หวนคืนสู่สวรรค์ใต้สมุทร

 

 

 

หวนคืนสู่สวรรค์ใต้สมุทร

 

 

หลังจากผ่านไป 17 ปี ช่างภาพ เดวิด ดูบิเลต์ หวนกลับไปยังอ่าวคิมบีเพื่อดูว่า แดนสวรรค์ยังพิสุทธิ์อยู่หรือไม่

ในจักรวรรดิใต้สมุทรนามแปซิฟิกมีอาณาจักรปะการังแห่งหนึ่งชื่อว่า อ่าวคิมบี (Kimbe Bay) “เป็นโลกที่แปลกประหลาดยิ่งกว่าสุดขอบอวกาศเสียอีก” เดวิด ดูบิเลต์ ช่างภาพ ว่าไว้อย่างนั้น อ่าวแห่งนี้ตั้งอยู่บนชายฝั่งเกาะนิวบริเตนในปาปัวนิวกินี  ลักษณะทางธรณีวิทยาอันเปราะบางในภูมิภาคซึ่งตั้งคร่อมแนวรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นได้รังสรรค์แดนภูเขาไฟ ไหล่ทวีปแคบๆที่ทิ้งตัวลงสู่ก้นสมุทรลึกสองกิโลเมตร และเทือกเขาใต้น้ำที่มีแนวปะการังประดับยอดมาตลอดระยะเวลาหลายพันปี

 

 

เมื่อ 17 ปีก่อน ดูบิเลต์ใช้เวลาอยู่ที่อ่าวคิมบีแปดวันเพื่อถ่ายภาพประกอบสารคดี และประสบการณ์ในครั้งนั้นก็กระตุ้นความปรารถนาที่จะหวนกลับไป

“แนวปะการังบางแห่งเคลื่อนไหวราวกับภาพวาดแนวแอบสแทรกต์” เขาเปรียบเปรย แต่คิมบีนั้นอ้อยอิ่ง “เหมือนภาพวาดแนวอิมเพรสชันนิสม์” การนับจำนวนสิ่งมีชีวิตที่แกว่งไกว แหวกว่าย หรือคืบคลานอยู่ท่ามกลางกระแสน้ำเหล่านั้น ก็ไม่ต่างจากการเป็นสักขีพยานในความหลากหลายที่แบ่งบาน สรรพชีวิตในทะเลแถบนี้ครอบคลุมปะการัง 536 ชนิด (มากกว่าครึ่งหนึ่งของชนิดพันธุ์ทั้งหมดในโลก) และปลาที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังถึงราว 900 ชนิด ที่นี่ยังเป็นบ้านของสัตว์ตัวน้อย (อย่างม้าน้ำแคระ) และยักษ์ใหญ่ (อย่างวาฬหัวทุย) ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

 

 

ความหลากหลายที่ว่านี้เกิดขึ้นได้ก็ด้วยความประจวบเหมาะของลักษณะทางภูมิศาสตร์ กระแสน้ำมหาสมุทร อุณหภูมิ และวิวัฒนาการที่ไม่อาจคาดเดา

ปัจจุบัน แนวปะการังแห่งนี้ยังคงมีชีวิตชีวาเช่นเดียวกับเมื่อ 17 ปีก่อน ต่างจากแนวปะการังอื่นๆอีกหลายแห่งในโลก ความห่างไกลทำให้อ่าวคิมบีไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านประชากรเหมือนในภูมิภาคอื่นๆ ที่นี่ไม่มีการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งยังอุดมสมบูรณ์เพราะได้รับการปกปักรักษาอย่างดี หนึ่งในบรรดาผู้ปกป้องเหล่านั้นคือ องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ (Nature Conservancy) ซึ่งวางแผนจะจัดตั้งเขตอนุรักษ์ทางทะเล 14 แห่งขึ้นในอ่าวคิมบี โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการศึกษาและการอนุรักษ์ในท้องถิ่นชื่อ มาโฮเนียนาดารี (หรือ “ผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเล” ในภาษาท้องถิ่น)

 

 

ณ เวลานี้ มวลมัจฉาและปะการังยังคงอยู่ ขอย้ำว่า “ณ เวลานี้” เท่านั้น เราจำต้องพูดซ้ำซากว่า แนวปะการังนั้นไม่จีรังยั่งยืน พวกมันเปราะบางต่อความเป็นกรดในมหาสมุทร การทำประมงเกินขนาด มลพิษที่เกิดจากการชะล้างในภาคการเกษตร และเหนือสิ่งอื่นใดคือภาวะโลกร้อน ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ทางชีววิทยาที่จบลงด้วยปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว

 

 

“เราไปถึงในฤดูมรสุมที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายสิบปีครับ” ดูบิเลต์เล่าถึงการกลับไปเยือนอ่าวคิมบี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้รูปแบบลมฟ้าอากาศปั่นป่วนทั่วโลก สำหรับที่นี่ ฤดูมรสุมย้ายไปเกิดในเดือนที่ปกติมักมีอากาศปลอดโปร่งและหนาวเย็น ฝนที่ตกหนักชะน้ำจากผืนแผ่นดินลงมาปนเปื้อนน่านน้ำใกล้ชายฝั่งจนขุ่นคลั่ก ทำให้เขาต้องถ่ายภาพแนวปะการังที่อยู่ไกลออกไปจากชายฝั่ง

กระนั้น อ่าวคิมบีก็ไม่คลายมนตร์ขลัง ฝูงปลาสีเงิน ปะการังสดใส และแส้ทะเลสีแดงที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของดูบิเลต์เมื่อ 17 ปีก่อนยังไม่หนีหายไปไหน อย่างน้อยก็ ณ เวลานี้ แนวปะการังกว่าครึ่งในปาปัวนิวกินีกำลังถูกคุกคาม แนวปะการังนั้นช่างเปราะบาง... เปราะบางและตราตรึงดุจความฝันที่ประทับอยู่ในความทรงจำ

 

คุณเป็นคนมีน้ำใจ ขอบคุณที่กด Like.ให้ครับ

Credit: http://www.ngthai.com/Index.aspx
5 พ.ย. 56 เวลา 15:23 3,100 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...