ผลวิจัยเตือนคนนอนน้อยก็เสี่ยง นอนกินบ้านกินเมืองก็เสี่ยงป่วยเหมือนกัน
การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตคนเรา เพราะจะส่งผลต่อสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ แล้วคุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า หากร่างกายไม่ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ มิใช่ก่อให้เกิดโรคเพียงอย่างเดียว อาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ด้วย!?
ข้อมูลจากเดลิเมล์ เปิดเผยถึงการศึกษาใหม่ ที่พบว่าการนอนหลับนาน 6 - 8 ชั่วโมงต่อคืน มีส่วนในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า คนที่นอนน้อยกว่าคืนละ 8 ชั่วโมงมีความเสี่ยงถึง 2 เท่า ที่อาจจะมีอาการหัวใจวายและโรคหัวใจล้มเหลว ขณะที่คนนอนหลับเกิน 8 ชั่วโมงต่อคืน ก็มีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่า 2 เท่า โดยร้อยละ 19 มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
สำหรับต้นตอของผลวิจัยข้างต้น มาจากวารสารคลินิกโรคหัวใจออนไลน์ในสหรัฐ เผยถึงการศึกษานี้ ว่า ระยะเวลาในการนอนหลับมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยคนที่มีระยะเวลาการนอนหลับแบบสุดขั้วหรือนอนหลับยาวกินบ้านกินเมือง มีความเสี่ยงสูงสุดของการเกิดโรค ส่วนระยะเวลาการนอนที่ดีที่สุดควรอยู่ระหว่าง 6-8 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ในสหราชอาณาจักร มีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมีผู้เสียชีวิตราว 74,000 คน ส่วนโรคหลอดเลือดสมองมีผู้เสียชีวิตราว 42,000 คน โดย 1 ใน 6 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย และ 1 ใน 9 ผู้เสียชีวิตเป็นเพศหญิง ฉะนั้นแล้วหากคุณผู้อ่านไม่อยากเป็น 1 ในสถิติดังกล่าว ก็ควรหันมาใส่ใจเรื่องของการนอนหลับ และปรับเปลี่ยนเวลาการนอนให้เหมาะสม เพื่อมีชีวิตที่ยืนยาว และห่างไกลโรค
จากการวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนควรทำอย่างพอดี หากมากเกินไปก็ส่งผลเสีย น้อยเกินไปก็ยังมีโทษ.
แหล่งที่มา :เดลินิวส์ออนไลน์