การตีงูให้หลังหักแต่ไม่ตาย โบราณเชื่อว่า จะทำให้งูเกิดการอาฆาตแค้น และจะตามจองล้างจองผลาญจนคนคนนั้นต้องตายไปตามกัน งูที่ถูกตีจนหลังหักหรือถูกตีจนได้รับบาดเจ็บ มีความแค้น และความทรงจำตามที่กล่าวมาข้างต้นจริงหรือไม่ในทางวิทยาศาสตร์
น.สพ.ชิษณุ ติยะเจริญศรี หัวหน้าแผนบำรุงรักษาสัตว์ สวนสัตว์ดุสิต อธิบายว่า สำนวนไทยที่กล่าวว่า ตีงูอย่าตีให้หลักหัก ต้องตีให้ตาย เพราะงูที่ถูกตีจะกลับมาทำร้ายคนที่ตีเป็นความเชื่อที่ผิด โดยธรรมชาติของงูหรือธรรมชาติของสัตว์ป่านั้น เวลาที่คนเข้าไปใกล้ สัตว์ป่าจะหนีเรา วิธีการป้องกันไม่ให้ถูกงูกัดคือ เวลาที่เราเดินเข้าไปในป่าควร ใช้ไม้ตีเบาๆตามต้นไม้ หรือ ต้นหญ้า เพื่อเป็นสัญญาณว่าเราจะเดินเข้าไป งูก็จะเลื้อยหนีไป แต่งูจะกัดเราก็ต่อเมื่องูไม่มีทางหนีแล้ว สมมุติว่าเราเดินไปจนกระทั่งงูไม่สามารถเลื้อยหนีไปได้ งูก็จะกลับมากัดเรา สรุปคือขั้นแรกเมื่องูตกใจมันจะเลื้อยหนีเรา
เพราะฉะนั้นเวลาที่เราเจองู ถ้างูไม่ได้ทำอันตรายอะไรกับเรา ก็ปล่อยไปเถอะ อย่าไปตีมันจนตายเลย นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า "หากใครขโมยไข่งูจงอาง แม่งูจงอางจะโกธรแค้นและตามมาทวงไข่คืน" นั่นเป็นคำกล่าวที่มักจะได้ยินกันเสมอ เรื่องราวของการขโมยไข่งูแล้วแม่งูจะตามมาทวงนั้นเป็นตำนานหรือเรื่องจริง น.สพ.ชิษณุ อธิบายเพิ่มเติมว่า กรณีที่คนไปขโมยไข่งูมาแล้วงูจะได้กลิ่นและจะตามกลิ่นมา เนื่องจากงูตัวผู้จะได้กลิ่นที่ติดอยู่ที่ไข่เพราะไข่งูจะมีกลิ่นงูตัวเมียติดอยู่นั่นเอง งูเป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งซึ่งรักชีวิตของมันเช่นเดียวกับสัตว์โลกชนิดอื่นๆ เช่นเดียวกันถ้าเราประจันหน้ากับงูพิษในระยะที่อาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเราและคนที่เรารัก บางครั้งการป้องกันหรือการฆ่าก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง
TIPS ชาวกรีกโบราณนิยมเขียนรูปงูกำลังต่อสู้กันตามผนังของศาสนวิหาร เพราะชื่นชมในการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)