โทษประหารชีวิต ควรมีต่อไปหรือไม่?

 

 

 

 

 

เมื่อพูดถึงโทษประหารชีวิต หลายคนคงรู้สึกสะพรึงกลัวกับคำๆนี้ เพราะเป็นโทษสูงสุดที่กฎหมายมีบัญญัติไว้  การประหารชีวิตนั้นมีหลากหลายวิธี ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับคดีการฆาตกรรม , การจารกรรม, การก่อกบฏ หรือในบางประเทศอาชญากรรมทางเพศ อาชญากรรมทางศาสนา เป็นต้น

ในอีดตมีการประหารชีวิตหลากหลายรูปแบบเช่นการตัดศีรษะ, การฝังทั้งเป็น, การโยนลงไปในหลุมงูหรือ ประหารโดยใช้สัตว์ป่า แมลง, การผ่าท้อง (ฮาราคีรี), การเผาทั้งเป็น ในปัจจุบันการประหารชีวิตมีวิธีการที่ทันสมัยมากขึ้นโทษประหารชีวิตจึงเปลี่ยนมาเป็นการฉีดยาพิษ, การนั่งเก้าอี้ไฟฟ้า, การรมแก๊ส, การแขวนคอ, การยิงเป้า

สำหรับประเทศไทยการประหารชีวิตมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือการใช้ดาบตัดคอ และเสียบหัวประจาน และยกเลิกการตัดคอไปในสมัยการปฏิรูปการปกครองปี 2475 ให้เหลือเพียงการเสียบหัวประจาน ในปี 2477 ได้มีปรับเปลี่ยนเป็นการยิงเป้า

กระทั่ง 19 ตุลาคม 2546 การประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าก็กลายเป็นอดีตเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิตนักโทษจากการยิงเป้าไปเป็นการนำมาฉีดยา หรือสารผิดให้ตาย

หากมองในมุมนักสังคมวิทยา การประหารชีวิตตามความเชื่อพื้นฐานทางอาชญาวิทยาให้เหตุผลหลักๆ ของโทษประหารชีวิตไว้ 3 ประการ คือ หลักการตอบแทน เป็นบทลงโทษที่สมน้ำสมเนื้อ หลักการแก้แค้นแทนผู้ถูกกระทำความผิดและญาติ และหลักการเป็นเยี่ยงอย่าง คือ เป็นตัวอย่างให้สังคมและคนในสังคมไม่กระทำความผิดในแบบเดียวกัน

แต่ในความเป็นจริงข้อกฎหมายการประหารชีวิตก็ได้รับการคัดค้านจากบางฝ่ายมาตลอด  ดังเช่นองค์กร “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล” องค์กรนิรโทษกรรมสากล รวมทั้งกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ถือว่าการประหารชีวิตเป็นการปฎิเสธริดรอดสิทธิที่มนุษย์พึงมี ปฏิญญาสากลนั้นถือเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรูปแบบนี้ ถูกกระทำในนามของความยุติธรรม

หรือล่าสุด แผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (2552-2556) ประเทศไทยได้ระบุว่าหนึ่งในตัวชี้วัดความสำเร็จของแผน คือ การพิจารณากฎหมายที่มีอัตราโทษประหารชีวิตให้ยกเลิกเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตภายในปี 2556

องค์กรแอมเนสตี้ได้เผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับการประหารชีวิตของปี 2555 ไว้ว่า แนวโน้มทั่วโลกยังคงมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหาร มีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 682 คน ใน 21 ประเทศ  140 ประเทศทั่วโลก หรือมากกว่าสองในสาม ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายหรือทางปฏิบัติ มีคำตัดสินลงโทษประหารชีวิต 1,722 ครั้ง ใน 58 ประเทศ

แต่กระนั้นก็ยังมีบางประเทศรื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นมาใช้ เช่น ปากีสถาน (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี) อินเดีย (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบกว่า 8 ปี) และ แกมเบีย (มีการประหารชีวิตครั้งแรกในรอบ 3 ทศวรรษ)

สำหรับประชาคมอาเซียน กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาว พม่า และบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ   ส่วนประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงมีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่ สำหรับประเทศไทย ข้อมูลระบุว่า ปลายปี 2555 มีบันทึกการตัดสินประหารชีวิตอย่างน้อย 106 คดี มีผู้ต้องโทษประหารชีวิตราว 650 ราย แต่ไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้น

ในมุมของการต้องโทษมีข้อมูลระบุจากนักสิทธิมนุษยชน “สมศรี หาญอนันทสุข”ว่าคดียาเสพติดเป็นคดีที่นำไปสู่การลงโทษขั้นประหารชีวิตมากถึง ร้อยละ 50 ของการประหารชีวิตทั้งหมด แต่ผู้ที่ถูกตัดสินให้โดนประหารชีวิตส่วนใหญ่เป็นเพียงหางแถวของแก๊งค้ายา ไม่ใช่หัวหน้าใหญ่ต้นตอแต่อย่างใด อีกทั้งหากนักโทษได้รับการอบรมขัดเกลาเสียใหม่ ก็สามารถกลับมาเป็นคนที่มีคุณค่าแก่สังคมได้ แต่ถ้ารายไหนเกินเยียวยาก็อาจสั่งขังคุกตลอดชีวิต แล้วให้ทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสังคม

ซึ่งแนวทางการจำคุกตลอดชีวิตก็เป็นทางออกที่หลายประเทศในโลกเลือกใช้ เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป ตุรกี ซีเรีย กัมพูชา ออสเตรเลีย และอีกมากมาย ถือเป็นทางออกที่ยุติธรรมต่อตัวนักโทษตามหลักสิทธิมนุษยชน

โดยสรุปแล้ว ณ ปัจจุบันการประหารชีวิตยังคงเป็นบทลงโทษที่หลายประเทศทั่วโลกเลือกใช้ แม้จะมีผู้ออกมาคัดค้านเป็นกิจลักษณะ และเป็นไปได้ว่าในอนาคตโทษประหารชีวิตอาจหมดไปจากสังคมโลก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้ายังมีการทำผิด ก็ต้องมีการลงโทษกันอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้น ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดน่าจะเป็นการปลูกจิตสำนึก คุณธรรม ความถูกต้องไว้ในจิตใจของมนุษย์มากกว่า เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

 

 
ที่มา: http://news.mthai.com/webmaster-talk/252462.html
Credit: http://board.postjung.com/714998.html
18 ต.ค. 56 เวลา 20:37 2,347 1 90
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...