ตำนาน เก่าแก่ของฝรั่งเศส เล่าไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ หมู่บ้าน รูอง ได้มีมังกรร้าย ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์พ่นไฟมาคุกคามหมู่บ้านนี้ โดยยื่นคำขาดให้จัดหาสาวบริสุทธิ์ ส่งให้มันหม่ำในทุกฤดูใบไม้ผลิ มิฉะนั้น มันจะพ่นไฟ เผาผลาญหมู่บ้านให้สิ้น
ซึ่งชาวบ้านก็ต้องยินยอม ปฏิบัติตามคำเรียกร้องของมัน กระทั่งว่ามีบางปีที่ขาดแคลนสาวบริสุทธิ์ ก็ต้องต่อรองขอส่งนักโทษ ไปให้มันเคี้ยวกินแทน ซึ่งเจ้ามังกรก็จะพ่นไฟ เป็นเชิงไม่ค่อยถูกใจนัก ทำให้ทั้งหมู่บ้านตกอยู่ในห้วงความทุกข์ บ้านใดมีลูกสาว พอโตขึ้นก็ต้องส่งไปสังเวยเจ้ามังกรร้าย ซึ่งพวกเขาขนานนามมันว่า ลา กาคีเกยย์
และแล้ววันดีคืนดี ก็มีนักบวชผู้ทรงศีล รูปหนึ่งมาเยือนหมู่บ้านรูอง พอได้ทราบถึงชะตากรรมของชาวบ้าน ท่านก็เสนอตัวช่วยเหลือ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าหากท่านสามารถ กำจัดเจ้ามังกรพ่นไฟตัวนี้ได้ ชาวบ้านจะต้องช่วยกัน สร้างโบสถ์ให้ท่านหนึ่งหลัง ซึ่งชาวบ้านก็ยินดีตกลง ทั้งๆ ที่ไม่สู้แน่ใจว่า ท่านจะเอาชนะเจ้ามังกรได้
ท่านสาธุคุณมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าอันเป็นถิ่น อาศัยของเจ้ามังกร อาวุธติดกายของท่านมีเพียง ไม้กางเขนกับศรัทธา แต่ด้วยของสองสิ่งนี้ท่าน ก็สามารถสยบเจ้ามังกร ลงได้และลากตัวมันกลับมาหมู่บ้าน ท่ามกลางความยินดีของชาวบ้าน พวกเขามัดเจ้ามังกรไว้กับเสาหลัก แล้วเผามันทั้งเป็น หากทว่าเจ้ามังกรร้ายนั้นมันคุ้นเคยกับการพ่นไฟ พระเพลิงจึงไม่อาจเผาผลาญหัวกับคอของมันได้
ดังนั้น หลังจากลำตัวและอวัยวะอื่นๆ โดนเผามอดไหม้ไปหมดแล้วก็ยังเหลือส่วนหัวกับคอ ซึ่งทำยังไงๆ ก็คงทนอยู่ จนกระทั่งชาวบ้านสร้างโบสถ์ให้กับหลวงพ่อเสร็จตามสัญญา เมื่อไม่รู้จะทำยังไงกับหัวและคอของมังกร เก๊าะเลยยกเอาขึ้นไปติดประดับไว้กับตัวโบสถ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังแลเห็นได้ที่โบสถ์แห่ง ''รูอง''
นับตั้งแต่นั้นมา การนำหัวอสุรสัตว์ติด กับโบสถ์วิหารจึงกลายเป็นประเพณี ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมา ในดินแดนยุโรปตะวันตกยุคกลาง และเรียกประติมากรรมประหลาดนี้ว่า กาคีเกยย์ (GARGOUILLE) เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้ามังกร โดยเชื่อกันว่ามันมีความศักดิ์สิทธิ์ สามารถขับไล่ภูติผีปิศาจ และความชั่วร้ายต่างๆ ได้
นอกเหนือจากทำหน้าที่พิทักษ์โบสถ์แล้ว รูปสลักหัวอสุรสัตว์นี้ ก็ยังมีประโยชน์ด้านใช้สอยด้วยครับ คือเป็นที่ระบายน้ำฝน โดยน้ำฝนจากรางหลังคาจะไหลมาเข้าและพ่นออกทางปากรูปสลักนี้ ก็มีเหมือนกันที่บางตัวไม่ได้พ่นออกทางปาก แต่ดันพุ่งปรี๊ดออกทางรูอื่นที่ไม่น่าทัศนานัก
เมื่อชนยุโรปหลั่ง ไหลไปตั้งหลักแหล่งในอเมริกา ช่างแกะสลักก็ได้เอารูปแบบ ของประติมากรรมนี้ไปเผยแพร่ด้วย อาคารหลายแห่งใน สหรัฐฯ จึงมีรูปหัวอสุร สัตว์ติดประดับอยู่ ส่วนใหญ่มักเป็นรูปสลักจากหินปูน เครื่องมือสลักก็อาศัย แต่ค้อนกับสิ่ว ค่อยๆ แกะทีละน้อย กว่าจะเสร็จก็นานช้า และต้องใช้ฝีมืออันประณีตสุดๆ ดังนี้ บางครั้งจึงต้องใช้ ช่างปั้นมาช่วยขึ้นรูปจากดินเหนียวก่อน และใช้เป็นแม่แบบในการแกะสลัก ซึ่งทำให้ทำงานง่ายขึ้นหลายเท่าตัว
รูปสลักอสุรสัตว์ นี้ บางทีไม่รู้ชื่อของช่างผู้แกะสลัก คล้ายกับว่าไม่มีความสำคัญ ดังที่ช่างสลักคนหนึ่ง ตัดพ้อเอาไว้ที่รูปสลักของ ตนว่า
"เจ้าของอาคาร ไม่สนใจที่จะสืบหาว่าใครคือผู้สลักหรอก ก็เหมือนๆ กับที่เขา ไม่เคยอยากรู้ชื่อของช่างไม้ที่ทำตู้ โต๊ะหรือเฟอร์นิเจอร์ ในบ้านเขานั่นแหละ"