ความรักที่มั่นคงของเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ

 

 

 

 

 

     เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2433 เป็นเจ้าจอมคนรองสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2449  ในวันที่มีงานเฉลิมพระที่นั่ง พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าให้มีละครเรื่องเงาะป่า ซึ่งเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับเป็นผู้ร้องประจำโรง เมื่อละครเลิกเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับได้ตามเสด็จไปบนพระที่นั่ง และได้รับพระราชทาน "กำไลมาศ" เป็นกำไลทองคำแท้จากบางสะพาน หนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน หากมองดีๆตาปูโบราณจะเป็นอักษรตัว s และอักษรตัว c (มาจากชื่อของเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ และ จุฬาลงกรณ์ ตามลำดับ) นอกจากนั้นยังได้มีบทกลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสลักไว้ว่า...

 

 

 

กำไลมาศชาตินพคุณแท้        ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นยั่งยืนสี

เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที      จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย

ตาปูทองสองดอกตอกสลัก     ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย

แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย      เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย

 

     ในคราวนั้นเองที่พระองค์ท่านได้พระราชทานกำไลมาศแก่เจ้าจอมจอม ม.ร.ว. สดับ ทรงสวมให้ที่ข้อมือเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ และทรงบีบให้ชิดกันด้วยพระหัตถ์เอง รุ่งขึ้นจึงรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองฝรั่งชาวเยอรมันชื่อนายแกรเลิตนำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณนี้มากนัก ถึงกับบันทึกเอาไว้ว่า "ในวันเฉลิมพระที่นั่งนี้ทรงพระมหากรุณาสวมกำไลทองรูปตาปูพระราชทานข้าพเจ้า ทรงสวมโดยไม่มีเครื่องมือ บีบด้วยพระหัตถ์ รุ่งขึ้นจึงต้องรับสั่งให้กรมหลวงสรรพศาสตร์พาช่างทองแกรเลิตฝรั่งชาติเยอรมันมานำเครื่องมือมาบีบให้เรียบร้อย" ว่ากันว่าวันนี้นี่เองเป็นวันที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับมีความสุขมากที่สุดในชีวิต

 
     ...และวันที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับมีความทุกข์มากที่สุดคือวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป เมื่อปีพ.ศ. 2450 เนื่องจากก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จพระราชดำเนินนั้น มีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จไปยุโรปด้วยในฐานะข้าหลวง ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตตินารี ถึงกับสอนภาษาอังกฤษพระราชทานเองก่อนเสวยพระกระยาหารทุกคืน แต่มีเหตุขัดข้องจึงมิอาจเป็นไปตามพระราชดำรินั้นได้ แม้กระนั้นพระองค์ท่านก็ได้มีพระราชหัตเลขามาถึงทุกสัปดาห์ เมื่อได้รับลายพระราชหัตถเลขาแล้วเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับก็แสดงอาการดีใจออกมาทุกครั้ง แต่อาการนั้นทำให้เกิดความรู้สึกริษยาจากคนรอบข้างโดยที่ท่านไม่รู้ตัว ทำให้พระวิมาดาเธอฯในฐานะผู้ปกครองจึงทรงต้องเข้มงวดกวดขันกิริยาอาการตลอดไปถึงข้อความในจดหมายด้วยเกรงว่าจะเขียนกราบทูลในเรื่องไม่สมควรไป
 
 
ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนครก็ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างถ่ายรูปชาวต่างชาติมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาจัดท่าพระราชทาน และโปรดพระราชทานตู้ที่ระลึก ทั้งยังทรงจัดของตั้งแต่งในตู้นั้นอีกด้วย ด้วยความที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับเป็นที่โปรดปรานอย่างมาก นอกจากจะได้รับพระราชทานสิ่งของมีค่าต่างๆแล้ว พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ขึ้นเป็นพระสนมเอก อันเป็นตำแหน่งที่แม้เจ้าจอมมารดาบางท่านรับราชการมาช้านานยังไม่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านซึ่งเป็นเพียงเด็กสาวรุ่น และพึ่งเข้ามารับราชการไม่นานนักกลับได้รับพระเมตตาไว้ในตำแหน่งที่สูงถึงเพียงนี้ ยิ่งก่อให้เกิดความริษยาจากคนรอบข้าง ด้วยวัยเพียง 17 ปี ท่านจึงได้เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้นว่า "เหลียวไปพบแต่ศตรู คุณจอมนั้นส่อเสียดว่าอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูทีหรือข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน" ด้วยความที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับยังอายุน้อย บวกกับความคับแค้นใจ ทำให้ขาดความยั้งคิด ดื่มน้ำยาล้างรูปหมายจะทำลายชีวิตตนเอง แต่แพทย์ประจำพระองค์ช่วยชีวิตไว้ได้ทัน
 

 

ครั้นเมื่อเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับมีอายุได้ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับมีความทุกข์ และเศร้าโศกอย่างยิ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า "ใจคิดจะเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะหรือเลือดเนื้อ หรือชีวิตถ้าเสด็จกลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใจที่คิดแน่วแน่ว่าตายแทนได้ไม่ใช่แค่พูดเพราะๆ...คุณจอมเชื้อเอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งมาให้ข้าพเจ้า บอกว่าท่านได้ประทานไว้ซับพระบาท ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าที่ซับพระบาทนั้นแล้วพันมวยผมไว้ แล้วก็นั่งร้องไห้กันต่อไปอีก" นั่นคือครั้งสุดท้ายที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณด้วยการเป็นต้นเสียงนางร้องไห้หน้าพระบรมศพ

 

ด้วยความที่ครานั้นเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับผู้เป็นหญิงที่จัดว่างามนัก และมีสมบัติร่ำรวยมีอายุเพียง 20 ปี ทำให้เป็นที่จับตามองจากคนรอบข้างว่าจะสามารถครองตัวครองใจเป็นหม้ายได้ต่อไปตลอดหรือไม่ ซ้ำยังมีคนนินทาว่าร้ายอีกตามเคยว่าท่านคงจะเริ่มชีวิตคู่กับชายอื่นในอีกไม่นาน ประกอบกับครั้งหนึ่งมีพระยาข้าราชบริพารหนุ่มในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไปเยี่ยมเยียนด้วยกิจธุระธรรมดาทำให้ข่าวลือนี้หนาหูมากขึ้น เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ มีความเดือดร้อนใจมากนักจึงตัดสินใจถวายคืนเครื่องเพชรทั้งหลายที่ได้รับพระราชทานมาแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯจนหมดสิ้นเพื่อที่จะได้ไม่ระคายเคืองถึงพระยุคลบาทว่าท่านอาจจะนำเครื่องเพชรพระราชทานตกไปเป็นของชายอื่น สมเด็จฯก็ได้ทรงรับไว้แล้วโปรดเกล้าฯให้นำไปขายที่ยุโรป แล้วนำเงินมาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งสิ้น จากนั้นเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับก็สละทางโลกเข้าบวชชีเพื่อถือเป็นพระราชกุศลอีกด้วย

สิ่งที่เหลือไว้เพียงอย่างเดียว...กำไลมาศ...ที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ใส่ติดกายไม่เคยถอดดั่งคำกลอนพระราชนิพนธ์ที่สลักเอาไว้บนกำไลทอง ตั้งแต่วันนั้น...วันแรกที่กำไลทองคล้องใจนี้สวมใส่อยู่บนข้อมือ จวบจนวันที่ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2526

หลังจากที่เจ้าจอม ม.ร.ว. สดับได้ถึงแก่อนิจกรรม ทายาทของท่านได้ถวายกำไลมาศพระราชทานคืนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลปัจจุบัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เก็บรักษาไว้ ณ พระที่นั่งวิมานเมฆ สถานที่ซึ่งเจ้าจอม ม.ร.ว. สดับ ท่านเคยถวายการรับใช้แต่กาลก่อน...

ที่มา: http://www.unigang.com/Article/16034
 
Credit: http://women.postjung.com/713909.html
19 ต.ค. 56 เวลา 16:56 2,334 1 120
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...