ย้อนไปเมื่อ 22 ปีก่อน ความหวังของคนกรุงเทพฯ คือในอนาคตจะได้ใช้รถไฟฟ้าสะดวกสบายขึ้นลงได้หลายสถานีจากชานเมืองเข้าสู่ตัวเมืองได้ในระยะเวลาไม่กี่นาที แต่แล้วความหวังของคนไทยต้องมีอันพังทลายพร้อม ๆ กับคำถาม รวมถึงคำตำหนิอย่างมากมาย
โครงการโฮปเวลล์ เกิดจากรัฐบาลสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีการเปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างทางยกระดับ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรเริ่มต้นเมื่อปี 2533 มีทั้งทางด่วน รถไฟชานเมือง รถไฟฟ้า ระยะทางรวม 60.1 กิโลเมตร มีบริษัทยักษ์ใหญ่ของฮ่องกงคือ "บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย)" ของ "กอร์ดอน วู" สามารถปรมูลได้และมีสัญญาสร้างระยะยาว 30 ปี ตั้งแต่ 6 ธ.ค. 2534 - 5 ธ.ค. 2542
แต่โครงการเริ่มมาสะดุดเมื่อเกิดรัฐประหาร หลังจากนั้นมีการตรวจสอบจนถูกล้มโครงการสมัย "รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ต่อมาปี 2540 สมัย "รัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ" ได้ประกาศยกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์ หลังโครงการหยุดก่อสร้างเพราะวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งมีความคืบหน้าแค่ 13.77% ตลอดเวลาที่ก่อสร้าง 7 ปี และมาบอกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2541 สมัย "รัฐบาลชวน หลีกภัย 2" ซึ่งทำให้บริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเงิน 56, 000 ล้านบาท ในขณะที่การรถไฟฯ ก็เรียกร้องค่าเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเป็นเงินกว่า 200,000 ล้านบาท
จนในที่สุดแล้ว เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 คณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยว่า กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม จึงให้คืนเงินชดเชยให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิง้ เป็นเงิน 11,888.75 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท เงินค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่บริษัทชำระไปแล้ว 2,850 ล้านบาท และเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38,749,800 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี และคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาทให้กับบริษัทโฮปเวลล์ฯ
ต้องบอกว่าเป็นโครงการอัปยศในสายตาของคนไทย เหลือไว้เพียงแค่เสาต่อม่อกว่า 500 ต้น เป็นอนุสรณ์ให้เด็กรุ่นหลังได้ดูเท่านั้น และจากการสำรวจของบริษัทอิตาเลียนไทยฯ พบว่าเสาต่อม่อเหล่านี้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไล่ทุบทิ้งตั้งแต่หน้าวัดเสมียนนารี-ดอนเมือง
ก่อนที่แท่งเสาอันไร้ค่าจะโดนทำลายทิ้งไป ทาง กทม.จึงได้ประกาศให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ตามใจชอบ ซึ่งอย่างน้อยก็ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ชื่นชอบศิลปะบนกำแพงอยู่บ้าง
ถึงแม้ว่าความสวยงามของงานศิลป์จะทำให้หลายคนหลงใหลและชื่นชม แต่อย่าลืมไปว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้สีสันอันงดงามของผลงานเหล่านั้นคือเศษซากของความล้มเหลวของการบริหารกับภาษีและงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
ทั้งนี้ มีการให้จับตาดูโฮปเวลล์ 2 ตอม่อเกษตร-นวมินทร์ จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ จะเป็นโครงการแบบไร้ชะตากรรมอีกหรือไม่ อนาคตจะเป็นคำตอบ
ขอบคุณภาพจาก goplaymagazine.com และ มติชน ออนไลน์