พิชิตท้องผูกแบบบ้าน ๆ (E-Magazine)
เรื่องท้องเรื่องไส้ใครว่าเป็นเรื่องเล็ก กินมากก็อืดท้อง กินน้อยก็โหยหิว วันดีคืนดีเกิดกินไม่ถูกหลัก สารพันปัญหายังแอบตามมาเคาะประตูถึงหน้าบ้าน โอ้ยยย...แค่คิดก็เริ่มเครียดแล้ว
คุณคิดว่า ตัวเองกินให้ห่างโรคแล้วหรือยัง?
"ท้องผูก" เป็นหนึ่งในอาการน่าเป็นห่วงที่มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารกากใยน้อย ซึ่งเจ้าอาการที่ว่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศโลกตะวันตก ที่ประชากรเกือบทุกคนประสบปัญหาท้องผูกอย่างถ้วนหน้า แต่ยังไม่มีใครให้ความสนใจกับอาการนี้กันอย่างจริงจัง ซึ่งหากมีอาการท้องผูกบ่อย ๆ ก็จัดได้ว่าเป็นโรคภัยชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป เพราะบางท่านอาจคิดว่าการขับถ่ายอุจจาระเป็นประจำไม่ใช่สิ่งจำเป็น คิดว่าการไม่ได้ถ่ายนาน ๆ 3-4 วัน ก็ไม่มีอันตรายใด ๆ แต่ความจริงแล้วการรับประทานอาหารทุกวัน ร่างกายก็จะมีการย่อยอยู่ทุกวัน ดังนั้นเราก็ควรขับถ่ายให้ได้ทุกวันด้วยเช่นกัน
ท้องผูกเกิดจากอะไร?
อาการท้องผูกสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
การอั้นอุจจาระเป็นประจำ ทำให้นิสัยการขับถ่ายเสียไป เพราะตามปกติเมื่อมีอุจจาระไปรอที่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลายจะทำให้มีกระแสประสาทกระตุ้นเตือนให้เกิดการถ่าย แต่ถ้าอั้นไว้บ่อย ๆ ระบบนี้ก็จะเสียไป ทำให้อุจจาระสะสมในลำไส้ใหญ่นานเกินไป น้ำในอุจจาระจะถูกดูดกลับมากเกินไป ทำให้อุจจาระแห้งแข็ง
การใช้ชีวิตแบบเฉื่อยแฉะ ขาดการออกกำลังกาย
รับประทานน้ำน้อยเกินไปในแต่ละวัน
ความเครียด ข้อนี้ค่อนข้างแปลก เนื่องจากในบางคนความเครียดทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน
รับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารน้อยเกินไป
ลำไส้ใหญ่ของเราเป็นอวัยวะส่วนที่จะเก็บอุจจาระไว้ซึ่งจะดูดซับสารเคมีหลายชนิดที่ปะปนอยู่ในอุจจาระ ซึ่งบางชนิดอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้ ยิ่งปล่อยให้อุจจาระหมักหมมในลำไส้ใหญ่นานเท่าใด โอกาสที่จะเกิดเป็นอันตรายก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น
อีกทั้งอุจจาระของเสียเหล่านี้ยังเป็นอาหารชั้นดีของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่อาศัยอยู่ในลำไส้ทำให้มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงการเพิ่มปริมาณของสารพิษ ของเสีย รวมทั้งแก๊สกลิ่นเหม็น อันจะทำให้เกิดอาการอึดอัด แน่นท้อง อ่อนแอ เจ็บป่วย หรือเกิดโรคริดสีดวงทวาร และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
รักษาอย่างไรดี
การรักษาโรคท้องผูกส่วนใหญ่แล้วคนที่มีปัญหาก็มักจะรักษาอาการด้วยตัวเองเป็นหลัก โดยเริ่มจากการใช้ยาระบาย หรือยาถ่ายในรูปต่าง ๆ ซึ่งยาพวกนี้มีตั้งแต่ที่ไม่เป็นอันตรายอะไรไปจนถึงอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากใช้เป็นประจำ และเป็นระยะเวลานานก็อาจมีการเพิ่มปริมาณมากขึ้น จนตัวยาเข้าไปทำลายระบบประสาทที่อยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้การบีบตัวของลำไส้ใหญ่เสียไปต้องพึ่งการใช้ยาตลอดชีวิต
นอกจากการใช้ยาแล้วบางคนก็จะใช้กลุ่มของไฟเบอร์ชนิดเม็ด แคปซูล หรือผง เช่น เมล็ดแมงลัก ใยอาหารจากหัวบุกซึ่งเป็น ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณกากอาหารที่เป็นอุจจาระให้มีปริมาณมากขึ้น โดยวิธีนี้จะเป็นการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่เร่งการขับถ่ายให้เร็วขึ้น
สำหรับยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก วิทยาการใหม่ ๆ ได้มีการพัฒนาเส้นใยอาหารบริสุทธิ์ "อินนูลิน" ซึ่งเป็นใยอาหารที่ละลายน้ำ นอกจากจะช่วยรักษาอาการท้องผูก และยังทำให้อุจจาระนุ่มขึ้นสามารถขับถ่ายได้ง่าย ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพลำไส้ และช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยใยอาหารอินนูลินถือเป็นพรีไบโอติกที่มีคุณสมบัติละลายในน้ำไม่ถูกย่อยและดูดซึมในทางเดินอาหารของร่างกาย แต่จะถูกหมักเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ ซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้ของเรา
โดยจุลินทรีย์สุขภาพ โดยเฉพาะชนิดปิฟิโดแบคทีเรียจะมีความสำคัญต่อเรื่องภูมิต้านทานของร่างกายช่วยส่งเสริมการสร้างวิตามินบี และการสังเคราะห์สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อตับ จึงถือว่าเป็นจุลินทรีย์ที่มีความสำคัญตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ เพราะในช่วงเด็กแรกเกิด ลำไส้จะไม่มีจุลินทรีย์ชนิดนี้ จะได้รับจากน้ำนมแม่
ส่วนผู้ใหญ่เมื่ออายุมากขึ้นปิฟิโดแบคทีเรียในร่างกายจะลดจำนวนลง ดังนั้นจึงพบว่าผู้ที่มีปัญหาท้องผูก หรือร่างกายอ่อนแอ มักพบปิฟิโดแบคทีเรียน้อยกว่าคนทั่วไปใยอาหารชนิดอินนูลินได้นำมาใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อลดอาการท้องผูก
และจากงานวิจัยยังพบด้วยว่า อินนูลินมีประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ส่งเสริมให้จุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้เจริญเติบโต ป้องกันการติดเชื้อและสภาพจุลินทรีย์ในลำไส้ให้อยู่ในภาวะสมดุล เพิ่มการดูดซึมของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุเหล็ก
อย่างไรก็ตาม การทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารมาก ๆ จำพวกผักผลไม้ ซึ่งนอกจากจะแก้ปัญหาท้องผูกแล้ว ยังมีผลดีต่อการลดโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และช่วยควบคุมโรคเบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถทานได้ การมองหาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอย่างที่เราแนะนำในข้างต้น ออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ฝึกการถ่ายให้เป็นนิสัยก็ช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้
นั่งดี ๆ เวลา...
นอกจากเลือกทานให้ถูกหลักแล้ว การจัดท่านั่งเวลาข้าศึกบุกก็ควรทำให้ถูกต้อง คือ กรณีที่เป็นส้วมชักโครก ควรโค้งตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อให้มีแรงเบ่งมากขึ้น เปลี่ยนทัศนคติเรื่องการถ่ายอุจจาระทุกวัน เพราะท้องผูกขึ้นกับสภาพอุจจาระ