ภัยเงียบจากรองเท้าแตะ
เท้าเป็นอวัยวะที่อยู่ล่างสุดของร่างกาย และเป็นส่วนที่คนส่วนใหญ่ละเลย และยังเป็นอวัยวะสำคัญที่คนเราควรใส่ใจเป็นอันดับต้นๆ อีกทั้งยังเป็นส่วนที่ทำงานหนักที่สุดของร่างกายเรา ต้องแบกร่างกายเราไปไหนมาไหนตั้งหลายพันก้าวเพื่อในการดำเนินชีวิต
คนบางส่วนคิดว่ารองเท้าแตะสวมง่ายใส่สบาย แต่รู้หรือไม่ว่าการสวมใส่รองเท้าแตะเป็นประจำ และใส่ติดต่อกันยาวนานเกินไปก็สามารถเกิดโทษได้เช่นกัน
ใส่ใจกับรายละเอียด
รองเท้าที่เหมาะสมนั้นมีหลักนิดเดียว คือใส่แล้วสบาย เดินได้ทั้งวัน แต่ถ้ารองเท้าที่คุณสวมใส่ไม่เหมาะสม เช่น ใส่รองเท้าหน้าแคบหรือรองเท้าส้นสูง อาจทำให้เกิดอาการปวดเท้าหรือมีความผิดปกติกับรูปเท้า เนื่องจากเท้าถูกบีบรัด ที่พบบ่อยคือ อาการหัวแม่เท้าเกหรือบิดเข้าสู่นิ้วชี้มากไป จนบางทีเกิดการซ้อนทับ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดการรับน้ำหนักที่ไม่เหมาะสมและปวดเท้านั่นเอง
ผศ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พูดถึงการเลือกซื้อรองเท้าว่า การเลือกซื้อรองเท้าแตะที่ดีคือเลือกซื้อรองเท้าที่ใส่สบาย แต่รองเท้าแตะแฟชั่นบางอย่างส่วนที่รองรับเท้าจะแบนมาก ไม่มีส่วนโค้งนูนเลย
ในกลุ่มคนบางกลุ่ม เช่นคนที่มีอุ้งเท้าสูงหรือแบนเกินไป เมื่อใส่รองเท้าแตะที่เรียบเกินไปจะไม่มีตัวพยุงอุ้งเท้า จะทำให้มีปัญหาปวดเท้าง่ายกว่าคนอื่น อย่างคนเท้าแบน (มีอุ้งเท้าน้อยกว่าปกติ อาจแบนราบเป็นเส้นตรง) ถ้าใส่รองเท้าที่แบนไปเลย จะไม่มีตัวประคองอุ้งเท้า ทำให้เท้าแบนราบเวลายืนส่งผลให้ ปวดขา ปวดน่องได้
เราควรเลือกซื้อรองเท้าในเวลาที่เหมาะสม เท้าจะขยายตัวในช่วงที่เราใช้เท้าเยอะๆ โดยทั่วไปคนใช้งานเท้าเดินตั้งแต่ตอนเช้า ในตอนบ่ายเท้าก็จะขยายตัวมากขึ้น จึงควรเลือกซื้อรองเท้าในตอนบ่าย นอกจากนี้ ควรเลือกซื้อรองเท้าให้เหมาะกับกิจกรรมที่ทำ อย่างเช่นรองเท้าผ้าใบที่สวมใส่เวลาเล่นกีฬา เราควรเลือกซื้อตอนที่เราเดินเยอะๆเพราะเท้าของเราขยายตัวแล้ว หรือถ้าเลือกซื้อรองเท้าที่เราคิดว่าจะใส่ถุงเท้าหนาๆเวลาใช้งานก็ควรสวมถุงเท้าเวลาลองด้วยเป็นต้น
ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลเพราะว่าบางคนอายุยังน้อย น้ำหนักตัวไม่เยอะ หรือเดินไม่มาก ถึงสวมรองเท้าแฟชั่นก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าอายุมากขึ้น น้ำหนักตัวเยอะขึ้น หรือคนที่ต้องเดินเยอะๆ การใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะสม อาจก่อปัญหา เช่นอาการปวดต่างๆได้มากขึ้น
ดูแลตั้งแต่ต้น ไม่สายเกินแก้
การเลือกรองเท้าของเด็กๆ เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบภายในอนาคต และการเลือกรองเท้าจากแบบที่สวยงามและราคาถูกอย่างเดียว อาจทำให้สร้างปัญหาให้กับเท้าของลูกน้อยได้โดยไม่รู้ตัว อาจจะมีปัญหาในเรื่องของเท้าหรือขา เช่น เท้าแบน ข้อเท้าเอียง เป็นต้น แม้ว่าอาการเหล่านี้ในบางรายอาจหายได้เองเมื่อโตขึ้น แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจหรือหมั่นสังเกตลูกอาการเหล่านี้อาจจะแย่ไปกว่าเดิม
ผศ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์ เผยถึงรองเท้า สำหรับเด็กหัดเดินใหม่ รองเท้าที่เหมาะสมควรเป็นรองเท้าที่ไม่ควบคุมเท้ามากเกินไป เพราะกล้ามเนื้อเท้าเพิ่งเริ่มพัฒนาให้แข็งแรงขึ้น ในเด็กเล็กๆการเดินเท้าเปล่าถือว่าดี แต่ถ้าเท้าเด็กมีปัญหาเช่น เด็กเท้าแบนควรใส่รองเท้าที่มีส้นด้านหลัง เช่นรองเท้าผ้าใบเพื่อควบคุมเท้าไม่ให้ผิดรูปมากขึ้น ถ้าโตขึ้นแล้วมีปัญหาการเลือกซื้อก็คล้ายกับรองเท้าผู้ใหญ่
ปลอดภัยไว้ก่อนขับขี่
ผู้ขับขี่ที่ชอบถอดรองเท้าขณะขับรถ ควรนำรองเท้าไปวางไว้ในบริเวณอื่น ไม่ควรวางไว้ใต้เบาะและหลังเบาะที่นั่งคนขับ รวมถึงไม่วางสิ่งของที่สามารถกลิ้งได้ไว้ที่ตักขณะขับขี่รถ เพราะหากรถเบรกกะทันหัน อาจทำให้รองเท้าเลื่อนหรือสิ่งของกลิ้งเข้าไปติดใต้แป้นเบรกทำให้ไม่สามารถหยุดรถได้ทันจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าแตะที่เปียกน้ำ โดยเฉพาะรองเท้าที่สวมใส่มาเป็นเวลานาน เพราะพื้นรองเท้าจะมีความมันลื่นมากกว่าปกติ อาจลื่นเข้าไปค้างใต้เบรก คลัทซ์และคันเร่งส่งผลให้ประสิทธิภาพ ในการขับรถลดลงโดยเฉพาะหากเกิดเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องหยุดรถกะทันหันจะทำให้ไม่สามารถเหยียบเบรกได้อย่างทันท่วงที
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พูดปิดท้ายว่า บ่อยครั้งที่มักเกิดอุบัติเหตุจากรองเท้าหรือสิ่งของเข้าไปติดใต้แป้นเบรกหรือคันเร่งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด ขอแนะนำให้ผู้ขับขี่สวมรองเท้าไม่มีส้นในขณะขับรถ หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงหรือส้นหนาเพราะจะทำให้เหยียบเบรกและคันเร่งไม่ถนัดจึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง รวมถึงเพิ่มความระมัดระวังการสวมรองเท้าแตะ
ทุกวันนี้รองเท้าแตะ มีออกมาวางขายให้เลือกกันได้มากมาย มีราคาตั้งแต่หลักสิบ ถึงหลักพัน แต่น้อยคนนักที่จะใส่ใจรายละเอียดกับสิ่งเหล่านั้น การใส่รองเท้าเหมือนเป็นการปกป้องเท้าจากสิ่งอันตราย หากเราละเลยมันมากไป สุดท้ายมันอาจทำร้ายเราได้เหมือนกัน
ล้อมกรอบ
ผลการวิจัยจากAuburn Universityเค้าระบุไว้ว่าการสวมใส่รองเท้าแตะแบบคีบบ่อย ๆ จะทำให้เรา ปวดเท้า เข่า และขา การวิจัยนี้ทำการทดลองด้วยการนำเด็กในมหาวิทยาลัยจำนวน39คนมาทดลองโดยให้สวมรองเท้าแตะคีบ กับรองเท้ากีฬาทำกิจกรรมต่าง ๆ ปรากฏว่าคนที่สวมรองเท้าแตะ จะมีช่วงการก้าวขาที่สั้นกว่า คนที่สวมรองเท้ากีฬา และเมื่อให้สบัดเท้าไปด้านหลัง ก็ทำได้ไม่สูงนักเพราะต้องให้แรงคีบรองเท้าเอาไว้มากกว่าคนที่สวมรองเท้ากีฬา
จากการทดลองนี้เข้าทางแนวคิดเดียวกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในนิวยอร์ก ที่เคยเตือนสาวกรองเท้าคีบว่า การสวมรองเท้าชนิดนี้ ต้องใช้แรงนิ้วเท้าในการเกาะยึดรองเท้ามากกว่าการสวมรองเท้าชนิดอื่น จึงอาจจะทำให้ผู้สวมใส่มีอาการกระดูกหน้าแข้ง และเส้นเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ
แหล่งที่มา : ผู้จัดการออนไลน์