ทช.บรรจุ "วาฬบรูด้า" เป็นสัตว์ประจำถิ่นอ่าวไทยรูปตัว "ก"

วันที่ 9 ตุลาคม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) และนายเกษมสันต์ จิณณวาโส หัวหน้าผู้ตรวจราชการทส.ว่า หลังจากที่ ทช.โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ได้สำรวจเก็บข้อมูลเรื่องวาฬบรูด้า อย่างจริงจัง ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยรูปตัว ก.ตั้งแต่ 2551-2556 มีการพบเห็นวาฬบรูด้า เป็นประจำในพื้นที่ดังกล่าว จนขณะนี้สามารถพูดได้เต็มที่แล้วว่า วาฬบรูด้า คือ สัตว์ประจำถิ่นของทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก


"เจ้าหน้าที่รายงานข้อมูลมาที่ผม ซึ่งน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมาก พบว่า ที่ผ่านมา เราพบวาฬบรูด้า สามารถบันทึกและตั้งชื่อวาฬทุกตัวได้แล้ว 40 ตัว เป็นวาฬเพศเมีย 8 ตัว ที่สำคัญคือ ตลอดปี 2556 นี้ แม่บรูด้าได้กำเนิดลูกบรูด้าตัวใหม่ ถึง 4 ตัวด้วยกัน คือ แม่ตองอ่อน ออกลูก เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อว่า ใบตอง โดยพบเจ้าใบตองนี้เมื่อวันที่ 8 กันยายน แม่ข้าวเหนียว ซึ่งก่อนหน้านี้ มีลูกชื่อ เจ้าส้มตำ เมื่อ ส้มตำออกหากินเองได้ ก็มีลูกตัวใหม่ทันที เจ้าหน้าพบเมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งผม ขออนุญาตเขาตั้งชื่อว่า เจ้าเอกน้อย ซึ่งเป็นชื่อเอกนั้นเป็นชื่อเล่นผมเอง นอกจากนี้ยังมี แม่พาฝัน มีลูกคือ เจ้าอิ่มเอม เจอเมื่อวันที่ 26 กันยายน และแม่สาคร มีลูกชื่อ เจ้าท่าฉลอม ซึ่งยังไม่ใช่ชื่อที่เป็นทางการ ที่เจ้าหน้าที่ของ ทช.จะต้องบันทึกเอาไว้ โดยในวันที่ 26 ตุลาคม นี้ ผมตั้งใจว่าจะเดินทางไป อ่าว ตัว ก เพื่อตามหาเจ้าท่าฉลอม ด้วย"นายวิเชษฐ์ กล่าว


นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า มีรายงานจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ว่า เจ้าท่าฉลอมนั้น เป็นลูกบรูด้าที่แข็งแรงมาก
 
และมีพฤติกรรมที่วาฬบรูด้าตัวอื่นๆ ไม่ค่อยทำกัน นั่นคือ ชอบกระโดด ซึ่งปกติแล้ว วาฬบรูด้าที่อายุไม่ถึง 1 ปี จะไม่ค่อยกระโดด ให้ใครเห็น แต่มักจะมีชาวประมง และเจ้าหน้าที่ ทช.ที่นั่งเรือสำรวจพื้นที่เห็น ท่าฉลอมกระโดด เป็นประจำ


"ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม มีคนเห็น และสามารถบันทึกภาพเจ้าท่าฉลอมกระโดดเหนือน้ำถึง 11 ครั้งติดต่อกันในเวลาไล่เลี่ยกัน และเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ก็มีคนเห็นอีกว่า มันกระโดดถึง 7 ครั้ง ติดต่อกันอีก ถือเป็นความน่ารัก และหาได้ยาก ในกรณีของลูกวาฬบรูด้ามาก ซึ่งการที่เราเห็นบรูด้าเป็นประจำ ในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก นี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในบริเวณดังกล่าว จะต้องช่วยกันดูแลไม่ให้มีอะไรไปกระทบ แล้วทำให้วาฬเหล่านี้หนีไปอยู่ที่อื่น"นายวิเชษฐ์ กล่าว
 

นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ที่มีการลงความเห็นกันว่า วาฬบรูด้า เป็นสัตว์ประจำถิ่นของทะเลอ่าวไทย รูปตัว ก เพราะมีหลักฐาน แสดงชัดเจนว่า ตลอดพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย ที่มีวัด นั้น มักจะมีกระดูก หรือซาก ของสัตว์ชนิดนี้ถูกเก็บรักษาเอาไว้เกือบทุกที่


"ตอนที่สำรวจใหม่ๆ เราก็ยังไม่ปักใจชัด คิดแค่ว่า เป็นสัตว์อพยพ ตามอาหารมาเท่านั้น แต่จากการบันทึก และมาร์คจุดที่พบ เราก็พบหลายจุดในพื้นที่อ่าวไทย ตั้งแต่ทะเลชุมพร มาถึงทะเลฝั่งตะวันออก เจอมากที่สุดคือ อ่าวไทยตอนบน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก ที่น่าสนใจคือ หลายครั้ง เราเห็นพวกเขาว่ายน้ำมาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บริเวณทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นทะเลเขตกรุงเทพแล้ว แสดงว่า อาหารของพวกเขาอยู่ที่นั่นด้วย และไม่มีใครไปรบกวนพวกเขาด้วย เป็นเรื่องที่ดีมากๆ"นายเกษมสันต์ กล่าว
 

นายสุรศักดิ์ ทองสุกดี นักวิชาการประมง ชำนาญการ หัวหน้าทีมสำรวจโลมา และวาฬบรูด้า ทช.กล่าวว่า
 
ที่ผ่านมา ทช.สามารถตั้งชื่อ และจำแนกลักษณะ ที่แตกต่างกันอย่างเป็นทางการทั้งหมด 40 ตัว แต่ ความจริงแล้ว คิดว่า ในพื้นที่อ่าวไทย น่าจะมีวาฬบรูด้ามากกว่านี้ มีคนถามว่า จำนวนเท่านี้ ถือว่ามากหรือไม่ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และวิธีการนับของแต่ประเทศ เพราะธรรมชาติของบรูด้าคือ หากินแบบเดี่ยวๆ ยกเว้น บรูด้าที่เป็นแม่ลูกที่จะออกหากินเป็นคู่ โดยแม่บรูด้าจะเลี้ยงลูกประมาณ 2 ปี  ระหว่างเลี้ยงลูกก็สามารถตั้งท้องใหม่ได้ด้วย
 

เมื่อถามว่า การที่ลูกวาฬบรูด้า อายุไม่ถึง 1 ปี กระโดดเหนือน้ำ ถือเป็นพฤติกรรมผิดปกติหรือไม่ นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่เก็บข้อมูลมา ก็ไม่ค่อยเจอพฤติกรรมแบบนี้ ในลูกบรูด้าตัวอื่นเลย ถือว่าเป็นลูกปลาที่ค่อนข้างแข็งแรง


"แต่การกระโดดของลูกบรูด้าไม่เหมือนโลมากระโดด เพราะโลมาจะกระโดดเอาหน้าลง แต่บรูด้าจะกระโดดแล้วเหมือนกันการตีลังกาใส่เกลียวบิดตัวหงายท้องเอาหลังลง ลูกปลาที่กระโดดแบบนี้ได้ติดต่อกัน 11 ครั้ง ถือว่าแข็งแรงมาก เพราะบรูด้าตัวใหญ่กว่าโลมามาก แรกเกิดยาวประมาณ 4 เมตร หนักประมาณ 400 กิโลกรัม รูปที่เราถ่ายได้ ไม่ชัดนัก เพราะยอมรับว่า เห็นแล้วก็อึ้งเหมือนกัน ตั้งตัวไม่ติด"นายสุรศักดิ์ กล่าว







Credit: http://variety.teenee.com/foodforbrain/56779.html
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...