นักวิจัยขององค์การนาซา ณ ศูนย์อวกาศลินดอน บี จอห์นสัน (NASA Lyndon B. Johnson Space Center: JSC) กำลังพยายามพิสูจน์ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเดินทางด้วยความเร็วที่สูงกว่าความเร็วแสง และหวังว่าในอนาคตจะมีการสร้างเครื่องยนต์ที่เร็วกว่าแสง คล้ายกับยาน Starship Enterprise
ทั้งนี้ นักวิจัยของนาซา(NASA) เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ได้คิดค้นไว้ในกฎของปริภูมิเวลา (spacetime) ซึ่งระบุไว้ว่าการเดินทางที่เร็วกว่าแสงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ โดยผลจากการวิจัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทฤษฎีที่คิดค้นโดยนักฟิสิกส์ชาวเม็กซิกัน Miguel Alcubierre ในปี 1994 โดย Alcubierre นำเสนอว่าความเร็วเหนือแสงมีความเป็นไปได้ ถ้านักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบวิธีที่จะควบคุมการขยายตัวและการหดตัวของปริภูมิเวลา ซึ่งทีมนักวิจัยของนาซากำลังพยายามพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าว
Alcubierre ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า โดยการสร้าง "warp bubble" ที่เป็นปริภูมิเวลา (spacetime) ซึ่งสามารถบิดตัวได้ โดยปริภูมิเวลาด้านหลังของยานอวกาศจะถูกทำให้ขยายตัว ส่วนปริภูมิเวลาด้านหน้าของยานอวกาศจะถูกทำให้หดตัว ยานอวกาศก็จะถูกผลักให้เคลื่อนที่จากต้นทาง (โลก) และถูกดึงไปโดยตัวปริภูมิเวลาที่สร้างขึ้นตลอดเส้นทางที่ยานกำลังเคลื่อนที่ไปยังดวงดาวที่อยู่ห่างไกลออกไป
จากหลักการของ Alcubierre warp นักวิจัยของนาซากำลังพยายามที่จะบิดเส้นทางการเคลื่อนที่ของโปรตอน เพื่อดูว่ามันสามารถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวมันเองได้หรือไม่ ณ ความเร็วที่เร็วกว่าแสง โดยการทดลองดังกล่าวทำในห้องปฏิบัติการที่ถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะและเป็นอิสระจากการเคลื่อนที่ของพื้นผิวโลก โดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวจะลอยอยู่บนทุ่นที่ใช้ระบบนิวเมติกที่ฝังไว้ในใต้ดิน
ถึงแม้ว่า การสร้างยานอวกาศที่เร็วกว่าแสงจะเป็นเรื่องในอนาคตที่ไกลมากๆ แต่นักวิจัยของนาซาคิดว่าโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่จะเป็นประตูที่เปิดสู่งานวิจัยในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางในอวกาศ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ถ้าการพัฒนาการขับเคลื่อนที่ใช้การบิดตัวของปริภูมิเวลา (warp drive) เป็นผลสำเร็จ ก็จะช่วยให้นาซาสามารถที่จะลดระยะเวลาในการเดินทางไปสำรวจระบบดวงดาวอื่นๆ ได้อย่างมหาศาล อาทิ จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นหมื่นปี ก็จะลดลงเหลือเพียงเป็นสัปดาห์หรือว่าเป็นเดือนเท่านั้น
แหล่งข้อมูลอ้างอิง