เสมอภาคทางเพศไทยแพ้ลาว (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม จัดอันดับความเสมอภาคทางเพศของ 136 ประเทศ ฟิลิปปินส์ยอดเยี่ยมสุดของเอเชีย-แปซิฟิก ขยับจากอันดับ 8 ขึ้นไปอยู่อันดับ 5 ของโลก ส่วนไทยหล่นมาอยู่อันดับ 65 ตามหลังสิงคโปร์ ลาว
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2556 เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ได้เผยแพร่รายงานการวัดความเสมอภาคทางเพศครั้งที่ 8 โดยดูจากช่องว่างระหว่างผู้ชายและผู้หญิงผ่าน 4 ด้านหลักด้วยกัน คือ โอกาสและการมีส่วนร่วมทางภาคเศรษฐกิจ, ผลสำเร็จทางการศึกษา, การดำรงชีวิตและสุขภาพ และอำนาจทางการเมือง โดยรายงานประจำปี 2556 นี้ได้เพิ่มจำนวนประเทศที่สำรวจเป็น 136 ประเทศ
ทั้งนี้ จาก 133 ประเทศที่ทำการศึกษาในปี 2555 พบว่า มาถึงในปีนี้ มี 86 ประเทศที่ความเสมอภาคทางเพศได้รับการปรับปรุงขึ้น ส่วนประเทศที่สิทธิของชายและหญิงมีความใกล้เคียงกันมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ
1. ไอซ์แลนด์ ซึ่งอยู่อันดับ 1 เป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้ว
2. ฟินแลนด์
3. นอร์เวย์
4. สวีเดน
5. ฟิลิปปินส์ (ติด 5 อันดับแรกเป็นครั้งแรก)
6. ไอร์แลนด์
7. นิวซีแลนด์
8. เดนมาร์ก
9. สวิตเซอร์แลนด์
10. กัวเตมาลา
โดย ดับเบิลยูอีเอฟ ได้กล่าวชมเชยฟิลิปปินส์ไว้ในรายงานว่า เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในด้านความเสมอภาคทางเพศ โดยมีการพัฒนาด้านโอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้หญิง รวมถึงทำคะแนนได้ดีด้านการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย
สำหรับประเทศไทยซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์นั้น ปีนี้ได้รับการจัดอันดับโดยรวมอยู่ที่ 65 เปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านร่วมเอเชีย-แปซิฟิก นอกจากฟิลิปปินส์และนิวซีแลนด์แล้ว ที่อันดับเหนือกว่าไทยยังมี ออสเตรเลีย (24), มองโกเลีย (33), ศรีลังกา (55), สิงคโปร์ (58) และลาว (60)
ทั้งนี้ อันดับของไทย หากไม่รวมลาวที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับเป็นปีแรก จะอยู่อันดับ 64 เท่ากับปี 2555 การถูกลาวแทรกจึงทำให้อันดับของไทยตกลง 1 อันดับ อย่างไรก็ดี อันดับความเสมอภาคทางเพศของไทยนับแต่การสำรวจครั้งแรกในปี 2549 เป็นต้นมา ถือว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่อันดับ 40 (ปี 2549), อันดับ 52 (ปี 2550 และ 2551), อันดับ 59 (ปี 2552), อันดับ 57 (ปี 2553) และอันดับ 60 (ปี 2554)
หากแยกแยะตามดัชนีย่อยทั้ง 4 ด้าน ด้านการดำรงชีวิตและสุขภาพของไทยถือว่าเป็นด้านที่คะแนนดีที่สุด อันดับ 1 เท่ากับอีก 31 ประเทศ ด้านโอกาสทางเศรษฐกิจ อันดับ 50, การศึกษา อันดับ 78 แต่ด้านอำนาจทางการเมืองกลับได้อันดับ 89
ส่วนอันดับของประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ เช่น เวียดนาม (71), อินโดนีเซีย (95) มาเลเซีย (102) ขณะที่ประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออก อย่างจีน มีคะแนนในภาพรวมดีขึ้น ปีนี้อยู่อันดับ 69, ญี่ปุ่นลดลง 4 อันดับ อยู่ที่ 105 สาเหตุสำคัญมาจากจำนวนผู้หญิงในสภาลดน้อยลง ทั้งคะแนนด้านเศรษฐกิจดีขึ้น, เกาหลีใต้ หล่น 3 อันดับ มาอยู่ที่ 111 เนื่องจากกำลังแรงงานผู้หญิงและความเท่าเทียมด้านค่าแรงลดลง
ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม 20 ประเทศ เยอรมนีมีอันดับดีที่สุด แต่ยังแค่อันดับ 14 ลดลง 1 อันดับจากปี 2555 ส่วนอันดับของประเทศกลุ่มบริกส์ หรือประเทศเศรษฐกิจดาวรุ่ง ไล่ตามลำดับจากดีที่สุดคือ แอฟริกาใต้ (17), รัสเซีย (61), บราซิล (62), จีน (69) และอินเดีย (101)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก