สระว่ายน้ำ ที่มีอยู่ตามโรงแรม สถานศึกษาหรือหมู่บ้านชุมชนใหญ่ ๆ มีความจำเป็นสำหรับการออกกำลังกายของผู้ชอบกีฬาว่ายน้ำ หรือไว้ใช้ฝึกซ้อมสำหรับนักกีฬาว่ายน้ำ ทำให้สระว่ายน้ำมีผู้ใช้บริการค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสปนเปื้อนด้วยจุลินทรีย์จากร่างกายของผู้มาใช้บริการค่อนข้างมากด้วย ได้มีการนำสารประกอบคลอรีนมาใส่ในสระว่ายน้ำเพื่อฆ่าจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคต่างๆ
ทั้งนี้ปริมาณคลอรีนในสระว่ายน้ำที่ใช้จะมีปริมาณ 0.6 1.0 ส่วนในล้านส่วน แต่ในปัจจุบัน ผู้ดูแลสระว่ายน้ำได้นำคลอรีนมาใส่ในปริมาณมากเกินไปหรือนำสารประกอบคลอรีนอื่น ๆ มาใช้ ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ใช้บริการได้ง่าย
ทันตแพทย์หญิงจันทนา อี้งชูศักดิ์ กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลในผลการวิจัย เรื่อง ภาวะฟันกร่อนในผู้ว่ายน้ำ โดยการตรวจสภาพฟันกร่อนของนักกีฬาว่ายน้ำจากโรงเรียนการกีฬาจังหวัดขอนแก่น จำนวน 18 คน พบว่าทุกคนมีสภาพฟันกร่อนอย่างรุนแรง เนื่องจากนักกีฬาว่ายน้ำได้สัมผัสกับน้ำในสระว่ายน้ำที่มีความเป็นกรดสูงเป็นเวลานาน
เพราะสระว่ายน้ำดังกล่าวได้ใช้สารประกอบเคมีของคลอรีนที่เรียกว่า "กรดคลอโรไอโซไซยานูริก" หรือ คลอรีน 90% มาใช้ทำลายจุลินทรีย์หรือเชื้อโรค โดยที่ คลอรีน ดังกล่าวมีราคาถูก ยับยั้งการเจริญของตะไคร่น้ำได้ ทำให้น้ำใส แต่ปริมาณคลอรีนจะตกค้างในน้ำได้เป็นเวลานานทำให้สระน้ำมีความเป็นกรดเป็นเวลานานตามไปด้วย
สำหรับภาวะการณ์เกิดฟันกร่อนเป็นการสูญเสียเนื้อเยื่อแข็งของฟันเนื่องมาจากปฏิกิริยาทางเคมีตามปกติแล้วถ้ารักษาฟันไม่สะอาดก็จะมีจุลินทรีย์มาเจริญปกคลุมเนื้อเยื่อฟันที่เรียกว่าแผ่นคราบจุลินทรีย์
"จุลินทรีย์เหล่านี้จะเจริญและสร้างกรดออกมาทำลายสารเคลือบฟันทำให้สารเคลือบฟันบางลงเรื่อยๆ ถ้าเป็นเช่นนี้ไปนานๆ จึงเกิดสภาพฟันกร่อนขึ้นมา อาการที่ปรากฏก็คือการเสียวฟันอยู่เสมอๆ"