ในช่วงแรกเครื่องดื่มชูกำลังจะไม่ออกจำหน่ายในท้องตลาด แต่เครื่องดื่มชูกำลังเริ่มมีเป็นครั้งแรกในประเทศสก๊อตแลนด์เมื่อปี พ.ศ. 2444 โดยบริษัทที่ชื่อ "ไอรัล-บลู" โดยผู้ที่คิดค้นคือ "ไอรัล บริว" ส่วนในประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีเครื่องดื่มชูกำลังครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยลิโพวิตันดี ซึ่งมีกำลังการผลิตมากที่สุดในขณะนั้น โดยรสชาติมีความคล้ายคลึงกันกับเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้ออื่นที่ผลิตในประเทศเดียวกันและบรรจุอยู่ในขวดแก้วสีน้ำตาลขนาดเล็ก มีรูปร่างคล้ายขวดยา ในประเทศอังกฤษ เครื่องดื่มชูกำลังเริ่มเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2472 ในช่วงแรกใช้เฉพาะในโรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้กลับมาแข็งแรง แต่ในช่วงทศวรรษ 1980 จุดประสงค์ของการดื่มเครื่องดื่มชูกำลังก็ถูกเปลี่ยนเป็น "ดื่มเพื่อชดเชยพลังงานที่เสียไป"
อยากจะรู้ว่าบรรดาเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหลาย ที่มีข้อกำหนดว่าห้ามดื่มเกินวันละ 2 ขวด และโฆษณากันอย่างโจ่งแจ้งถึงสรรพคุณต่างๆ มีคุณประโยชน์หรือโทษมากกว่ากันอย่างไร??
เกี่ยวกับเครื่องดื่มที่โฆษณาว่าดื่มแล้วชูกำลัง ศ.น.พ.เทพ หิมะทองคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพธารินทร์ และประธานมูลนิธิเพื่อพัฒนาการบริบาลผู้ป่วยเบาหวาน อรรถาธิบายว่า เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มบำรุงกำลัง (Energy Drink) เป็น "เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน"
โดยที่ในความหมายทางวิทยาศาสตร์ ชื่อก็บอกยี่ห้ออยู่แล้ว กาเฟอีนจึงเป็นตัวบังคับ ทุกครั้งที่มีการตรวจวิเคราะห์ตามหลักการมาตรฐานของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 214 (พ.ศ.2543) คือ จะมีได้ไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อขนาดรับประทาน นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นขวดขนาด 100 ซีซี หรือ 150 ซีซี จะมีปริมาณกาเฟอีนเท่าๆ กัน คือ 50 มิลลิกรัม (หรือไม่น้อยกว่า บวกลบ 20% ของฉลากระบุ)
ซึ่งทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อไหน ราคาเท่าใด ต่างก็มีส่วนผสมของกาเฟอีนเท่ากันทั้งสิ้น เวลาที่มีการตรวจวิเคราะห์ว่าผ่าน หรือไม่ผ่าน ก็ดูกาเฟอีนเป็นหลัก ส่วนผสมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทอรีน ซูโครส และวิตามินต่างๆ นั้น ไม่มีการบังคับว่าจะต้องมีปริมาณมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เวลานี้ ในเครื่องดื่ม 1 ขวด นอกจากมีกาเฟอีน (ที่มีเท่ากัน) เป็นหลักแล้ว ยังมีส่วนประกอบอีก 3 ตัวที่พบในทุกยี่ห้อ คือ ทอรีน อินโนซิทอล และซูโครส (น้ำตาลทราย) ส่วนที่มีในบางยี่ห้อ ได้แก่ พวกวิตามินต่างๆ ทั้ง วิตามินบี 6 (ไพริด็อกซินไฮโดรคลอไรด์) วิตามินบี 12 (ไซยาโนโคบาลามิน) วิตามินบี 5 (แพนโทธินนอล) วิตามินซี ตลอดจนน้ำผึ้ง ไลซีน โคลีน กรดซิตริกแอซิด ฯลฯ
ส่วนผสมที่ปรากฏ ในสายตาเภสัชกรถือว่าตัวมีคุณค่าคือทอรีน ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในร่างกายคนเรา มีหน้าที่ เช่น ลดคอเรสเตอรอล แก้อาการแฮงก์จากการดื่มสุรา บ้างว่าช่วยส่งกระแสความรู้สึกให้ไวขึ้น สารตัวนี้มีอยู่ในนมแม่ เครื่องดื่มสำหรับเด็กบางยี่ห้อจึงผสมทอรีนเข้าไปเพื่อให้มีความคล้ายกับนมแม่
ในเครื่องดื่มชูกำลังไม่มีการกำหนดปริมาณทอรีน แต่ส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 800 มิลลิกรัม ซึ่งอยู่ในขนาดที่ได้ผล เดิมมีอีกตัวหนึ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายกัน คือ กลูคูโรโนแลกโตน เป็นสารตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ตามส่วนที่ให้ความแข็งแรงของร่างกาย ทั้งเอ็น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และตับ คุณสมบัติช่วยให้เหนื่อยน้อยลง ซึ่งสมัยก่อนเชื่อว่ามีช่วยทำลายสารเป็นพิษด้วย แต่ปัจจุบันกลูคูโรโนแลกโตนถูกตัดออกไปแล้ว เพราะราคาแพง จะคงเหลืออยู่ในบางยี่ห้อเท่านั้น
สำหรับกาเฟอีน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ปริมาณที่รับได้ 100-500 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ที่อยู่ในขนาดให้ผลก็คือ 200 มิลลิกรัม หากได้รับในขนาด 50-200 มิลลิกรัม จะกระตุ้นทำให้ไม่ง่วงนอน ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า สดชื่น ถ้ามากถึง 200-500 มิลลิกรัม อาจกระวนกระวาย มือสั่น นอนไม่หลับ ยิ่งถ้าเกิน 1,000 มิลลิกรัม จะทำให้มีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ เบื่ออาหาร เรียกอาหาร Caffeinism
สรุปตัวที่มีคุณค่าจริงๆ ก็คือ ทอรีน กลูคูโรโนแลกโตน และวิตามิน