7 เหตุผลที่ทำให้รถไฟญี่ปุ่นแตกต่างจากที่อื่น

 

 

 

 

เรื่องราวเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะของญี่ปุ่นนั้นมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟ ที่ไม่ว่าใครต่อใครที่ลองได้ใช้บริการแล้ว ก็จะต้องมองเห็นในเรื่องความสะดวกสบาย ความสะอาดสะอ้าน ความเร็ว รวมถึงความตรงต่อเวลา อย่างแน่นอน ถ้าอย่างนั้นเรามาดูกันดีกว่าว่ารถไฟที่ญี่ปุ่นมีเสน่ห์อย่างไร ทำไมถึงแตกต่างจากที่อื่นๆ 

 

7 เหตุผลที่ทำให้รถไฟญี่ปุ่นแตกต่างจากที่อื่น



1. การร่วมมือกันของผู้ผลิตรถไฟญี่ปุ่น 
 

 

เปิดตัวชิงกันเซนครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 1964
(Photo : Kyodo/Landov)



ขณะที่โรงงานผู้ผลิตรถไฟชื่อดังต่างๆ ทั่วโลก พยายามแข่งขันกัน โดยการศึกษา วิจัย และพัฒนารถไฟของตัวเองให้เป็นเลิศที่สุด แต่ในญี่ปุ่นโรงงานที่ผลิตรถไฟจะทำงานร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นเช่นนี้มานับตั้งแต่เริ่มมีการผลิตรถไฟชิงกันเซน (Shinkansen) เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1964 ชิงกันเซนรุ่นแรกนั้นคือ o Series เกิดจากการร่วมมือกันของผู้ผลิตรถไฟ 6 บริษัทนั่นคือ Nippon Sharyo, Kawasaki Sharyo, Kinki Sharyo, Kisha, Hitachi และ Tokyo Car Corporation ทำให้ปัจจุบันนี้รถไฟชิงกันเซนของญี่ปุ่นก็ยังมีความน่าเชื่อถือดีกว่ารถไฟที่อื่นๆ ในโลก รวมถึงรถไฟ TGV ของฝรั่งเศส (สถิติในปี 2007)
 



2. การแข่งขันกันของบริษัทผู้ให้บริการรถไฟ
 

 

Japan Railways Group (JR)



แม้ผู้ผลิตรถไฟในญี่ปุ่นจะแชร์ความรู้ การวิจัย เกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตต่างๆ ให้กันและกัน แต่ธุรกิจก็คือ..ธุรกิจ ย่อมต้องมีการแข่งขันกัน Nippon Railway ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการการขนส่งด้วยรถไฟที่เป็นเอกชนเจ้าแรก (ก่อตั้งขึ้นในปี 1881) ปัจจุบันมีรถไฟ 16 สายหลักในบริการในญี่ปุ่น แล้วเกือบทั้งหมด เป็นคู่แข่งชั้นดีกับ Japan Railways Group (JR) ซึ่งประกอบไปด้วย 6 บริษัทที่ให้บริการแบ่งแยกกันไปตามภูมิภาค การแข่งขันกันทางธุรกิจให้บริการรถไฟนี้จัดว่าค่อนข้างดุเดือดทีเดียว สังเกตได้จากหลายๆ เส้นทางรถไฟในญี่ปุ่น จะต้องมีอย่างน้อย 2 เจ้า วิ่งในบริการในเส้นทางเดียวกัน (อย่าง Narita Express ของ JR กับ Skyliner ของ Keisei ที่วิ่งให้บริการจากสนามบินนาริตะสู่ใจกลางกรุงโตเกียว) แล้วแต่ละเจ้ายังพยายามแข่งกันอีกด้วยว่า.. ใครจะเร็วกว่ากัน แถมยังแข่งกันจูงใจผู้โดยสารด้วยบริการอย่างอื่น เช่นการเปิดห้างสรรพสินค้าในเครือให้เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟที่ตนเองให้บริการอยู่อีกด้วย ทั้งห้าง Tobu, Tokyu, Odakyu, Seibu เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ก็ตกอยู่กับผู้ใช้บริการแบบเต็มๆ นั่นเอง
 



3. เทคโนโลยีเกี่ยวกับรถไฟ
 

 

การทดสอบ Maglev Bullet Train ที่เตรียมนำออกมาให้บริการจริง (เร็ว 310 MPH)



และถ้าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟญี่ปุ่น เราก็ต้องนึกถึงด้านเทคโนโลยีอันทันสมัยของเขาใช่มั้ยล่ะ 
นับตั้งแต่ช่วงปี 1990 รถไฟญี่ปุ่นมักจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ประหยัดงบประมาณมากที่สุด โดยมีอายุการใช้งานที่เหมาะสม (ประมาณ 15 ปี) แล้วผู้ผลิตก็นิยมใช้ของใหม่ ทดแทนของเก่าที่หมดอายุ สังเกตได้ว่ารถไฟญี่ปุ่นไม่นิยมซ่อม แต่จะนิยมเปลี่ยนมากกว่า ก็เพราะเทคโนโลยีเขาพัฒนาขึ้นมาไวมากนั่นเอง เราจึงได้เห็นรถไฟรูปทรงแปลกๆ หน้าตาใหม่ๆ ออกมาวิ่งให้บริการในญี่ปุ่นกันอยู่เสมอๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นการพัฒนามาเป็น Series ใหม่จากโมเดลที่ใช้เทคโนโลยีเก่านั่นเอง บางรุ่นเพิ่มเติมทั้งเทคโนโลยี แล้วอุปกรณ์เพื่อความสะดวกในการใช้รถไฟ รวมถึงเพิ่มระบบด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้ใช้บริการนั่นเอง แถมความเร็วที่เพิ่มขึ้นของรถไฟแต่ละรุ่น ก็สร้างความประทับใจกับผู้โดยสารได้เป็นอย่างดี (ประโยชน์ของผู้บริโภคอีกแล้วนะเนี่ย) 
 



4. ความหลากหลายของบริการเรื่องความเร็ว
 

 

ขบวนไหนดี ^^” (JR East Shinkansen)



มาพูดถึงเรื่องความเร็วกันบ้าง เนื่องจากรถไฟญี่ปุ่นมีผู้ให้บริการหลายเจ้า หลายบริษัท การแข่งขันกันทางธุรกิจก็ทำให้มีบริการที่หลากหลายด้วย ซึ่งประเทศอื่นๆ ในโลกก็มีการให้บริการขบวนรถไฟที่มีความเร็วที่แตกต่างกัน ทั้งขบวนแบบหวานเย็น แบบจอดเฉพาะป้ายหลักๆ หรือแบบจอดเฉพาะสถานีใหญ่เท่านั้น อยากไปถึงจุดหมายปลายทางเร็วแค่ไหน ผู้โดยสารก็สามารถเลือกกันได้ตามความเหมาะสม แต่ที่ญี่ปุ่นจัดได้ว่ามีความหลากหลายมาก เกี่ยวกับประเภทของความเร็วที่มีให้ผู้โดยสารเลือก ดูง่ายๆ อย่างรถไฟชิงกันเซนสาย Tokaido ก็มีให้เลือกความเร็วถึง 3 แบบ คือ Nozomi (เร็วสุดๆ จากโตเกียวไปโอซาก้า แค่ 2 ชั่วโมง 26 นาที) Hikari (ก็ประมาณ 3 ชั่วโมง) และ Kodama ซึ่งเป็นแบบหวานเย็น (แต่ก็ยังใช้เวลาแค่เพียงประมาณ 4 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้านั่งรถบัสล่ะก็ ไม่อยากนึกถึงเลยว่าก้นจะระบมขนาดไหน) และกล่าวกันว่า JR West (West Japan Railway Company) ครองแชมป์ในเรื่องนี้อยู่ เพราะมีรถไฟที่มีความเร็วต่างกันให้ผู้โดยสารเลือกกว่า 13 แบบ (จะถึงเร็วมาก เร็วน้อยไม่รู้ ... แต่ตอนเลือกว่าจะขึ้นขบวนไหนดี คงมึนไม่น้อย) 
 



5. ตารางราคาที่ซับซ้อน
 

 

ตารางเดินรถที่สถานีรถไฟในญี่ปุ่น



โอ๊ะ! จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของรถไฟญี่ปุ่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เหมือนกัน นั่นก็คือ...ตารางค่าบริการรถไฟ ใครที่เคยไปญี่ปุ่นต้องเคยสังเกตเห็นชาร์ต และตารางต่างๆ ตามสถานีรถไฟกันบ้างหล่ะ ขอบอกว่าเห็นแล้วมึนจริงๆ ต้องตั้งสติกันสักนิด เพื่อทำความเข้าใจกับตารางเหล่านั้น ก็แหม.. ความเร็วของรถไฟแต่ละขบวนเขาก็มีให้เลือกใช้บริการกันตั้งหลายแบบ ตารางราคามันก็ต้องออกแนวซับซ้อนกันบ้าง บางขบวนก็มีที่นั่งหลายประเภท ก็ต้องจ่ายค่าระบุที่นั่งเพิ่ม บางขบวนต้องจ่ายค่า “ความเร็ว” ด้วยนะ ถ้าขึ้นขบวนที่เร็วเป็นพิเศษ บางขบวนก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอยู่กับว่าเป็นช่วง Peak หรือเปล่า เรื่องนี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษจริงๆ นักท่องเที่ยวมือใหม่ถ้าซื้อตั๋วถูกต้อง ถูกประเภท ถูกราคา ตั้งแต่ครั้งแรก ถือว่าทำการบ้านมาดี หรือไม่ก็โชคล้วนๆ ฮะ ฮะ ก็ต้องมีลองผิดลองถูกกันมั่ง พยายามอย่าให้ซื้อตั๋วหลงไปคนละเส้นทางก็พอ จะถูกจะแพง... ยังไงก็ขอให้ถึงที่หมายก่อนละกันนะ สำหรับมือใหม่ (เอานะ.. เขายังมีตัวช่วยอยู่นิดนึงว่า ถ้าจ่ายถูกกว่าที่ควร เมื่อไปถึงปลายทางก็ไปจ่ายเพิ่มที่เครื่อง Fare Adjustment ได้ นักท่องเที่ยวจึงมักซื้อตั๋วถูกไว้ก่อน แล้วไปจ่ายเพิ่มเอาทีหลังนั่นเอง) 
 



6. ตรงต่อเวลา
 

 

ป้ายบอกเวลาของรถไฟญี่ปุ่นที่สุดแสนจะตรงเป๊ะ!



ชื่อเสียงที่ร่ำลือกันอื้ออึง เกี่ยวกับรถไฟญี่ปุ่นนั้นก็ไม่พ้นเรื่องเวลา ... ตรงต่อเวลาเว่อร์ มีการทำสถิติไว้หลายอย่างสำหรับรถไฟญี่ปุ่น อย่างเช่นในช่วงเวลาเร่งด่วน (rush-hours) รถไฟชิงกันเซนที่ออกจากโตเกียวนั้นมีจำนวนถี่มาก และสามารถออกได้ตรงเวลา ถึงขนาดออกเดินทางได้ทุกๆ 3 นาที หรืออย่างในปี 2003 รถไฟชิงกันเซน สาย Tokaido ออกเดินทางล่าช้า (delay) เฉลี่ยแค่ 6 วินาทีเท่านั้น!!! นี่เฉพาะรถไฟชิงกันเซนนะเนี่ย แล้วรถไฟขบวนอื่นๆ ล่ะ จะต้องแม่นยำเรื่องเวลากันขนาดไหนกันหนอ? แล้วสถานีรถไฟจำนวนไม่น้อยในญี่ปุ่นที่ชานชาลาเดียว จอดรถไฟทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ ถ้ามาถึงสถานีในเวลาเดียวกัน ก็ต้องรอกันเหมือน BTS บ้านเรามั้ยอ่ะ (สถานีสะพานตากสิน) ...อันที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจมากนัก เรื่องความตรงต่อเวลาของรถไฟญี่ปุ่น เพราะขบวนรถไฟเขามีให้บริการเยอะ ถ้าดีเลย์สักขบวน ก็คงจะรวนกันไปหมด แต่ถ้าตรงเวลากันแบบเป๊ะๆ ปัญหามันก็ไม่เกิดใช่มั้ยล่ะ เขาจึงต้องพยายามไม่ให้รถไฟแต่ละขบวนวิ่งเพี้ยนไปจากตารางการเดินทางนั่นเอง (อยากรู้จังว่าจะมีอะไรทำให้รถไฟญี่ปุ่น วิ่งเพี้ยน ดีเลย์ไปจากตาราง “แบบสุดๆ” บ้างนะ... นอกจากพายุเข้า แผ่นดินไหว อุบัติเหตุที่นานๆ ครั้งจะเกิดสักที และคนฆ่าตัวตายด้วยการโดดให้รถไฟชน T_T)
 



7. ประหยัดและคุ้มค่า
 

 

ตัวอย่างตั๋วรถไฟญี่ปุ่น (One-way)



เออ..ยังไง? ก็ทศวรรษที่ผ่านมารถไฟเกือบทั่วโลก รายได้หดหาย ขาดทุนย่อยยับกันแทบทั้งนั้น หลายๆ ประเทศก็ต้องพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐ ไม่งั้นก็ต้องยกเลิกการให้บริการกันไป ก็รายได้มันไม่เพียงพอต่อการลงทุนเสียแล้ว แต่เชื่อหรือไม่...แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงขาลง JR East (East Japan Railway) ก็ยังคาดการณ์ว่าจะได้รับผลกำไรสุทธิต่อปีมากกว่า 130,000 ล้านเยน เหอ เหอ... ก็คนญี่ปุ่นยังต้องเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางเพื่อติดต่อการค้า และธุรกิจ บางคนเดินทางวันเดียว ไปตั้งหลายจังหวัดไกลๆ แล้วกลับมานอนที่บ้านกันหน้าตาเฉย (ก็รถไฟมันเร็วนี่นา แถมยังสะดวก สบาย ไม่ต้องเสียเวลาเช็คอิน ตรวจนั่นนี่ ให้มากความเหมือนจะขึ้นเครื่องบินอีกด้วย) นอกจากนี้ค่าตั๋วรถไฟก็ไม่แพง เมื่อเทียบจากค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นแล้ว.. เขาจ่ายกันได้อ่ะ แล้วยังมีบัตรรถไฟแบบรายวัน แบบเติมเงิน แบบพิเศษๆ อีกหลายอย่างให้ทั้งชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวได้เลือกใช้กันตามความเหมาะสมอีก รถไฟจึงกลายเป็นบริการยอดฮิตในญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

เรียบเรียงโดย : ทีมงาน www.marumura.com

Credit: http://men.postjung.com/716420.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...