ปีนี้สถิติเรื่องความเสมอภาคทางเพศจาก เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ระบุให้ประเทศไทยเป็นประเทศลำดับที่ 65 ที่มีความเสมอภาคทางเพศมากที่สุดในโลก
สถิติที่ได้มาจากการพิจารณาปัจจัยด้านสุขภาพ การศึกษา การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ และการเข้ามามีบทบาททางการเมือง โดย เวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม ระบุไว้ชัดเจนในรายงานว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงอย่างชัดเจน
ในภาพรวมการพัฒนาด้านความเสมอภาคทางเพศใน 86 ประเทศ จากทั้งหมด 133 ประเทศดีขึ้นถึงแม้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น อย่างช้าๆ
ประเทศที่ครองอันดับ 1 ติดต่อกันมาตลอดยังคงเป็นประเทศ ไอซ์แลนด์ ขณะที่อันดับ 2, 3 และ 4 เป็นประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ทั้ง ฟินแลนด์ สวีเดน และ นอร์เวย์ ตามลำดับ ขณะที่ ฟิลิปปินส์ ตามมาเป็นอันดับ 5 และเป็นประเทศเดียวในเอเชีย ที่มีความเสมอภาคทางเพศอยู่ในท็อปเท็น ของโลก
และเป็น 1 ใน 2 ประเทศร่วมกับประเทศ นิการากัว ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ในอันดับท็อปเท็น
สาเหตุที่ประเทศในแถบทะเลเหนือเป็นผู้นำในด้านความเสมอภาคทางเพศ ซาเดีย ซาฮิดี หนึ่งในนักวิจัยผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ระบุว่า ประเทศเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ในการสนับสนุนความสามารถของประชาชนมาอย่างยาวนาน เนื่องจากประเทศเหล่านี้เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดเล็ก และมีจำนวนประชากรไม่มาก จึงเน้นให้ความสำคัญกับทักษะและศักยภาพในตัวทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงและชาย
สถิติยังระบุอีกว่าภูมิภาคตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือเป็นเพียง 2 ภูมิภาคที่ไม่มีพัฒนาการที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกัน และเยเมนเป็นประเทศที่มีการพัฒนาน้อยที่สุด
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 80 ของประเทศที่สำรวจมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลคืออีกร้อยละ 20 ของประเทศที่เหลือ นอกจากจะไม่มีการพัฒนาแล้วยังเดินถอยหลังและยิ่งเพิ่มความแตกต่างทางเพศของคนในประเทศด้วย
ยกตัวอย่างประเทศมุสลิม เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบีย ที่มีพัฒนาการโดดเด่นในด้านการศึกษาและระบบสาธารณสุขภายในประเทศ แต่ขาดการควบรวมสิทธิสตรีเข้าไปในพัฒนาการ
ขณะที่ประเทศในแถบทะเลทรายซาฮาราซึ่งไม่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของสตรีมากนัก แต่กลับมีผู้หญิงเข้ามาดำเนินบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ตามสถิติร้อยละ 96 ของสตรีมีความเท่าเทียมกับบุรุษในเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ร้อยละ 93 ของผู้หญิงทั่วโลกเข้าถึงการศึกษาได้เท่าผู้ชาย โดยมีผู้หญิงในทั้งหมด 25 ประเทศที่เข้ารับการศึกษาได้เท่าเทียมผู้ชาย
แต่ทั่วโลก มีเพียงร้อยละ 60 ของสตรีที่เข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจเท่าเทียมบุรุษ ซึ่งรายงานชี้ว่ามีข้อจำกัดของผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะใน จีน และ ญี่ปุ่น ซึ่งรั้งอยู่ที่อันดับ 69 และ 105 ตามลำดับ ที่ทำได้น่าผิดหวังมากในการส่งเสริมความเท่าเทียมของสตรีเพศ
ในแง่บท บาททางการเมือง ผู้หญิงไม่ได้เป็นตัวแทนทางการเมืองมากนัก นับเป็นเพียงแค่ร้อยละ 2 ทั่วโลก โดย ไทย และ นิการากัวได้รับคำชมว่าสนับสนุนให้สตรีเข้ามามีบทบาททางการเมืองได้มากขึ้น
ในส่วนของไทย บทบาทของผู้หญิงใน ด้านการบริหารประเทศมีความเท่าเทียมกันมากกับบทบาทของผู้ชาย รวมทั้งการที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทยทำให้สถิติด้านผู้หญิงในฐานะผู้นำประเทศมีความเท่าเทียมเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 35
ในด้านการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ มีสตรีที่ทำงานใช้ความสามารถเฉพาะทางมีความเท่าเทียมกับผู้ชายมากที่สุด รองลงมาเป็นเรื่องบทบาทของผู้หญิง ในตำแหน่งบริหาร ร้อยละ 80 ขณะที่การมีส่วนร่วมของแรงงานและรายได้เฉลี่ยต่อหัวมีความเท่าเทียมราว ร้อยละ 50 ขณะที่การเท่าเทียมกันทางด้านรายได้ระหว่างเพศชายและเพศหญิงน้อยที่สุด
ด้านการศึกษา ความเสมอภาคของหญิงและชายไทยในเรื่องความสามารถในการอ่านออกเขียนได้อยู่ที่ร้อยละ 86 ความเสมอภาคในการรับการศึกษาในระดับประถมที่ร้อยละ 76 ในขณะที่การศึกษาระดับมัธยมและอุดมศึกษามีความเสมอภาคชัดเจนที่สุด
ขณะที่ความเท่าเทียมกันด้านสุขภาพ หญิงและชายไทยสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน
ซาเดียบอกว่าการจัดทำรายงานนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะชี้ให้เห็นว่า สตรีในประเทศยากจนมีโอกาสได้รับความเสมอภาคเท่าเทียมบุรุษน้อยกว่าสตรีในประเทศร่ำรวย รายงานนี้ควรจะกระตุ้นให้แต่ละประเทศเห็นว่าตนสามารถพัฒนาเพิ่มเติมในด้านใดบ้าง
"ผู้หญิงถือเป็นครึ่งหนึ่งของทรัพยากรบุคคลที่เรามีอยู่ในทุกเขตเศรษฐกิจและ ทุกบริษัท และถ้าความสามารถของพวกเธอไม่ได้นำมาใช้อย่างเต็มที่จะไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย"
ที่มา : ข่าวสด