเศษ โดยต้องเพิ่มเมนูเนื้อวัวสดจากอาหารที่กินเป็นประจำ ซึ่งเนื้อสดที่ให้ก็ต้องผ่านการเก็บรักษาด้วยการแช่แข็ง เพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของเชื้อรากับแบคทีเรีย และห้ามให้เนื้อไก่หรือเนื้อหมูโดยเด็ดขาด

        อ่านบทความแมวเบงกอล ได้ที่นี่
 


          หลังจากที่ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับแมวทั้ง 10 สายพันธุ์ดังกล่าวไปแล้ว หวังว่าจะช่วยให้ผู้สนใจเลี้ยงแมว  สามารถเลือกสายพันธุ์แมวที่ถูกใจ และเหมาะกับไลฟสไตล์ของคุณ ซึ่งหลังจากต้อนรับสมาชิกใหม่เข้าบ้านแล้ว เจ้าของควรให้ความรักและดูแลมันเป็นอย่างดี เพราะสิ่งมีชีวิตตัวน้อย ๆ เหล่านี้ต้องการความอบอุ่นจากคุณมาก ๆ เลยล่ะค่ะ

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

Credit: http://www.kapook.com/
7 พ.ย. 56 เวลา 15:50 5,841 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...