จริงหรือน้าชาติที่ว่า ปลาตีนขึ้นต้นไม้ได้ // เด็กเหนือ
ตอบ เด็กเหนือ
มารู้จัก "ปลาตีน" กันก่อน... ปลาตีน มีชื่อวิทยาศาสตร์ Periophthalmus chysospilos ชื่อวงศ์ GOBIIDA จัดเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และเป็นปลากระดูกแข็ง ลักษณะสัณฐานวิทยา คล้ายปลามีปอดที่พบในทวีปแอฟริกา ขนาดลำตัวยาว 5-30 เซนติเมตร มีครีบคู่หน้า หรือครีบอกที่แข็งแรง ซึ่งปลาตีนก็ใช้ครีบอกที่แข็งแรงนี่เองยันตัวไถลหรือกระโดดไปบนพื้นเลน หรือตามผิวหน้าของพื้นน้ำ รวมถึงยันตัวคลานขึ้นต้นไม้ โดยเฉพาะยึดเกาะกับต้นโกงกาง หรือแสม ในป่าชายเลนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญ โดยมีการบิดงอโคนหางแล้วดีดออกเหมือนสปริงเป็นตัวช่วยที่ทำให้เคลื่อนไหวไปได้ จึงดูไปคล้ายมันมีเท้าหรือตีนพาตัวเคลื่อนไหนมาไหน
ปลาตีนเพศผู้ มีขนาดลำตัวแบนเล็กน้อย มีเกล็ดปกคลุมทั่วลำตัว มีสีเทาแถบสีน้ำตาลพาด บริเวณหัวและตามตัวมีจุดวาวสีเขียวมรกต ปลายครีบหลังสีขาว สีน้ำตาล สีน้ำเงิน วาวเหมือนมุก
ส่วนเพศเมีย สีลำตัวค่อนข้างเหลือง ปลาตีนเมื่ออยู่บนบกจะหายใจผ่านผิวหนังและช่องเหงือก อาหารที่กินเป็นลูกกุ้ง ลูกปู ตัวอ่อนของสัตว์น้ำขนาดเล็ก สาหร่ายและซากพืชและสัตว์บนผิวเลน
ปลาตีน มีทั้งหมด 9 สกุล 38 ชนิด กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามชาย ทะเลโคลนและป่าชายเลนในเขตร้อน ตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกาจนถึงเอเชียแปซิฟิก มีความยาวลำตัวแตกต่างออกไปตั้งแต่เพียงไม่กี่เซนติเมตร ในชนิด Zappa confluentus จนถึงเกือบ 1 ฟุต ในชนิด Periophthalmodon schlosseri
ลักษณะพิเศษและพฤติกรรม หัวมีขนาดโต มีตาหนึ่งคู่ตั้งอยู่ส่วนบนสุดของหัวโปนออกมาเห็นได้ชัด ดวงตากลอกไปมาได้ จึงใช้มองเห็นได้ดีเมื่อพ้นน้ำ สามารถเคลื่อนที่บนบกได้โดยใช้ครีบอกที่แข็งแรงไถลตัวไปตามพื้นเลนและกระโดดได้ด้วย ทั้งยังใช้ชีวิตอยู่บนบกได้เป็นเวลานาน เนื่องจากมีอวัยวะพิเศษอยู่ข้างเหงือกที่สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้
ตำแหน่งของปากอยู่ปลายสุดของหัวขนานกับพื้น หากินในเวลาน้ำลด กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำขนาดเล็กบนพื้นเลน แลดูผิวเผินเหมือนสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าปลา
ปกติปลาตีนจะอาศัยอยู่รวมกันหลายตัว ไม่มีออกนอกเขตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้นและมีอาณาเขตของการสืบพันธุ์ มันจะสร้างหลุมโดยใช้ปากขุดโคลนมากองบนปากหลุม เรียกว่า หลุมปลาตีน และมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีปลาตีนตัวอื่นรุกล้ำ โดยจะกางครีบหลังขู่และเคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที ปลาตีนตัวผู้และตัวเมียจะผสมพันธุ์ในหลุมที่ตัวผู้ขุดไว้
แหล่งที่อยู่ในประเทศไทย อาศัยตามป่าชายเลนริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ตราด เรื่อยลงไปถึงปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุดชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล สำหรับปลาตีนชนิดที่พบได้ในประเทศไทย มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น จุมพรวด ตุมพรวด กำพุด กระจัง หรือไอ้จัง เป็นต้น
ปลาตีนมักถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอยู่เสมอๆ โดยคนขายหลอกผู้ซื้อว่าเป็นปลาน้ำจืด หรือปลาจากต่างประเทศ และตั้งชื่อให้แปลกออกไป เช่น คุณเท้า เกราะเพชร หรือโฟร์อายส์ เป็นต้น
รู้ไปโม้ด โดย...น้าชาติ ประชาชื่น nachart@yahoo.com