พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... 2

ความเจริญของประเทศชาติ เป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2513)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (1)

บ้านเมืองของเรากำลังต้องการการปรับปรุงและการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ทางที่เราจะช่วยกันได้ก็คือ การที่ทำความคิดให้ถูกและแน่วแน่ ในอันที่จะยึดถือประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นที่หมาย ต้องเพลาการคิดถึงประโยชน์เฉพาะตัว และความขัดแย้งกันในสิ่งที่มิใช่สาระลง

(พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2543)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (2)

ถ้าทุกคนสนใจในความรักประเทศชาติ รักษาความดีเอาไว้ ไม่ต้องไปตามอย่างในสิ่งที่เราเห็น ว่าไม่น่าที่จะเจริญไม่น่าจะพัฒนา เราต้องรักษาแนวทางความคิดตามที่เรามีอยู่ แม้จะเป็นสิ่งที่ตกทอดมาแต่โบราณกาลจากปู่ย่าตายายของเรา แต่เป็นระเบียบการหรือเป็นวิธีการที่ดี จะไม่ล้าสมัย

(ในโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร 13 มีนาคม 2514)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (3)

การมีเสรีภาพนั้น เป็นของที่ดีอย่างยิ่ง แต่เมื่อจะใช้ จำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง และควมรับผิดชอบ มิให้ล่วงละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นที่เขามีอยู่เท่าเทียมกัน ทั้งมิให้กระทบกระเท้อนถึงสวัสดิภาพและความเป็นปกติสุขของส่วนรวมด้วย

(พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ 9 กรกฎาคม 2514)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (4)

ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัลหรือผลประโยชน์ให้มาก ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ เป็นทั้งรางวัลและประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองไทยของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง

(เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน 1 เมษายน 2533)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (5)

คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข

(พระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯ ณ ศาลาดุสิดาลัย 4 ธันวาคม 2541)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (6)

การดำเนินชีวิตโดยใช้วิชาการอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ จะต้องอาศัยความรู้รอบตัวและหลักศีลธรรมประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีแต่ขาดความยั้งคิด นำความรู้ไปใช้ในทางมิชอบ ก็เท่ากับเป็นบุคคลที่เป็นภัยแก่สังคมของมนุษย์

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 18 กันยายน 2504)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (7)

ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้หบุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (8)

คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 12 กรกฎาคม 2522)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (9)

การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ๆ

(พระราชทานแก่ครูและนักเรียน โรงเรียนจิตรลดา 27 มีนาคม 2523)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (10)

สัจจวาจา นั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ “สัจ” เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ “วาจา” เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น

(ในโอกาสที่ผู้พิพากษาประจำกระทรวงยุติธรรมเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ 18 มีนาคม 2525)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (11)

ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 10 กรกฎาคม 2540)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (12)

การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (13)

ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 21 เมษายน 2503)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (14)

โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลายเป็นของมีคุณค่า และจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดี เป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทย ที่มีมาแต่อดีต ควรสงวนรักษาไว้ให้คงทนถาวร เป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล

(ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 26 ธันวาคม 2504)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (15)

การสร้างงานศิลปะทุกอย่างทุกประเภท นอกจากจะต้องใช้ความฝึกหัดชัดเจนในทางปฏิบัติ ประกอบกับวิธีการที่ดีอย่างเหมาะสมแล้ว ศิลปินจำต้องมีความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจในงานที่ทำด้วย จึงจะได้ผลงานที่มีค่าควรแก่การยอมรับนับถือ

(ในพิธีเปิดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 21 8 กันยายน 2515)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (16)

งานด้านการศึกษาศิลปะและวัฒนธรรมนั้น คืองานสร้างสรรค์ความเจริญทางปัญญาและทางจิตใจ ซึ่งเป็นทั้งต้นเหตุทั้งองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของความเจริญด้านอื่นๆทั้งหมด และเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้เรารักษาและดำรงความเป็นไทยไว้ได้สืบไป

(ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร 12 ตุลาคม 2513)

พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (17)

ภาษาไทยนั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งสวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดีเป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี

(ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฎาคม 2505)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (18)

สามัคคี คือการเป็นแก่บ้านเมือง และช่วยกันทุกวิธีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแย่งตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวมนั้นคือความมั่นคงของบ้านเมือง

(ในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล 15 มกราคม 2519)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (19)

การที่คนสมัยใหม่บอกว่าคนสมัยเก่ามีความรู้น้อยก็อาจเป็นจริง แล้วคนสมัยใหม่ดูถูกหรือเหยียดหยามคนสมัยเก่าก็มีสิทธิ์ แต่ถ้าพูดตามความจริงแล้ว สิทธิ์ที่จะเหยียดหยามคนรุ่นเก่าไม่ควรจะมี ด้วยเหตุว่าคนรุ่นเก่านี้เองทำให้คนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาได้

(พระราชทานแก่ คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2531)

พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... (20)

Credit: พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...
26 มี.ค. 53 เวลา 22:47 14,151 2 38
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...