การตั้งกระทู้นี้สืบเนื่องมาจากที่ผมได้รับหน้าที่เป็นประธานสายกรุงเทพฯ เพื่อบอกบุญแก่บรรดาเพื่อนๆ และคนรู้จัก ในการรวบรวมปัจจัยทอดกฐินเพื่อสร้างศาลาการเปรียญทดแทนหลังเก่าที่ทรุดโทรม ของวัดป่าภูพรานทอง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ในวันที่ 26-27 ตุลาคม 2556 วัดนี้เป็นวัดที่อยู่เชิงดอยของเทือกเขาภูพาน ค่อนข้างสงบ อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมยิ่ง
บุญกฐินครั้งนี้ไม่ได้เป็น "กฐินแล่น" เหมือนหัวข้อกระทู้หรอกครับ แต่ครั้งหนึ่งที่ผมจำความได้(ตอน7-8ขวบ) วัดนี้เคยทำบุญกฐินแล่น (แล่น ในภาษาอีสาน หมายถึง วิ่ง) เป็นที่สนุกสนาน และอิ่มบุญกันอย่างมาก เพื่อนๆหลายคนอาจจะยังงง กับบุญกฐินแล่น งั้นเรามาทำความรู้จักกับ "บุญกฐินเเล่น" ของชาวอีสานกันเลยนะครับ
เป็นกฐินที่ต้องอาศัยความร่วมมือของคนหมู่มาก ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จ เลยเรียกว่า กฐินแล่น (ความหมายคือเร่งรีบ ฟ้าว ต้องแล่น (วิ่ง) จึงจะเสร็จทันกาล) เจ้าภาพผู้ที่จะคิดทำจุลกฐินเพื่อทอดถวาย ณ วัดใดวัดหนึ่งจะต้องมีบารมี มีพวกพ้องคอยช่วยเหลือ เพราะต้องเริ่มจากการนำฝ้ายที่แก่ใช้ได้แล้วแต่ยังอยู่ในฝัก มีปริมาณมากพอที่จะทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้แล้ว ทำพิธีสมมติว่าฝ้ายจำนวนนั้นได้มีการหว่านแตกงอก ออกต้น เติบโต ผลิดอก ออกฝักแก่สุก แล้วเก็บมาอิ้วเอาเมล็ดออก ดีดเป็นผง ทำเป็นเส้นด้าย เบียออกเป็นไจ กรอออกเป็นเข็ด แล้วฆ่าด้วยน้ำข้าว ตากให้แห้ง ใส่กงปั่นเส้นหลอด ใส่กระสวยเครือแล้วทอเป็นแผ่นผ้าตามขนาดที่ต้องการนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน
เมื่อพระสงฆ์รับผ้านั้นแล้ว มอบแก่พระภิกษุผู้เป็นองค์ครอง ซึ่งพระภิกษุองค์ครองจะจัดการต่อไปตามพระวินัย หลังจากนั้นผู้ทอดต้องช่วยทำต่อ คือ นำผ้านั้นมาขยำ ทุบ ซัก แล้วไปตากให้แห้ง นำมาตัดเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง แล้วเย็บย้อม ตากแห้ง พับ ทับรีดเสร็จเรียบร้อยนำไปถวายพระภิกษุองค์ครองอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านทำพินทุอธิษฐาน เสร็จการพินทุอธิษฐานแล้วจะมีการประชุมสงฆ์ แจ้งให้ทราบ พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดจะอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธีจุลกฐิน
แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ทอดกฐินไม่มีกำลังมาก พอจะตัดวิธีการในตอนต้นๆ ออกเสียก็ได้ โดยเริ่มตั้งแต่การนำเอาผ้าขาวผืนใหญ่มากะประมาณให้พอที่จะตัดเป็นจีวรผืนใด ผืนหนึ่งแล้วนำไปทอด เมื่อพระภิกษุสงฆ์ท่านนำไปดำเนินการตามพระวินัยแล้ว ก็ช่วยทำต่อจากท่าน คือ ซัก กะ ตัด เย็บ ย้อมให้เสร็จ แล้วนำกลับไปถวายพระภิกษุองค์ครองเพื่อพินทุ อธิษฐานต่อไปเหมือนวิธีทำที่กล่าวมาแล้วในการทำจุลกฐินเต็มรูปแบบ
ส่วนบริวารของจุลกฐิน ผ้าห่มพระประธาน และเทียนปาติโมกข์ ตลอดจนธงจรเข้ ตะขาบ ก็คงเป็นเช่นที่กล่าวมาในเรื่องของกฐินหรือมหากฐินนั่นเอง
จุลกฐิน เป็นคำเรียกพิธีทอดกฐินที่ต้องเร่งรีบทำให้เสร็จภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายทอเป็นผืนผ้า เย็บ ย้อม ตากแห้งแล้วนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน พระสงฆ์รับแล้วก็รีบกรานกฐินในวันนั้นด้วย ทำดังนี้จึงเป็นจุลกฐิน
กว่าจะเป็นจุลกฐินได้จะต้องใช้ผู้คนมากและมีความชำนาญเป็นพิเศษ กะเวลาได้ถูกจึงจะเสร็จทันเวลา และขณะทำจะดูชุลมุนกันไปหมดเพราะต้องเร่งรีบให้ทัน ด้วยประการฉะนี้แล จึงเกิดมีสำนวนไทยเปรียบการทำงานที่ชุลมุนวุ่นวายเป็นโกลาหลเพื่อเร่งให้ เสร็จทันตามกำหนดว่า “ วุ่นเป็นจุลกฐิน”
ขั้นที่1 การแห่แหนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทำผ้ากฐินไปยังสถานที่ที่จัดเตรียมไว้
ขั้นที่2 การเก็บฝักฝ้ายจากต้นเพื่อนำไปทอ
ขั้นตอนที่3 เป็นการเข็นฝ้ายเพื่อเอาเมล็ดฝ้ายออก
ขั้นตอนที่4 เป็นการดีดฝ้ายเพื่อให้เนื้อฝ้ายละเอียด
ขั้นตอนที่5 การเข็นฝ้ายให้เป็นเส้น
ขั้นตอนที่6 การค้นเส้นฝ้ายเพื่อนำไปทอ
ขั้นตอนที่7 การทอผ้าฝ้ายดิบ
ขั้นตอนที่8 การวัดขนาดจากตัวพระภิกษุที่จะรับผ้ากฐิน
ขั้นตอนที่9 การตัดเย็บ
ขั้นตอนที่10 การย้อมผ้าด้วยแก่นของต้นขนุน
ขั้นตอนที่11พับเป็นผ้าไตรจีวร
ขั้นตอนที่12 การแห่ผ้ากฐินไปยังวัดที่จะถวาย
สุดท้ายนี้เจ้าของกระทู้ขอให้สมาชิกทุกท่านได้บุญร่วมกันนะคร๊าฟ
ที่มา:เนื้อหาบางส่วนจาก กลุ่มลูกศิษย์พระพุทธเจ้า และภาพจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย