ถ้าถามว่า ใครบ้างไม่เคยปวดคอ เมื่อยคอ? ตอบได้เลยว่า หายาก! ดังนั้นเรื่องนี้จึงใกล้เคียงกับข้อมูลน่ารู้ที่เปิดเผยไว้ในเอกสารสุขภาพของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ระบุไว้ว่า อาการปวดคอพบบ่อยเนื่องจากกิจกรรมของคนเราต้องกระทำในท่านั่ง คอจึงต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักจากศีรษะเกือบตลอดทั้งวัน อีกทั้งคอยังเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ไม่ว่าจะก้ม เงย เอียง และหมุน ล้วนปัจจัยที่ส่งผลให้คนเราเผชิญปัญหาปวดคอได้ร้อยละ 50 ของช่วงชีวิต
อาการปวดคอ ใครเป็นแล้วจะรู้สึกปวดตึงบริเวณคอ อาจร้าวไปยังบ่า สะบัก แขน เคลื่อนไหวคอได้น้อยลง บางรายมีอาการอ่อนแรงและชา
สำหรับอาการปวดคอนั้น มิได้เกิดจากการนอนผิดท่า หรือที่มักเรียกกันว่า นอนตกหมอน เท่านั้น หากแต่มีหลายสาเหตุตั้งแต่ลักษณะท่าทางไม่ถูกต้อง เช่น นั่งทำงานด้วยโต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่ได้ระดับสัมพันธ์กับสรีระ การเอียงคอคุยโทรศัพท์นาน นั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นาน ชอบเงยคอเวลาขับรถ นอนคว่ำหน้า นอกจากนี้ อาการปวดคอยังเกิดได้จากภาวะข้อเสื่อม ข้ออักเสบ ทว่าสาเหตุนี้มักพบในคนสูงวัย เนื่องจากกระดูกและข้อต่อมีหินปูนมาพอกหรือมีโรคข้อบางชนิด เช่น รูมาตอยด์
และถ้าไม่ใช่เพราะสองสาเหตุข้างต้น ก็อาจเกิดจากภาวะเครียดทางจิตใจ การพักผ่อนไม่เพียงพอ โดยปัญหาใจและกายนี้มีส่วนทำให้กล้ามเนื้อคอหดเกร็งนานผิดปกติ จนปวดคอร่วมกับปวดศีรษะแถวท้ายทอย หรือแม้แต่การเกิดอุบัติเหตุที่บริเวณคอ จนคอต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว เอ็นและกล้ามเนื้อถูกยืดมากจนฉีกขาด รวมทั้งการมีกระดูกคอผิดปกติแต่กำเนิด และสายตาผิดปกติ ก็เป็นสาเหตุให้ปวดคอได้เช่นกัน
ควรทำอย่างไรเมื่อรู้สึกปวดคอ? ลำพังการนำหมอนที่ใช้หนุนนอนไปตากแดดแก้เคล็ดตามความเชื่อก็อาจมีผลทางจิตใจ ทว่าในทางการแพทย์ แนะนำให้หยุดพัก และควรประคบร้อนหรือเย็นราว 15-20 นาที ทำเครื่องพยุงคอโดยนำผ้าขนหนูม้วนให้หนา จากนั้นพันรอบคอเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวและลดแรงกดจากน้ำหนักของศีรษะ ร่วมกับการกินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลหรือแอสไพริน แต่ถ้าบรรเทาปวดด้วยตนเองผ่านไป 5-7 วันแล้วไม่หาย ต้องไปพบแพทย์
ส่วนเทคนิคป้องกันการปวดคอ ทำได้ไม่ยาก เพียงบริหารกล้ามเนื้อคอเพื่อสร้างความแข็งแรง อุปกรณ์ก็ไม่ต้องหามาเพิ่ม แค่ใช้นิ้วมือของตัวเราเองช่วยบริหารคอ 3 ท่า เริ่มจากท่าแรก ตั้งคอตรง ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางที่หน้าผากพร้อมออกแรงกดไปทางด้านหลัง ระหว่างนั้นให้เกร็งศีรษะต้านแรงดันจากนิ้วไว้
ท่าต่อมา ตั้งคอตรง ใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางวางที่ท้ายทอย จากนั้นออกแรงกดไปด้านหน้า พร้อมเกร็งศีรษะต้านแรงไว้ และท่าสุดท้าย ยังคงตั้งคอตรงและใช้สองนิ้วเดิมวางบริเวณขมับด้านขวา แล้วออกแรงกดไปด้านซ้าย และเกร็งศีรษะต้านแรงไว้ เสร็จแล้วทำสลับกับด้านซ้าย โดยแต่ละท่าที่แนะนำนี้ ให้เกร็งคอค้างไว้นาน 10 วินาที ทำท่าละ 10 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ เพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคอ.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com