บันทึกบรรลือโลกของ Anne Frank

 

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ.1944 Anne Frank ได้เขียนบันทึกในสมุดที่เธอได้รับเป็นของขวัญวันเกิดในโอกาสที่มีอายุครบอายุ 13 ปีว่า “แม้ตัวจะตายไป แต่ใจของข้าพเจ้าก็ยังต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป”

        อีก 4 เดือนต่อมา Anne กับพ่อแม่ได้ถูกทหารลับของกองทัพนาซีจับตัวเพื่อส่งเข้าค่ายกักกันที่ Bergen-Belsen การถูกกักขัง การขาดแคลนอาหาร และโรคระบาดในค่าย ได้ทำให้เธอล้มเจ็บและเสียชีวิตด้วยไข้รากสาดในราวเดือนมีนาคม ค.ศ.1945 ขณะมีอายุได้เพียง 15 ปี
       
        แม้วันเวลาจะผ่านไปนานถึง 68 ปี แต่ ณ วันนี้ โลกก็ยังรู้จักเธอดีว่าเป็นเด็กผู้หญิงที่จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในชีวิตเธออย่างซาบซึ้ง ละเอียดและอุดมด้วยอารมณ์จนบันทึกได้กลายเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าไม่ว่าจะในด้านการประพันธ์หรือด้านประวัติศาสตร์ซึ่งเกี่ยวกับความโหดร้ายของสงคราม บันทึกของเธอได้รับการตีพิมพ์กว่า 50 ครั้ง มียอดขายเป็นเบสเซลเลอร์กว่า 18 ล้านเล่ม และถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 20 ภาษา นอกจากนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของ Anne ยังได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นบทละครและภาพยนตร์ด้วย
       
        Anne Frank เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1929 ที่เมือง Frankfurt ในเยอรมนี บิดา Otto และมารดา Edith มีลูกสาว 2 คน ชื่อ Margot และ Anne ครอบครัวนี้ทำธุรกิจธนาคารจนถึงปี 1933 จึงได้อพยพออกจากเยอรมนีไปฮอลแลนด์ เพราะในขณะนั้นเยอรมนีกำลังมีการต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรง เมื่อเดินทางถึง Amsterdam บิดาได้ตั้งบริษัท ชื่อ Opekta และได้จัดการให้ Anne เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียน Montessori
       
        เพื่อนของ Anne เล่าว่า เธอดูเป็นคนเคร่งขรึมและดูเป็นผู้ใหญ่แต่ก็สนใจเรื่องราวต่างๆ เหมือนเด็กหญิงทั่วไป คือ ดาราภาพยนตร์และการแต่งตัว
       
        เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1940 กองทัพนาซีได้บุกเข้ายึดฮอลแลนด์ และประกาศจะกวาดล้างคนยิวให้สิ้นซาก ในเบื้องต้นนาซีได้ออกกฎหมายควบคุมธุรกิจทุกรูปแบบที่คนยิวทำพร้อมสำทับว่า ถ้าใครไม่พอใจก็ให้ขายธุรกิจให้คนอื่นทำต่อ จากนั้นได้ออกคำสั่งห้ามคนยิวทำมาค้าขาย สั่งเผาหนังสือที่คนยิวแต่ง ห้ามคนเชื้อสายอารยันแต่งงานกับคนยิวอย่งเด็ดขาด ห้ามคนยิวไม่ให้เดินในสวนสาธารณะ ห้ามคนยิวเข้าห้องสมุด ห้ามโทรศัพท์ ห้ามขี่จักรยาน เวลาไปไหนมาไหนให้ติดเศษผ้าที่ทำเป็นรูปดาวสีเหลืองที่หน้าอกทำนอง “ประจาน” อีกทั้งไม่ให้เด็กยิวเข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา กฎหมายและข้อห้ามเหล่านี้ยังกำหนดอีกว่า ถ้าใครขัดขืน หรือต่อต้านจะถูกส่งตัวไป (ตาย) ที่ค่ายกักกัน Auschwitz เมื่อวิถีชีวิตและจิตใจถูกปิดล้อม และปิดกั้นเช่นนี้ ทางรอดของคนยิวก็มีเพียงหนทางเดียว คือ หลบซ่อนตัวจนกระทั่งนาซีหายไปจากโลก
       
        Otto Frank โชคดีที่ได้ลูกจ้างชื่อ Koophuis Kraler กับเลขานุการ 2 คน หาที่ให้หลบซ่อนอยู่ในอาคารเก็บสินค้า Prinsengracht 263 โดยได้ดัดแปลงห้องเล็กใต้หลังคาบ้านเป็นที่ซ่อน และมีตู้หนังสือปิดที่ประตูทางเข้าออก ครอบครัว Frank เรียกห้องซ่อนว่า Annex
       
        ในวันที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1942 พี่สาว Margot ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวต่อทหารนาซี และเธอไม่ได้กลับมาหาครอบครัวอีกเลย ทุกคนจึงตระหนักว่า ถึงเวลาหนีตายแล้ว ดังนั้นจึงพากันไปซ่อนตัวในห้องลับ Annex แล้วให้ Kraler กับเลขาฯ ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหาร
       
        ในเวลากลางวัน พ่อแม่และ Anne จะต้องไม่ทำเสียงดัง เมื่อถึงวันเกิดครบ 13 ปีของเธอ Anne ได้รับของขวัญเป็นสมุดบันทึกเล่มหนึ่ง เธอจึงใช้สมุดเล่มนั้นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเธอตลอดเวลา 25 เดือนต่อมา
       
        ในบันทึกเล่มนั้นเธอได้บรรยายชีวิต และความรู้สึกของเธอในแต่ละวันว่า ต้องกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ กระหล่ำ ผักขม และมันฝรั่งที่ไม่สะอาด ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความกลัวตาย เธอรู้สึกผูกพันกับพ่อและแม่มาก เธอขอให้พระเจ้ายกโทษให้พวกนาซีที่กำลังยึดครองฮอลแลนด์ เธอได้บรรยายเหตุการณ์ต่อต้านคนยิวที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน เธอกล่าวถึงความรู้สึกของเด็กผู้หญิงเล็กๆ คนหนึ่งที่กำลังเผชิญการคุกคามชีวิตจากโลกภายนอก ฯลฯ
       
        เมื่อถึงวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1944 ตำรวจลับนาซีและพรรคพวกที่เป็นสมุนชาวดัชท์ 4 คน ได้บุกเข้าไปในอาคาร Prinsengracht 263 แล้วขึ้นไปที่ Annex เพื่อจับพ่อแม่และ Anne ส่งไปค่ายกักกันที่ Auschwitz (โลกไม่รู้ว่าใครเป็นคนบอกที่ซ่อนของครอบครัว Frank ก่อนถูกนำตัวไป Anne ได้ซุกบันทึกในห้อง และบันทึกนี้ได้ตกถึงมือของพ่อ ในฤดูร้อนของปี 1945 เพราะ Otto คือ บุคคลเดียวที่รอดชีวิตกลับมา)
       
        ในขณะที่ตำรวจลับกระชากชั้นหนังสือออกจากประตู แล้วลากตัว Anne ไปทำลายชีวิตนั้น ทหารนาซีไม่รู้เลยว่า วิญญาณของ Anne ได้เข้าไปแฝงตัวอยู่ในบันทึกแล้ว และเมื่อบันทึกถูกเปิดอ่านในเวลาต่อมา วิญญาณของเธอก็ได้ออกมาปรากฏให้โลกเห็นเป็นที่เรียบร้อย
       
        ขณะถูกกักบริเวณในค่ายกักกัน ความทารุณโหดร้ายได้ทำให้ Anne ต้องพลักพรากจากพ่อและแม่ จนไม่ได้พบเห็นกัน Anne จึงคิดไปเองว่า ทุกคนรวมถึงพี่สาว Margot คงตายหมดแล้ว เหลือแต่เธอเพียงคนเดียวในโลก Anne จึงรู้สึกทอดอาลัยในชีวิต และยอมตายตามทุกคนไปโดยดีในราวเดือนมีนาคม 1945
       
        เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ Otto Frank ได้มีโอกาสอ่านบันทึกของ Anne และหลังจากที่ได้อ่านไป 3 หน้า Otto ก็น้ำตาไหล เมื่อประจักษ์ในความรู้สึก ความนึกคิด ความฝัน และความต้องการของลูก และบอกว่าพ่อเสียใจที่ไม่เคยรู้ว่า ลูกรู้สึกเช่นไร Otto ไม่คิดจะตีพิมพ์บันทึกที่ Anne เขียน แต่เพื่อนของเขาที่เป็นศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า บันทึกนี้เป็นเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งทางประวัติศาสตร์
 

บันทึกของ Anne Frank

       Otto จึงนั่งคิดอยู่นาน แล้วตัดสินใจตีพิมพ์ โดยตั้งชื่อเรื่องว่า Het Achterhuis (The Secret Annex) และได้ตัดข้อความบางตอนออก เพราะไม่ต้องการให้เสียความรู้สึกของคนที่ถูกพาดพิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงที่ Anne คิดว่า พ่อกับแม่มิได้รักกัน ทั้งๆ ที่แม่รักพ่อมาก แต่พ่อมิได้ให้ความรักแก่แม่มากเหมือนที่แม่ให้พ่อ
       
        การตัดสินใจตีพิมพ์บันทึกของ Anne จึงเท่ากับเป็นการล้างบาปให้พ่อของเธอ และผลกระทบก็ได้เกิดตามมาอย่างมหาศาล เพราะหลังจากที่ผู้อ่านได้อ่านบันทึกของ Anne เธอได้กลายเป็น icon ไปในทันที เพราะผู้อ่านมีอารมณ์และความรู้สึกร่วมกับเธอ จนรู้สึกเหมือนเป็นตัวเธอเอง
       
        ในปี 1953 Otto ได้แต่งงานใหม่ แต่ก็ยังพูดถึง Anne บ่อย และออกหนังสือ Anne Frank: The Diary of a Young Girl
       
        ในปี 1955 ได้มีการสร้างละครเวทีตามบันทึกชีวิตของ Anne Frank
       
        ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1957 มีการจัดตั้งมูลนิธิ Anne Frank เพื่อบูรณะอาคาร Prisengracht 263 ให้เป็นอาคารประวัติศาสตร์ ซึ่งจะให้ความรู้แก่สังคมว่าในอดีตคนยิวได้เคยถูกสังหารในลักษณะทำลายล้างเผ่าพันธุ์ และในปีเดียวกันนี้เอง เด็กหนุ่มสาวชาวเยอรมันร่วม 2,000 คนได้ออกเดินจาก Hamburg ไป Bergen-Belsen ท่ามกลางฝนที่ตกหนักเพื่อนำดอกไม้ไปวางที่หลุมศพรวมของ Anne Frank
       
        ในปี 1995 บางตอนของบันทึกที่ Otto ตัดออกได้ถูกนำออกเผยแพร่ บันทึกสมบูรณ์นี้จึงทำให้ทุกคนเห็นว่า Anne เป็นนักเขียนที่มีพรสวรรค์ แม้เธอมีอายุยังน้อย แต่สไตล์การเขียนของเธอปราศจากการเสแสร้ง คือตรงไปตรงมา จนหัวใจผู้อ่านนับล้านรู้สึกหวั่นไหวไปกับสำนวน และเนื้อหาที่เธอบรรยาย เธอเขียนได้ดีกว่าเด็กในวัยเดียวกันและผู้ใหญ่หลายคน
       
        เธอเชื่อว่า การเขียนบันทึกทำให้เธอรู้สึกดี และสบายใจขึ้น และเธอต้องการให้คนที่ไม่รู้จักเธอเป็นการส่วนตัวได้รู้จักเธอด้วยการอ่านงานเขียนของเธอ เธอเขียนเกี่ยวกับเรื่องเพศ ความสงสัยในคำสอนของคริสต์ศาสนา ความรู้สึกลึกๆ เกี่ยวกับความรักของพ่อกับแม่ และเธอรู้สึกว่าเธอเกิดมาท่ามกลางความขัดแย้งของคนทั้งสอง เธอเชื่อว่า ในส่วนลึกที่สุดของจิตใจมนุษย์ทุกคนก็ยังคิดดี และคนที่เกิดมาแล้ว ถ้าไม่ทำอะไรให้สังคมเลย และถ้าไม่ได้ให้ความรักแก่ใครเลย ก็จะไม่มีความสุขเลย เธอคิดว่า เธอเป็นคนดี และชีวิตทุกชีวิตมีค่า ถ้าดำเนินไปอย่างถูกต้อง ในส่วนของเธอที่ยังเป็นเด็กอยู่ เธอคิดว่า เด็กมักเหงามากกว่าคนชรา ฯลฯ
       
        สำหรับความรู้สึกที่ต่อต้านบันทึกของ Anne Frank ก็มีบ้างเหมือนกัน โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่ต่อต้านยิว โดยได้กล่าวหาว่า Otto Frank ใช้บันทึกของลูกสาวในการสนับสนุนยิว และบันทึกมีแต่เรื่องโกหกที่อ้างว่า ค่ายกักกันได้สังหารยิวไปนับล้าน เพราะสิ่งเหล่านี้คือข้ออ้างของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ใช้เป็นหลักฐานในการพิพากษาอาชญากรสงครามที่เมือง Nuremburg
       
        เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมานี้ ได้มีการนำต้น chestnut ซึ่งเป็นต้นกล้าขนาดเล็กที่เจริญเติบโตจากต้น chestnut ที่เคยขึ้นหน้าบ้านของ Anne Frank ไปปลูก ณ สถานที่ต่างๆ ในอเมริกา 11 ต้น
       
        เพราะตลอดเวลา 2 ปีที่ Anne แอบซ่อนตัวหนีนาซีนั้น เธอได้เขียนบันทึกถึงต้น chestnut หลายครั้ง เสมือนว่า chestnut คือสัญลักษณ์แห่งความหวัง ความอดทน และอดกลั้นของเธอ เช่น เธอเขียนว่า

“แทบทุกเช้า เวลามองออกไปนอกหน้าต่างห้องเหนือเพดาน ฉันจะสูดหายใจลึกๆ เห็นท้องฟ้า เห็นต้น chestnut เห็นหยาดน้ำค้างบนใบไม้ และเห็นนกนางนวลร่อนถลาลม”
       
        ในความเป็นจริง ต้น chestnut ต้นที่ Anne เห็นนั้น ได้ตายไปแล้ว แต่ในเดือนสิงหาคม ปี 2010 ได้มีต้นอ่อนงอกใหม่ และต้นกล้าอ่อนเหล่านี้ได้ถูกแยกไปปลูกที่ Children’s Museum of Indianapolis ที่ New York City และที่ Arkansas High School เป็นต้น ซึ่งโครงการนี้เกิดจากแนวความคิดของศูนย์ The Anne Frank Center ที่ America ซึ่งต้องการจะขจัดความเกลียดชังที่บังเกิดจากความไม่เข้าใจของมนุษย์ครับ
 

“แม้ตัวจะตายไป

แต่ใจของข้าพเจ้าก็ยังต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป”

เขียนโดย สุทัศน์ ยกส้าน 

ภาพประกอบจาก http://annefrank.com

 
Credit: http://www.unigang.com/Article/16295
6 พ.ย. 56 เวลา 20:58 1,408 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...