“ทุกคนอยู่ในบ้านมืด ๆ ไม่กล้าจุดคบจุดใต้ ไม่มีถนนสายไหนที่ไม่ชุ่มโชกไปด้วยเลือด คนเป็นต้องนอนทับกับคนตาย ไม่มีผู้หญิงและเด็กหญิงคนไหนไม่ถูกข่มขืน แม่น้ำไม่ต้องใช้สะพาน เดินข้ามได้โดยเหยียบย่ำลงไปบนกองซากศพ…”
คำบอกเล่าซ้ำไปซ้ำมาที่ฉันได้ฟังตั้งแต่เล็กคนโต แม้ว่าตอนนี้อาม่าจะอายุปาเข้าไป 97 ปี และแทบจะลืมชื่อตัวเองไปแล้วด้วยซ้ำ แต่อาม่าก็ยังจำเรื่องนี้ได้ เหมือนกับมันฝังลงไปในทุกอณูเนื้อหนังของแก
ข่าวแผ่นดินไหวและสึนามิพัดถล่มญี่ปุ่นครั้งที่ผ่านมา ภาพโคลนไหลทะลักค่อยๆ กลืนทุกอย่างเข้าไปจนทำให้หลายคนที่นั่งดูทีวีอยู่แทบจะหลั่งน้ำตาแทนชาวญี่ปุ่น แต่อาม่ากลับนั่งหัวเราะอย่างสะใจ และพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า “สมน้ำหน้า มันเป็นคำสาป มันเป็นประเทศที่ถูกสาป…”
อะไรกันที่ทำให้หญิงชราผู้แทบจะไม่เหลือความทรงจำบนโลกแห่งความจริงนี้อีกแล้ว ยังคงจดจำเรื่องราวความโหดร้ายครั้งหนึ่งในชีวิตได้เป็นอย่างดีราวกับมันเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อวาน จึงค้นข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจีนย้อนไปราว 80 ปีก่อน และพบเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และต่อเนื่องไปจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง…
ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จีนกำลังมีปัญหาภายในกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต่อต้านรัฐบาล ญี่ปุ่นใช้โอกาสนี้เข้ารุกรานแมนจูเรียเพื่อหวังทรัพยากรธรรมชาติ จากปัญหาความขัดแย้งภายในและปัญหาความอ่อนด้อยล้าสมัยทางอาวุธ ทำให้กองทัพจีนไม่อาจต้านทานกองกำลังของญี่ปุ่นได้ กระทั่งต่อมาญี่ปุ่นใช้เล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองบีบบังคับและผลักดันให้ตน สามารถเข้าไปตั้งกองกำลังในดินแดนจีนได้สำเร็จ แม้ว่าจะถูกต่อต้านจากชาวจีนก็ตาม
สงครามเริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ.2480 กองทัพญี่ปุ่นใช้เล่ห์เหลี่ยมอ้างว่าทหารนายหนึ่งของตนหายไป และขอเข้าค้นเมืองหว่านผิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปักปิ่ง แต่ถูกทหารประจำการของจีนปฏิเสธ กองทัพญี่ปุ่นจึงได้โอกาสยกพลบุกเข้าโจมตีเมืองหว่านผิง ทั้งทิ้งระเบิดลงในบริเวณสะพานหลูโกวเฉียว (มาร์โคโปโล) และเข้ายึดกรุงปักกิ่งได้อย่างขี้โกง ทั้งวางแผนจะยึดเมืองต่อ ๆ ไปอีกไม่สิ้นสุด
ต่อมา แม่ทัพสูงสุดของรัฐบาลจีนนาม เจี่ยงจงเจิ้ง (หรือนายพลเจียงไคเช็ค) ออกมาปลุกระดมชาวจีนให้ลุกขึ้นต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดให้ถึงที่สุด โดยมีใจความสำคัญว่า
“เมื่อเรากำลังเผชิญกับเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน หนทางเดียวที่จะธำรงไว้ซึ่งมาตุภูมิ คือ ให้ชาวจีนทุกคนยอมพลีชีพเพื่อชาติ และเมื่อเวลานั้นมาถึง ขอให้เรายอมเสียสละจนถึงที่สุด ต่อต้านจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชาวจีนทางเหนือหรือทางใต้ ไม่ว่าจะมีอายุมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ทุกคนมีภารกิจเพียงการกู้แผ่นดินเท่านั้น…”
เดือนสิงหาคม ญี่ปุ่นส่งกองกำลังเข้าโจมตีเซี่ยงไฮ้ถึงห้าแสนนาย แม้จีนจะมีกองทัพเจ็ดแสนเข้าสกัดแต่ด้วยความอ่อนด้อยทางประสิทธิภาพการสู้รบ เพราะทหารส่วนใหญ่เกณฑ์มาจากชาวบ้านที่เพิ่งได้รับการฝึกฝนไม่นาน จึงต้องถอนร่นกลับฐานที่มั่นในเมืองอื่น เซี่ยงไฮ้ขาดการป้องกันจึงต้องเสียไป
ก่อนหน้าที่เซี่ยงไฮ้จะแตก รัฐบาลประกาศย้ายเมืองหลวงและหน่วยงานราชการทั้งหมดจากนานกิงไปจุงกิง ย้ายศูนย์บัญชาการทหารไปอู่ฮั่น สงครามจึงลุกลามไปยังเมืองอู่ฮั่น จนต้องย้ายฐานทัพไปที่จุงกิงเช่นกัน แต่หลังจากที่เซี่ยงไฮ้แตกแล้ว ญี่ปุ่นก็ตั้งเป้าหมายไปที่นานกิงเมืองหลวงเก่า เพราะเป็นเมืองที่สำคัญ ได้ทำการโจมตีทั้งทางบกและทางอากาศจนย่อยยับ กองทัพรักษาเมืองไม่อาจต้านทานอาวุธที่ล้ำสมัยของญี่ปุ่นได้นานนัก มีทหารและชาวจีนต้องสังเวยชีวิตไปมากกว่าสามแสนคน และสามารถยึดเมืองได้ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2480 โดยใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น
หลังจากยึดนานกินสำเร็จ ญี่ปุ่นก็ขยายกำลังออกไปอย่างขว้างขวางสามารถยึดครองพื้นที่ในจีนได้หลายเมือง ลามไปจนหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนที่จะเริ่มอ่อนกำลังลงเพราะกำลังทหารไม่เพียงพอประกอบกับพื้นที่ในการยึดครองใหญ่เกินไป บัญชาการลำบาก จนกระทั่งเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองแสนยานุภาพก็อ่อนลง และหลังจากถูกสหรัฐฯทิ้งระเบิดในฮิโรชิมาและนางาซากิแล้ว ประเทศญี่ปุ่นก็ยอมจำนนด้วยสภาพผู้แพ้สงครามในที่สุด
แต่สิ่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นทิ้งไว้ให้กับชาวจีนคือ ความทรงจำอันโหดร้ายของการสังหารหมู่ที่นานกิง (Nanjing Massacre) ที่สร้างความคับแค้นและรอยแผลในใจชาวจีนมาจนถึงปัจจุบัน เพราะการเข้ายึดเมืองนานกิงของญี่ปุ่นนั้นกระทำอย่างโหดร้ายทารุณมาก ทหารญี่ปุ่นฆ่าล้างผลาญชีวิตและทรัพย์สินของชาวจีนไม่เพียงเพราะทำตามหน้าที่ของพลสงคราม หากแต่ทำด้วยความสนุกสนานสะใจร่วมด้วย
ทั้งยิงด้วยปืน เผาทั้งเป็น ฝังทั้งเป็น แทงด้วยดาบปลายปืน ฟันด้วยดาบ ข่มขืนผู้หญิงและเด็กแล้วฆ่าทิ้ง มีการกระทำชำเราผู้หญิงและเด็กหญิงชาวจีนกว่า 20,000 คน จนเป็นที่รู้จักกันในนาม The Rape of Nanjing ชาวจีนเฉพาะในนานกิงถูกสังหารไปราวสามแสนคน โดยมีรายละเอียดความโหดร้ายที่ถูกถ่ายทอดแก่ชาวโลก ผ่านนักข่าวชาวต่างชาติที่เสี่ยงชีวิตเข้าไปทำข่าวในขณะนั้น
ทิลแมน เดอร์ดิน นักข่าวของนิวยอร์คไทมส์ ผู้พบเห็นเหตุการณ์สังหารหมู่ช่วงเริ่มแรก เล่าสิ่งที่เขาเห็นว่า…“ผมขับรถลงไปที่ฝั่งแม่น้ำ รถต้องแล่นทับไปบนกองศพที่กองระเกะระกะที่ฝั่งแม่น้ำนั่น รอดูการลงมือของทหารญี่ปุ่น พวกเขากำลังสังหารทหารจีนหนึ่งกองพัน โดยการรัวปืนกลเข้าใส่…มีคนราวสี่ร้อยคนถูกล่ามติดกันเป็นชุด ๆ ชุดละประมาณห้าสิบคน โดยมีแถวของทหารญี่ปุ่นควบคุมอยู่ พวกเขาต้องเดินแถวกันไปเพื่อรับการประหาร…”
“ก่อนหน้านี้ผมเห็นการสังหารหมู่ของผู้ชายจำนวนสองร้อยคน พวกเขาถูกนำตัวไปยืนเรียงหน้ากำแพงแล้วทหารญี่ปุ่นก็ช่วยกันระดมยิง เมื่อนักโทษล้มลงพวกทหารก็เข้าไปเหยียบร่างแล้วเอาดาบปลายปืนจ้วงแทงผู้ที่ยังดิ้นอยู่… มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่มองดูปฏิบัติการดังกล่าวคล้ายกับกำลังชมการแสดงที่แสนบันเทิงใจ มันเป็นความโหดร้ายที่ผมไม่อาจลืมได้…”
สาธุคุณจอห์น แม็กกี นักสอนศาสนาชาวอเริกัน ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า ทหารญี่ปุ่นไม่เพียงสังหารเชลยศึกทุกคนที่จับได้เท่านั้น แต่ยังฆ่าชาวบ้านเล่นอีกด้วย “…หลายคนถูกไล่ยิงเล่นราวกับเป็นการล่าประต่ายไปตามท้องถนน” หลังจากเห็นการฆ่าและการข่มขืนอยู่สัปดาห์หนึ่ง สาธุคุณจึงร่วมกับชาวตะวันตกจัดตั้งเขตปลอดภัยสากลขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านและผู้หญิงบางส่วน
จากบันทึกของ มินนี วอทริน สตรีชาวอเมริกันที่ทำงานร่วมกับสาธุคุณแม็กกี ในวันที่ 16 ธันวาคม กล่าวว่า “…คงไม่มีอาชญากรรมประเภทไหนเลยที่ไม่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ เด็กสาว 13 คนที่ทำงานในโรงเรียนสอนภาษาได้ถูกฉุดไปในคืนนี้ และเด็กผู้หญิงตามบ้านเรือนอีกหลายคน บางคนเพิ่งอายุเพียง 12 ปี”
“มีคนถูกกราดยิงและแทงตายไปกี่หมื่นคนไม่อาจนับได้ มีการราดน้ำมันลงบนคนเป็นๆ แล้วจุดไฟเผา… ร่างที่ไหม้เกรียมบอกเล่าถึงโศกนาฏกรรมเหล่านี้ ช่วงสิบวันให้หลังยิ่งน่าสลด หลายเหตุการณ์คงไม่อาจลบเลือนไปจากความทรงจำของฉันไปชั่วชีวิต…”
“…ศพของประชาชนที่ถูกฆ่าตายกองเกลื่อนกลาดตามท้องถนนทุกสายในเมือง ส่วนใหญ่เป็นศพของผู้สูงอายุ ผู้หญิง และเด็ก…”
“ตำรวจและพนักงานดับเพลิงดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลักของทหารญี่ปุ่น พวกเขาได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงและถูกแทง ซึ่งบาดแผลดูร้ายแรงน่ากลัวแต่ก็ยังปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง…”
“…ในตอนกลางคืนประชาชนที่พยายามหลบหนีออกจากเมืองด้วยความตื่นตระหนกหวาดกลัว จะถูกฆ่าทิ้งทันทีถ้าหน่วยลาดตระเวนพบเข้า พวกเขาจะถูกทรมานเล่นก่อนตาย”
“…การปล้นสะดมโดยหทารญี่ปุ่นเกิดขึ้นไปทั่วทั้งเมือง แทบทุกอาคารบ้านเรือนจะมีทหารญี่ปุ่นบุกเข้าไปเพื่อเอาทรัพย์สิน บ่อยครั้งพบว่ามีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ร่วมอยู่ด้วย…”
“…นอกจากจะสังหารทหารที่ยอมแพ้และถูกจับแล้ว พวกญี่ปุ่นยังบุกจับชาวบ้านที่สงสัยว่าเป็นทหารที่หลบหนีเข้ามาแล้วฆ่าทิ้งอย่างไม่ปราณี”
“แม้กระทั่งหนังสือพิมพ์ในญี่ปุ่นเอง ก็ยังรายงานอย่างภาคภูมิใจว่า ทหารญี่ปุ่นชั้นผู้น้อยต่างสนุกสนานกับการแข่งขันกันว่า ใครจะฆ่าคนจีนได้มากกว่ากัน…”
เป็นเวลาราวหกสัปดาห์ที่ชีวิตของชาวนานกิงต้องอยู่กันอย่างหวาดกลัว ทหารญี่ปุ่นเดินเมามายไปทั่วทุกที่ พร้อมจะทำอะไรก็ได้กับคนจีนทุกคนที่พบเห็น ไม่ว่าจะปล้นทรัพย์สิน ข่มขืน หรือฆ่าทิ้ง ไม่เว้นหญิงเว้นหญิงชรา เด็ก หรือสตรีมีครรภ์ และไม่เพียงข่มขืนด้วยตนเองเท่านั้น ยังบังคับให้พ่อขืนใจลูกสาวตนเอง บังคับให้ลูกชายข่มขืนแม่ แล้วยืนดูด้วยความสนุกสนาน เมื่อเสร็จกิจก็ฆ่าทิ้งหรือย่างสดอย่างสยดสยอง และข่มขวัญชาวบ้านที่ต่อต้านญี่ปุ่นด้วยการทิ้งศพไว้เกลื่อนกลาด ปล่อยให้น้ำเลือดน้ำเหลืองไหลนองถนนไปทั่ว ศพชาวจีนจำนวนมหาศาลถูกนำไปทิ้งในแม่น้ำแยงซีเกียงจนแม่น้ำกลายเป็นมีแดงฉานไปด้วยเลือด
หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง อาซูมะ ชิโร ทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งได้ออกมาสารภาพสิ่งที่ตนเองได้ร่วมลงมือกระทำลงไป เพราะความรู้สึกผิดตามหลอกหลอนเขาไม่หยุดหย่อน เขาเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่งว่า
“เราจับพวกคนชราหญิงชายและเด็กๆ ประมาณ 37 คน มารวมกันไว้ในลานกว้างผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มเด็กไว้ด้วยแขนซ้าย และอุ้มเด็กอีกคนไว้ด้วยแขนขวา พวกเขาแทงตายทั้งสามคน ตอนนี้ผมว่านั่งนึกว่าแค่จากบ้านมาเดือนเดียว ผมก็ฆ่าคนได้โดยไม่รู้สึกเสียใจอะไรเลย…”
หลังจากการสารภาพบาป เขาก็ถูกประฌามจากเพื่อนร่วมชาติอย่างหนักว่าทำให้ญี่ปุ่นเสื่อมเสีย มีทั้งโทรศัพท์และจดหมายส่งไปด่าเขา จนต้องขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่
ไม่มีอะไรเลวร้ายได้ทั้งหมด…
หมอซัน (ฮิโรชิ ยามาซากิ)
เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับชาวจีนจำนวนหนึ่งที่พากันไว้อาลัยต่อการจากไปของหมอจีน อายุ 103 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองจี่หนันคนหนึ่ง
คนทั่วไปไม่มีใครทราบเลยว่าคุณหมอสูงวัยที่ทำงานเพื่อคนจีนมาตลอดชีวิตคนนี้ แท้จริงคือ ฮิโรชิ ยามาซากิ หนึ่งในทหารญี่ปุ่นที่เข้าร่วมรบในปฏิบัติการต่างๆคราวนั้น แต่หลังจากที่สงครามสงบลง เขาได้ตัดสินใจอาศัยอยู่ในเมืองจีนและทำหน้าที่เป็นหมอตลอดชีวิต เพื่อชดใช้ให้กับชาวจีนที่เขาได้ร่วมฆ่าฟันแล้วเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น หมอซัน
หมอซัน ให้สัมภาษณ์ในสารคดีไชน่าเดลีย์ ว่า “ผมประจำการเป็นแพทย์อยู่ในกองทัพญี่ปุ่นนาน 6 เดือน เข้าร่วมรบในศึกสะพานมาร์โคโปโล ผมไม่เคยคิดอยากเป็นทหารเลย แต่ผมเป็นลูกชายคนสุดท้อง ตอนนั้นอายุได้ 31 ปี ทำงานเป็นแพทย์ และยังไม่มีครอบครัว เมื่อญี่ปุ่นเริ่มเข้าสู่สงครามทุกบ้านจะต้องส่งลูกชายหนึ่งคนเข้าร่วมกองทัพ พี่ชายของผมเพิ่งแต่งงานผมจึงเสียสละออกรบแทนพี่…”
“…ผมเป็นแพทย์ทหารในฝูงปีศาจ ไม่อาจทนดูความวิปริตของเพื่อนทหารที่กระทำต่อชาวเมืองที่ไร้ทางสู้อย่างทารุณได้จึงหาทางหลบหนีออกจากค่ายฯในวันที่เห็นเพื่อนทหารจับทารกชาวจีนมากระหน่ำแทงเล่นเพื่อความสนุก และผมไม่สามารถทำอะไรเพื่อช่วยเด็กคนนั้นได้เลย…”
“ผมวางแผนหนีทัพในคืนนั้น มุ่งหน้าเดินทางไปยังชายฝั่งตะวันออกเพื่อหาทางกลับญี่ปุ่น แต่ผมไม่ได้กินอะไรเลยเป็นเวลา 4 วัน 4 คืน ในที่สุดก็หมดแรงล้มลงตื่นขึ้นมาอีกครั้งก็พบว่าตนเองอยู่ในกระท่อมของชาวนาจีนแก่ๆ ครอบครัวหนึ่ง เขาช่วยชีวิตผมด้วยการให้อาหารและที่พัก เมื่อผมลุกขึ้นได้คู่สามีภรรยาแก่ๆ ก็มอบเสื้อผ้าใหม่กับผม มันเป็นชุดใหม่และสะอาดที่สุดชุดเดียวที่พวกเขามีอยู่ นอกจากนั้นเขายังสละแป้งข้าวที่มีสำรองไว้เพียงน้อยนิดมาทำอาหารให้ผมเก็บไว้กินตอนเดินทาง ผมบอกความรู้สึกไม่ถูกได้แต่โค้งคำนับเขา… ”
หมอซันเล่าความหลังทั้งน้ำตา “พวกเขารู้ว่าผมเป็นทหารญี่ปุ่นแต่ก็ช่วยเหลือผม ยังมีชาวจีนอีกหลายคนที่ช่วยผมตลอดการเดินทาง จนในที่สุดก็มาถึงจี่หนันผมเปลี่ยนชื่อตนเองเป็น "ซัน" ระหว่างที่รอเรือข้ามฝากกลับญี่ปุ่น ผมก็ทำงานเป็นคนเฝ้าโกดังเก็บเสบียงให้กองทัพญี่ปุ่น ได้เห็นคนจีนลำบากหิวโหยจึงแอบเปิดประตูโกดังขโมยอาหารให้บ่อยๆ เมื่อถูกจับได้ผมก็ไม่ยอมซัดทอดว่าจนงานจีนคนไหนบ้างที่เกี่ยวข้อง ยอมถูกลงโทษแต่ผู้เดียว ทำให้ความสัมพันธ์ของผมกับชาวจีนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น…”
หมอซัน ได้ใช้ความรู้ด้านการแพทย์ช่วยรักษาคนจีนที่เจ็บป่วย และเริ่มเปิดคลินิคช่วยเหลือผู้ป่วยชาวจีนโดยไม่คิดค่ารักษา เขาไม่เคยพูดถึงประวัติของตนเองให้ใครฟังเลย แม้แต่ลูกสาวของเขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพ่อของเธอเคยเป็นใคร เขาไม่เคยคิดจะกลับญี่ปุ่นอีกเลยเขาอุทิศทุกอย่างให้แก่ชาวจีน แม้กระทั่งร่างไร้ชีวิตวัย 103 ปี ของเขาก็ยังบริจาคไว้ให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาแก่วงการแพทย์ในจีน เพราะบัดนี้เมืองจีนได้เป็นบ้านของเขาแล้ว…
ที่มา : http://www.indepencil.com/เปิดตำนานมุมมืดของพระ/
...ถ้าซ้ำขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ...
**********************************************