“บาปกรรม” “นี่หรือเมืองพุทธ” คือผลสะท้อนกลับมาอย่างหนักในทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ ล่าสุด ทางกระทรวงสาธารณสุขเปิดตัวสายด่วน “1663” สำหรับให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมอย่างเป็นทางการ
ตบท้ายด้วยคำสนับสนุนจากนายแพทย์ว่าเปิดให้ทำแท้งถูกกฎหมายย่อมดีกว่าหาวิธีเอาเด็กออกด้วยแท้งเถื่อน ซ้ำยังพูดถึงยาทำแท้งตามท้องตลาดอย่างเปิดเผย ส่งให้สังคมต้องกลับมาคิดหนักอีกครั้งว่า สรุปแล้ว บ้านเมืองเราควรรับมืออย่างไรกับเรื่องนี้ จะเห็นใจคุณแม่จำเป็นหรือสงสารก้อนเนื้ออันบริสุทธิ์?
คุณแม่จำเป็น ท้องเอง-ทำแท้งเอง!!
ผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ตัดสินใจ “ทำแท้งด้วยตัวเอง” และอีกเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ยอมทำแท้งกับผู้ที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์หรือไม่ทราบว่าผู้ทำแท้งให้คือใคร!!
ส่งผลให้มีผู้ป่วยอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์เลือกทำแท้งด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัย เช่น การบีบหน้าท้อง การใส่ของแข็งหรือฉีดสารต่างๆ ทางช่องคลอด, 9 เปอร์เซ็นต์ใช้วิธีการทำแท้งด้วยการขูดมดลูก จึงทำให้มีผู้ป่วยจากการทำแท้งเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึง 21.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภาวะตกเลือดมากจนต้องให้เลือดถือเป็นอาการที่พบเจอมากที่สุด คิดเป็น 14.8 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลเหล่านี้มาจากการสำรวจโรงพยาบาล 101 แห่ง ใน 13 จังหวัด เพื่อเฝ้าระวังการแท้งในประเทศไทย ครั้งล่าสุด (เมื่อปี 2554) โดยระบุว่า 1 ใน 3 เป็นผู้ป่วยทำแท้ง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-19 ปี มากที่สุดถึงร้อยละ 28, เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจร้อยละ 71.5 และไม่ได้คุมกำเนิดถึงร้อยละ 53.1 ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจทำแท้งส่วนใหญ่เป็นเพราะแรงบีบเรื่องสังคม ครอบครัว สุขภาพ และฐานะทางเศรษฐกิจ
“กฎหมายไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง บางประเทศมีกฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งได้ แต่คนก็ยังไม่เข้าถึงเพราะไม่มีแพทย์ ส่วนประเทศไทยสถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น แต่การใช้ยายุติการตั้งครรภ์ยังน้อยเพราะไม่อนุญาต แม้แต่ในโรงพยาบาลก็ยังใช้เหล็กขูดมดลูกอยู่ ยังไม่มีเครื่องดูดมดลูกระบบสุญญากาศ และไม่มียายุติการตั้งครรภ์ สิ่งเหล่านี้ยังเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งในการดำเนินการการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย”นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แสดงความคิดเห็นเอาไว้ในงานเสวนาเรื่อง “ยาทำแท้ง...ทางเลือกหรือทางตันของการยุติการตั้งครรภ์”
ถึงแม้สังคมจะตั้งคำถามว่าการเปิดตัวสายด่วน “1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม”อย่างเป็นทางการ ถือเป็นการส่งเสริมการทำแท้งในประเทศทางอ้อม เนื่องจากทางเครือข่ายจะเปิดสายให้คำปรึกษาและแนะนำสถานที่ที่เหมาะสมต่อการยุติการตั้งครรภ์ให้คุณแม่จำเป็นบางส่วน แต่นายแพทย์ก็ยืนยันว่าดีกว่าปล่อยให้ไปทำแท้งเถื่อน “เพราะการจำกัดการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ไม่สามารถแก้ปัญหากลุ่มผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่ให้ไปทำแท้งเถื่อนได้ หรืออาจตั้งครรภ์จนคลอดแต่สุดท้ายก็นำเด็กไปทิ้งได้เหมือนกัน”
เทียบกับประเทศที่มีอนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างเปิดกว้าง หรือที่คนไทยชอบเรียกติดปากว่า “ทำแท้งเสรี” เมื่อพิจารณาจากสถิติแล้ว จะเห็นว่าอัตราการคลอด การตั้งครรภ์ และการแท้งในบ้านเมืองเขาลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะกรณีของประเทศโรมาเนีย หลังจากเปิดให้ทำแท้งเสรี พบว่ามีอัตราการทำแท้งไม่ปลอดภัยลดเหลือต่ำมาก แต่เมื่อแก้กฎหมายกลับมาจำกัดการทำแท้งเสรีแล้ว กลับทำให้อัตราการทำแท้งไม่ปลอดภัยพุ่งสูงมากจนน่าตกใจ จนภาครัฐต้องตัดสินใจกลับมาแก้กฎหมายอีกครั้ง
แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังสรุปว่าระหว่างประเทศที่กฎหมายอนุญาตและไม่อนุญาตให้ทำแท้งเสรี สถิติการทำแท้งไม่แตกต่างกันมาก แต่กลุ่มประเทศที่กฎหมายจำกัดเรื่องนี้ จะมีการทำแท้งเถื่อนและทำแท้งไม่ปลอดภัยสูงกว่ามาก ขณะที่กลุ่มประเทศที่ไม่จำกัดหรือเปิดให้ทำแท้งเสรีมีอัตราการทำแท้งแทบเป็นศูนย์
ทำแท้งทุกวันนี้ “เสรี” มากแล้ว
“ตอนนี้ ประเทศไทยมีตัวบทกฎหมายที่อนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทุกกรณีค่ะ จะทำได้คือ 1.ถ้าผู้หญิงคนนั้นมีปัญหาสุขภาพกาย ถ้าท้องต่อแล้วตัวผู้หญิงจะมีปัญหา เขาก็มีสิทธิขอยุติการตั้งครรภ์ได้ 2.ถ้าผู้หญิงคนนั้นอายุต่ำกว่า 15 ปี สามารถขอยุติการตั้งครรภ์ได้เหมือนกัน เพราะตามกฎหมาย อายุต่ำกว่า 15 ถือว่าถูกล่อลวงหรือถูกข่มขืนหมดเลย 3.กรณีถูกข่มขืนหรือถูกล่อลวง ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ และ 4.ผู้หญิงที่มีปัญหาทางใจหรือเครียดอย่างรุนแรง จนมีแนวโน้มว่าจะส่งผลต่อตัวคุณแม่ ตัวอ่อนในครรภ์
ส่วนใหญ่ ปัญหาของผู้หญิงที่ขอเข้ามายุติการตั้งครรภ์ ถือว่าเข้าข่ายหลักเกณฑ์นี้ทั้งหมดเลย ถือเป็นการยุติการตั้งครรภ์โดยเป็นไปตามกฎหมายรองรับ แต่ไม่อยากให้ใช้คำว่า “ทำแท้งเสรี” เลยค่ะ เพราะมันให้อารมณ์เหมือนการค้าเสรี ซื้อขายได้เท่าไหร่ก็ได้ ไม่ต้องมีภาษี ซึ่งมันไม่ใช่ แท้งเสรีมันน่าจะใช้กับการทำแท้งเถื่อนมากกว่า ที่ไม่พิจารณาเลยว่าคุณจะมีอายุครรภ์เท่าไหร่ มีปัญหาอะไรมาไม่สนใจ เราทำให้หมดเลย แต่ที่ทางเครือข่ายประสานงานกันอยู่ทุกวันนี้ เรายังทำตามข้อกำหนดเรื่องของอายุครรภ์อยู่มาก” ทัศนัย ขันตยาภรณ์ เจ้าหน้าที่องค์การแพธ (PATH) ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องไม่พร้อม เจาะลึกรายละเอียดให้ฟัง
ถามว่าต้องการให้กฎหมายเปิดกว้างเรื่องทำแท้งให้เสรีมากกว่าที่เป็นอยู่หรือเปล่า เพราะการทำแท้งเสรีในระดับสูงสุดคืออนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้เมื่อผู้หญิงต้องการ ไม่ว่าจะมีเหตุผลอะไร อย่างที่ใช้กันในประเทศเนปาล, เวียดนาม, กัมพูชา, อเมริกาในบางรัฐ ฯลฯ
จากมุมมองส่วนตัวแล้ว เธอตอบเลยว่า “ไม่จำเป็น” เพราะกฎหมายที่เรามีอยู่เปิดกว้างพอสมควรแล้ว ยกเว้นว่าในอนาคตอาจจะมีการแก้ไขกฎหมายให้เป็นธรรมกับผู้หญิงมากขึ้น เช่น ถ้าผู้หญิงมีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ ไม่สามารถเปิดเผยการตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์นอกสมรส หรือผู้หญิงไม่พร้อมจะมีลูกจริงๆ แม้กระทั่งผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพราะทำหมันแล้วหมันหลุด ตรงนี้ยังไม่มีข้อกฎหมายในปัจจุบันรองรับให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะแก้ไขกฎหมาย ให้ขยายความกว้างกว่าเดิมในจุดนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น
“ผู้หญิงที่เจอปัญหาแบบนี้ เขาควรได้รับคำปรึกษาจากคนที่รู้ข้อกฎหมายและเข้าใจสภาพจิตใจของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม รับฟังทุกปัญหาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างแล้วก็ช่วยเขาคลี่คลาย ซึ่งบริการแบบนี้มีในโรงพยาบาลบางแห่งนะ ตั้งเป็นศูนย์เลย แต่ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าเดินไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือ การโทรศัพท์จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะได้สื่อสารสองทางกับผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ
โดยส่วนตัวแล้ว เรามองว่าทางเครือข่ายช่วยเขาแก้ปัญหามากกว่า ให้เขาเลือกทางแก้ปัญหา จากนั้นเราก็แนะนำเขาไปในที่ที่ปลอดภัย บางคน เขาบอกว่าอยากทำแท้ง พอคุยไปคุยมา มารู้ทีหลังว่าเขาถูกพ่อข่มขืน เพราะฉะนั้น เราก็จะส่งต่อโรงพยาบาลตำรวจให้ช่วยทำคดีให้ และต้องให้เขาแยกจากครอบครัว ติดต่อไปยังศูนย์พักพิง จะได้มีที่อยู่ ไม่ต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขาไม่อยากจะอยู่ ปัญหามันหลากหลายค่ะ ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้น กฎหมายก็เปิดกว้างให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ตามกรณีที่กล่าวมา”
ช่วยแม่ VS ฆ่าลูก
ในวันเปิดตัวสายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ผศ.นพ.ธนพันธ์ ชูบุญ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้หยิบประเด็นเรื่องการใช้ยาทำแท้งขึ้นมาพูดถึงอย่างเปิดเผย โดยอธิบายว่า “หากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ควรใช้ไมโซพรอสตัล แต่ต้องใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น เพราะใช้แล้วจะมีการตกเลือดสูง ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการดูแลรักษาอย่างดี ส่วนยาอาร์ยู 486 ปัจจุบันไม่ทราบว่ามีการควบคุมคุณภาพหรือการผลิตที่ไหนอย่างไร จึงไม่แนะนำให้สั่งซื้อมาใช้เอง โดยยาตัวนี้ควรใช้ตอนอายุครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์”
ข้อมูลดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องการทำแท้งในครั้งนี้ อาจเป็นมีดสองคม เป็นการชี้ช่องให้เอา เด็กออกได้ง่ายขึ้นหรือเปล่า เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทัศนัย ผู้ประสานงานเครือข่ายท้องไม่พร้อมมองว่าถ้าไม่แนะนำอย่างถูกต้อง อาจเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมมากกว่าอีก
“จริงๆ แล้วคุณหมอที่เคยทำงานเรื่องนี้ก็คุยกันอยู่ว่า เราควรจะมีคำแนะนำขั้นต่ำเพื่อส่งเสริมการป้องกันตัวเองให้ผู้หญิงเหมือนกัน แต่พูดตรงๆ ว่าไม่ค่อยมีเว็บไซต์ไหนกล้าลงข้อมูลเรื่องนี้ว่า อายุครรภ์ขนาดไหนควรใช้กี่โดส ถ้าเครือข่ายเราไปลงในเว็บไซต์ก็จะกลายเป็นว่า เราไปสนับสนุนสิ่งที่สังคมต่อต้าน เราก็เลยทำไม่ได้ แต่ที่ให้ข้อมูลออกไปอย่างนั้น เพราะทุกวันนี้มีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และต้องการทำแท้ง เลือกวิธีซื้อยาจากอินเทอร์เน็ตกันเยอะมาก
การซื้อยาจากอินเทอร์เน็ตโดยที่ไม่รู้ว่า ยาจริงหรือเปล่า ปลอดภัยมั้ย, โดสของยาถูกต้องหรือเปล่า, อายุครรภ์ขนาดไหนเหมาะกับยาตัวไหน นี่คือเรื่องที่ภาครัฐต้องเข้ามาดูแลค่ะ กำจัดเว็บไซต์ที่ผลิตยาปลอม แต่เท่าที่เห็น ทางรัฐก็ไม่ทำอะไรเลย หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลบางแห่ง เขาก็แอบอ้างขายยาโดยใช้ชื่อโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลคลองตัน มีการแจ้งความกันมาเป็นปีแล้ว แต่รัฐก็ไม่ได้เข้ามาจัดการเลย ทำให้รู้สึกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงท้องไม่พร้อม ที่ใช้ยาไม่ถูกต้อง ส่วนหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากความไม่เข้มงวดนี่แหละค่ะ
ทางสายด่วนของเราเองก็ไม่ได้แนะนำว่าจะยุติการใช้ยาด้วยวิธีไหน ว่าจะใช้ยาหรือใช้วิธีทางการแพทย์แบบไหน แต่จะแนะนำสถานที่ที่เหมาะสมให้ ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เราก็จะแนะนำให้ไปสถานที่เหล่านี้ ส่วนสถานพยาบาลเหล่านั้นจะให้ใช้ยาหรือใช้วิธีไหน ก็ต้องแล้วแต่กรณีไป”
อีกประเด็นที่ถกเถียงกันตลอดเมื่อพูดถึงการทำแท้ง นั่นก็คือเรื่องของ “บาปกรรม” ในฐานะตัวแทนเครือข่ายท้องไม่พร้อมที่ต้องเผชิญกับคำถามนี้มาตลอด จึงขอฝากทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “ถ้าเราช่วยคนคนหนึ่งให้สามารถคลี่คลายปัญหาเขาได้ และชีวิตเขาสามารถยืนยาวต่อไปได้ ได้ยุติการตั้งครรภ์ มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย ในอนาคตสามารถแต่งงานกับใครก็ได้ มีลูกเมื่อพร้อมกับครอบครัวที่อบอุ่น กับอีกทางหนึ่ง ปล่อยเขาไว้ ไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้หญิงคนนึงก็อาจจะทำร้ายตัวเอง เขาอาจจะเสียชีวิตหรือมีลูกไม่ได้ไปตลอดชีวิตหรือต้องพิการ มันก็ต้องชั่งน้ำหนักว่า การช่วยเหลือคนที่อยู่ตรงหน้ามันเรียกว่าบาปหรือเปล่า?”
ในอีกมุมหนึ่ง ท่าน ว.วชิรเมธี เคยพูดเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการทำแท้งเอาไว้ว่า “การทำแท้งทางพุทธศาสนาถือว่า บาปเท่ากับการฆ่าคนคนหนึ่ง ในทางวินัยของพระท่านถือว่า การฆ่าคน (คนปกติ-การทำแท้ง) เป็นบาปมหันต์ ถ้าพระทำ ก็ขาดจากความเป็นพระ ในทางโลกก็ถือว่าเป็นบาปหนักหนาสาหัสไม่ต่างกัน” แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นแล้ว สังคมก็ไม่ควรจะซ้ำเติมและต้องหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ท้องไม่พร้อม
“คนรอบข้างและสังคมต้องอย่าประณาม อย่าตำหนิ แต่ควรยอมรับความจริงว่า สิ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว ต้องมองไปข้างหน้าว่า จะจัดการกับปัญหาอย่างไร เพราะคนที่เขาผิดพลาดอยู่แล้ว หากไปซ้ำเติมอีก ก็เท่ากับว่า ทำให้เขาเจ็บปวดหนักขึ้นไปกว่าเดิมอีกมาก ดังนั้น ต้องเปลี่ยนคำด่าเป็นคำแนะนำ เปลี่ยนความโกรธ เป็นความเข้าใจและความเมตตา ในฐานะที่เป็นปุถุชน เราทุกคนมีโอกาสพลาดกันได้ และก็ด้วยความเป็นปุถุชนนี่แหละ เราก็สามารถที่จะแก้ตัวได้เหมือนกัน
การซ้ำเติมจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น เพราะผู้ทำผิด ก็แสดงออกอยู่ในตัวเองอยู่แล้วว่า เขายังอ่อนต่อโลก ยังไร้เดียงสา ยังอ่อนประสบการณ์และปัญญา สิ่งที่เขาต้องการคือการชี้แนะหนทางที่ถูกต้อง การให้โอกาส และกำลังใจ ดังนั้น การให้คำแนะนำที่ดี การให้กำลังใจ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุด”
โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อ่านให้จบก่อนนะคะ