เราเริ่มพูดถึงเรื่องพลังงานทดแทนกันมาหลายปีแล้ว จากวัตถุดิบในท้องถิ่นบ้านเรา ที่เคยเห็นว่าเป็น “ขยะ” แต่ขณะนี้ขยะเหล่านี้อาจจะช่วยลดต้นทุนในชุมชน วิสาหกิจชุมชน โอท็อป ให้มีต้นทุนต่ำ รวมทั้งโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่ในบริเวณแหล่งของสินค้าการเกษตร หรือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเศษวัสดุเหลือใช้อย่างเช่น ขวดพลาสติก เศษยางรถยนต์ จำนวนมากเหล่านี้ได้กลายเป็นการลงทุน ที่คุ้มค่า เมื่อนำกลับมาแปรรูปแบบใหม่กลายเป็นพลังงานทดแทนในวันนี้
เรารวบรวม 6 รูปแบบของการผลิตพลังงานทดแทน ที่เป็นความร่วมมือกันของภาคเอกชน และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ที่เคยให้การสนับสนุนให้แต่ละโมเดลของต้นแบบการผลิตพลังงานทดแทนให้เกิดขึ้น ได้จริงวันนี้
รูปแบบของเทคโนโลยีทั้ง 6 มีมูลค่าตั้งแต่ล้านต้น ๆ ไปถึง 10 ล้านบาทขึ้น โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นผู้ให้การสนับสนุน เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีวัตถุดิบอยู่แล้วนำไปพัฒนาต่อเพื่อลดต้นทุน หรือในอีกมุมหนึ่งสำหรับธุรกิจเดิม อาจจะสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ นวัตกรรมใหม่ ๆ ในการใช้พลังงานทดแทน เจาะลงสู่ชุมชนวิสาหกิจ ต่อยอดให้ชุมชนเป็น ผู้ผลิต เกิดการสร้างโปรดักต์ใหม่ ๆ โดยต้นทุนไม่แพงเหมือนการใช้พลังงานไฟฟ้าทั่วไปก็เป็นได้
ทั้ง 6 โครงการมาจากการใช้เศษยาง เศษพลาสติก และเศษอาหาร มาแปรรูปเป็นพลังงานได้อย่างน่าสนใจ แทนที่เราจะนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีมูลค่าหลายล้านบาท แต่เทคโนโลยีในบ้านเรา เราคิดเอง ทำเอง นอกจากจะต้นทุนต่ำแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ออกมายังมีโอกาสพัฒนาไปได้อีกมากมาย เหมาะกับความต้องการในบ้านเราอย่างแท้จริง
เศษยางรถยนต์ นี่แหละตัวจริง
โครงการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากเศษยาง ของบริษัท รีนิวอเบิลเอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เป็นกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาต้นแบบการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจาก เศษยางรถยนต์ ด้วยกรรมวิธีไพโรไลซิส (pyrolysis) โดยนำเทคโนโลยีที่ได้จากการทดลองในระดับห้องปฏิบัติการมาพัฒนาขยายผลระดับ ต้นแบบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้คือ “น้ำมันเชื้อเพลิง” ที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล สำหรับการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมได้ มีการลงทุนที่ 7,653,500 บาท โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้าน เทคโนโลยี
โครงการเตาเผาแก๊สซิไฟเออร์แบบ V-Shaped Cross-Draft ของบริษัท ธรรมสรณ์ จำกัด เป็นผลิตภัณฑ์เตาเผาแก๊สซิไฟเออร์ เพื่อหม้อกำเนิดไอน้ำขนาด 6 ตันไอน้ำ โดยการออกแบบเตาปฏิกรณ์แบบ V-Shaped Cross-Draft ซึ่งใช้ยางรถยนต์เก่าหรือชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง รวมทั้งมีระบบป้อนเชื้อเพลิงและถ่ายเถ้าออกโดยอัตโนมัติ และระบบบำบัดมลพิษทางอากาศก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม มูลค่าการลงทุน 10,645,000 บาท
พลาสติกก็ทำได้
โครงการการกำจัดขยะและผลิตเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติก เป็นของบริษัท ดูไวย์ เอเชีย จำกัด เป็นกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ของการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากขยะพลาสติกด้วย เทคโนโลยีการกลั่นแบบอับอากาศ หรือไพโรไลซิส โดยมีการใช้ขยะพลาสติก 4 ตันต่อวัน สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงได้ประมาณ 2,800 ลิตรต่อวัน หรือ 897,000 ลิตรต่อปี มีการลงทุนไปราว 6,283,000 บาท มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานครเป็นผู้สนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี
โครงการระบบผลิตน้ำมันและไฟฟ้าด้วยกระบวนการไพโรไลซิส-แก๊สซิฟิเคชั่น โดยบริษัท พร้อมมาก จำกัด
เป็นกระบวนการเปลี่ยนขยะพลาสติกที่ติดไฟได้เป็นพลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน เชื้อเพลิงด้วยกระบวนการไพโรไลซิส- แก๊สซิฟิเคชั่น (pyrolysis-gasification) โดยการควบคุมสัดส่วนของอากาศและอุณหภูมิในห้องเผาไหม้ให้เกิดปฏิกิริยาได้ ตามทฤษฎี ระบบนี้ใช้วัตถุดิบหลักเป็นพลาสติกที่นำกลับมาเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ และยังลดปัญหาขยะที่กำจัดไม่ทันได้อีกด้วย มีมูลค่าในการลงทุน 10,000,000 บาท มีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีเป็นผู้ให้การสนับสนุน
ขยะเศษอาหารก็ได้ ไม่แพง
สุดท้ายแม้แต่ขยะในครัวเรือนที่คนในชุมชนทิ้งกัน ก็สามารถนำไปแปลงเป็นพลังงานได้เหมือนกัน เช่นเดียวกันกับโครงการเตาเผาขยะไร้มลพิษประหยัดพลังงาน บริษัท เชียงใหม่ เอ็นไวรอนเม้นท์ โปรเทค จำกัด เป็นผู้คิดผลิตภัณฑ์เตาเผาขยะชุมชนขนาดเล็ก (2 ตันต่อวัน) โดยอาศัยหลักการเผาไหม้แบบกระบวนการแก๊สซิฟิเคชั่น (gasification) แทนกระบวนการเผาไหม้โดยตรง ซึ่งกระบวนการนี้จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าก๊าซสังเคราะห์ สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซหุงต้มลงได้ มูลค่าการลงทุน 1,551,000 บาท มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พายัพเชียงใหม่ เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ
และโครงการระบบผลิตก๊าซเชื้อเพลิงร่วมจากเตาแก๊สซิไฟเออร์ชีวมวลและก๊าซ ชีวภาพ ของบริษัท กรีน เอ็นเนอร์ยี่ เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นกระบวนการผลิต ก๊าซเชื้อเพลิงทดแทน LPG ในลักษณะ ผสมผสาน (hybrid) ของระบบผลิตก๊าซชีวมวลด้วยเทคโนโลยีก๊าซซิฟิเคชั่น แบบ downdraft gasifier กับระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหาร มูลค่าการลงทุน 2,460,000 บาท
วันนี้เรื่องของพลังงานทดแทนไม่ใช่เรื่องที่เราพูดกันปากเปล่า แต่ภาคเอกชนบางส่วนที่เริ่มเห็นโอกาสก็ไม่เสียเวลาที่จะทดลอง ลงมือทำเครื่องต้นแบบ ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และคอยมองหาโอกาสใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่การขายในประเทศเท่านั้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราซึ่งก็ยังมีโอกาสอีกมากมายรออยู่
http://www.wiseknow.com/blog/2010/03/26/5172/