อ้าแขนรับชาวต่างชาติเข้าสู่ดินแดนอันเต็มไปด้วยรอยยิ้มและวัฒนธรรมอันงดงามได้อย่างเต็มภาคภูมิจริงๆ สำหรับประเทศไทย เจ้าของฉายาสยามเมืองยิ้ม ที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับโดยธนาคาร HSBC ให้เป็นดินแดนในฝันอันดับหนึ่งของชาวต่างชาติ
จากการสำรวจความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 7,000 คน จากทั้งหมด 100 ประเทศทั่วโลก พบว่าเมืองไทยของเราเป็นประเทศดีที่สุดในโลกสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานและใช้ชีวิตอยู่ หรือที่เรียกกันว่า “เอ็กซ์แพต” (Expat)
เหตุผลหลักๆ ก็คือ ค่าครองชีพต่ำ โอกาสในการหารายได้ที่สูง การใช้ชีวิตในสังคมที่เป็นไปอย่างสบายๆ และมีความเป็นกันเอง การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว และการหาเพื่อนที่ง่ายแสนง่าย ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกในการตัดสินใจสำหรับชาวต่างชาติที่จะย้ายเข้ามาปักหลักอยู่ในไทยเป็นการถาวร
สำหรับอันดับ 2 รองจากไทยก็คือ บาห์เรน และอันดับ 3 คือ จีน ส่วนประเทศในแถบเอเชียอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย และไต้หวัน ก็ขึ้นมาอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่ชาวต่างชาติอยากเข้ามาย้ายถิ่นฐานและทำงานมากที่สุด
นีล แมคคาร์ธี ชายชาวสหรัฐ วัย 46 ปี เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ดีและภูมิทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม อีกทั้งร้านอาหารและระบบสาธารณูปโภคของประเทศก็มีมาตรฐาน จึงคิดไม่ผิดที่ย้ายมาอยู่ที่ไทย และตอนนี้ก็อยู่มานานถึง 12 ปีเต็มแล้ว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เอเชียกลายเป็นทวีปที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงมากที่สุด จึงเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดให้ชาวต่างชาติตัดสินใจเลือกเข้ามาอยู่ในประเทศแถบนี้ โดยหากประเมินถึงสภาพเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไทยอยู่ในอันดับ 4 อินโดนีเซียอันดับ 6 และสิงคโปร์อยู่ในอันดับ 9 โดยชาวต่างชาติที่อยู่ในไทยกว่า 80% เปิดเผยว่า ตั้งแต่ย้ายเข้ามาพำนักในประเทศไทย รายรับเข้ามามากกว่าเดิม
นอกจากนี้ ความเป็นเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมก็ส่งผลต่อการตัดสินใจของชาวต่างชาติในการเข้ามาอยู่ที่เมืองไทยด้วย โดยผู้ให้สัมภาษณ์กว่า 60% ระบุว่า วัฒนธรรมไทยเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่เลือกเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยอารยธรรม
อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ตอบสนองชาวต่างชาติที่คิดจะนำลูกหลานมาปักหลักในระยะยาวได้อย่างเต็มที่ โดยเหตุผลหลักก็คือ มาตรการการศึกษา ซึ่งในส่วนของมาตรฐานด้านนี้ ชาวต่างชาติต่างเทคะแนนให้กับประเทศเยอรมนีมาเป็นเบอร์หนึ่งในการเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตในต่างแดน
รองลงมาก็คือ ฝรั่งเศส เบลเยียม และสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราค่าครองชีพที่สูงพอประมาณ แต่มีคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อบุตรหลานในอนาคต
ที่มา : โพสต์ทูเดย์