สภาอังกฤษ เดินหน้าตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักพระราชวังอังกฤษ หลังจากพบข้อมูลว่า ปีที่ผ่านมา ราชวงศ์อังกฤษ ใช้เงินไปเกินกว่าที่สภาอนุมัติเอาไว้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม เนื่องจากรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด ในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคือง
ในขณะที่ สภาคองเกรสของสหรัฐฯ กำลังวุ่นวายอยู่กับการผ่านร่างกฎหมายขยายเพดานหนี้สาธารณะ ที่จะช่วยยุติภาวะแช่แข็งประเทศ หรือ Government Shutdown ที่ดำเนินมานานกว่า 17 วัน และล่าสุด ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ลงคะแนนเสียงรับรองร่างกฎหมายนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่สภาอังกฤษก็กำลังมีประเด็นร้อนแรงให้ต้องถกเถียงเช่นเดียวกัน และเรื่องดังกล่าวก็เกี่ยวข้องกับงบประมาณแผ่นดินเสียด้วย เมื่อคณะกรรมาธิการตรวจสอบบัญชีของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ได้เปิดเผยข้อมูลที่ระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ราชวงศ์อังกฤษ ใช้งบประมาณเกินกว่าที่ทางสภาได้อนุญาตให้ใช้ ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ในยามที่ประเทศ กำลังเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้
นางมาร์กาเร็ต ฮอดจ์ ประธานคณะกรรมาธิการตรวจสอบบัญชี สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ได้ตั้งคำถามไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อให้ชี้แจงในเรื่องดังกล่าว พร้อมกับเปิดเผยรายละเอียดว่า เมื่อปีที่ผ่านมา สภาอังกฤษ ได้อนุมัติงบประมาณให้กับราชวงศ์ทั้งสิ้น 31 ล้านปอด์น หรือราว 1,540 ล้านบาท แต่ราชวงศ์อังกฤษ กลับใช้จ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 33.3 ล้านปอด์น หรือราว 1,660 ล้านบาท เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในเมื่อรัฐบาลต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด และตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ราชวงศ์กลับใช้จ่ายงบประมาณเกินความจำเป็นเช่นนี้
ทางด้านของเซอร์ อลัน รีด ผู้ดูแลทรัพย์สินของสำนักพระราชวังอังกฤษ ก็ได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ โดยระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ราชวงศ์ใช้งบประมาณเกินกว่าที่ทางสภาตั้งเอาไว้ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก ปีที่แล้ว มีการจัดงานเฉลิมฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษก หรือการฉลองครบรอบ 60 ปี การครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้สมพระเกียรติ ประกอบการทุ่มงบประมาณอีกจำนวนหนึ่ง ไปกับการบูรณะฟื้นฟูพระราชวังเคนซิงตัน เพื่อให้เป็นที่ประทับของคู่สมรสใหม่อย่างดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เนื่องจากทั้งคู่มีพระโอรสแล้ว และการจะประทับอยู่ที่พักเดิมก็ดูจะคับแคบเกินไป
นอกจากนี้ ท่านเซอร์รีดยังกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบต้มน้ำร้อนในพระราชบักกิงแฮม ที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 10 ปีแล้ว คาดว่าในช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ อาจจะต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ซึ่งจะต้องใช้เงินนับล้านปอด์น อีกทั้ง รถไฟพระที่นั่ง ที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงใช้งานเป็นประจำ ก็เสื่อมสภาพจนอาจจะต้องเปลี่ยนใหม่ในเร็วๆนี้เช่นกัน
สิ่งที่ท่านเซอร์รีดชี้แจงมานั้งหมดนั้น นางฮอดจ์มองว่า ไม่ได้ช่วยอธิบายถึงการใช้จ่ายเงินที่เกินตัวของราชวงศ์ได้ดีท่าไหร่นัก และเธอก็ไม่ทราบว่า เรื่องทั้งหมดเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน
ทางด้านของนายเจมส์ เกรย์ โฆษกของกลุ่มนิยมสาธารณรัฐในอังกฤษ หรือ Republic ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของราชวงศ์อังกฤษ ก็ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวเอบีซีของสหรัฐฯ โดยระบุว่า ทางกลุ่มรู้สึกดีใจ ที่ทางคณะกรรมาธิการตรวจสอบบัญชีของสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และลงมือตรวจสอบอย่างจริงจัง พร้อมกันนี้ ทางกลุ่ม Republic ยังได้ยื่นเรื่องให้ทางคณะกรรมาธิการดังกล่าวตรวจสอบเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีของเจ้าชายชาร์ลส์ รัชทายาทลำดับที่ 1 ของราชวงศ์อังกฤษ หลังจากที่มีการตรวจพบข้อมูลว่า พระองค์ไม่เคยจ่ายภาษี จากรายได้ที่ได้รับ ในการเป็นเจ้าของที่ดินในแคว้นคอร์นวอลเลย แม้แต่ครั้งเดียว
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐสภาอังกฤษ จะมีหน้าที่อนุมัติงบประมาณให้กับราชวงศ์อังกฤษมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่สภาก็ไม่มีสิทธิ์ในการสอบถาม หรือตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าว จนกระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ทำให้สภาได้รับสิทธิ์ในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของราชวงศ์ โดยปัจจุบัน ราชวงศ์อังกฤษ จะได้รับเงินปีละ 1 ครั้ง ผ่านการอนุมัติของสภา ซึ่งจะคิดคำนวณจากอัตราเฉลี่ย ที่สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้รับมาจากการเช่าที่ดิน การทำเหมืองแร่ และธุรกิจประเภทอื่นๆ โดยเงินจำนวนนี้ จะถูกนำไปใช้เป็นค่าเดินทางของราชวงศ์ รวมถึง ค่าดูแลรักษาที่ประทับ เป็นต้น